xs
xsm
sm
md
lg

“การบริการทางนิเวศ” และความเท่าเทียมที่ธรรมชาติมอบให้กับทุกชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน้าแล้งที่ริมทางสองฝั่งทางหลวง 3438 ช่วงผ่านหน้าทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สีน้ำตาลสวยปกคลุมทุกอณู น่าจะเป็นช่วงเวลาดีที่จะพูดถึงเรื่องยากๆ ที่ใครหลายคนไม่สนใจฟัง...การบริการทางนิเวศ

นิเวศบริการ การบริการทางนิเวศ เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ พี่ทำให้ ... อย่างเท่าเทียม เมื่อพูดถึง “บริการทางนิเวศ” หรือ Ecology Servicesคำๆ นี้ เติม s แสดงว่า ให้บริการได้หลายๆ ด้าน หรือหลากหลายมิติ

ทางเพจ Biospearhead ระบุว่า ขอใช้วิธีเล่าแบบไม่กางตำรา มุ่งหวังที่จะให้ “คอนเซ็ปต์” ตรงกันเสียก่อน จะถูกผิดในแง่มุมทางวิชาการก็ต้องไปเรียนเพิ่มเติมกันเอาเอง แต่ตรงนี้ ขอมาในฐานะนักเล่าเรื่องเท่านั้น...

แม้แนวคิดเรื่อง “ผลดี” ที่ได้รับจากระบบนิเวศที่สมดุล สมบูรณ์ จะมีมานานแล้ว แต่วิธีการสื่อสารในรูปของ “บริการ” ทางนิเวศนั้น เริ่มได้ยินติดหูเอาหลังค.ศ. 2000 มานี่เอง

ถามว่าบริการทางนิเวศ เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร

ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ ก็คือ น้ำรินๆ ของห้วยทับเสลาในหน้าแล้ง จวนเจียนจะนอนท้องห้วย ถ้าฝนใหญ่ตกลงมาแค่คืนเดียว น้ำก็จะกลับมาไหลซู่ซ่า

เราต้องใช้น้ำมากขนาดไหนจึงจะทำให้ลำห้วยทั้งสายกลับมามีน้ำ เราต้องมีระบบจัดการที่ดีขนาดไหนจึงจะทำให้น้ำไหลต่อเนื่องได้นานจนพอฤดู

สิ่งนี้เป็นงานใหญ่ ใช้ทุนมาก เมื่อเทียบกับ “สเกล” ของมนุษย์ที่ทำได้เพียงเอารถน้ำไปสูบน้ำเก็บไว้ใช้

เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นระดับโลก ก็คือ คนอังกฤษอยากได้ผึ้งกลับคืนมาถึงขั้นต้องส่งหน่วยกล้าตายดอดไปพา ( ความจริงคนสวีเดนเรียกว่า ขโมย) พ่อแม่พันธุ์จากสวีเดน

พูดเรื่องผึ้ง มันสมองมนุษย์ปุถุชนจะนึกถึงเพียงน้ำผึ้งหวานๆ ขวดละสามสี่ร้อย แต่ความจริงนั้น น้ำผึ้งเป็นเรื่องขี้ประติ๋ว เมื่อนึกถึงว่าพืชมีดอกเกินกว่า 60-70 % ทั้งโลก จะหมดโอกาสให้กำเนิดเมล็ดพันธุ์

ถ้าปราศจากผึ้ง แมลงให้น้ำหวาน รวมไปถึงแมลงต่างๆ (ในกรณีนี้รวมไปถึงยุงด้วย) มันไม่ใช่แต่พืชสวนที่เราปลูกไว้กินไว้ขายเท่านั้น แต่พืชมีดอกเกือบทั้งหมดจะจบสิ้น

ผลที่ตามมามันจะเลวร้ายขนาดไหน ต้องลองไปค้นคำที่ไอน์สไตน์ ในฐานะนักคณิตศาสตร์เคยพูดถึงโลกที่ปราศจากผึ้งดู
นี่คือ บริการทางนิเวศ และเป็นการยากที่มนุษย์จะเกื้อกูลได้ในระบบใหญ่ขนาดนั้น

แต่ไม่น่าเชื่อว่า ระบบที่ใหญ่โตมหึมานี้กลับถูกทำลายได้ไม่ยาก ด้วยเหตุที่สารกำจัดแมลง การทำเกษตรแผนใหม่ การปนเปื้อนในผืนดิน ทำให้แมลงมากมายมหาศาลสูญหายไป

นอกจากกินน้ำหวานแล้ว วงจรชีวิตของพวกมันจำนวนมากยังอยู่ในดิน

เมื่อดอกไม้ ผลไม้ ผืนดินปนเปื้อน มันจึงทำลายวงจรสิ่งมีชีวิตที่เป็นฐานการหมุนเวียนของผลผลิตและการก่อกำเนิด
วันที่ดอกไม้ หมดความหมาย การผสมเกสรไม่มีหมู่ภมร โลกจะเป็นอย่างไรหนอ

การยิงเสือ หรือตัดโค่นป่า อันนี้โจ่งครึ่มชัดเจน

แต่เรื่องบางเรื่องนั้นยังก้ำกึ่ง คลุมเครือ เช่น ถ้าคุณคิดว่าที่ดินรกร้าง ติดป่าอนุรักษ์นี้ เอาวัวมาปล่อยเลี้ยงก็ได้ ง่ายดี มีกำไร ได้ประโยชน์

อย่างนี้ คือ ตัวอย่างของ “การฉกฉวย” ไม่ใช่การใช้บริการทางนิเวศ

หรือถ้าคุณแห่เข้าไปรุมทึ้งเก็บเห็ดทุกชนิดในทุกหน้าฝน เพราะมันราคาดี โดยไม่คิดอะไรมาก นอกจากคำว่า “สิทธิพึงมี”
อันนี้ ก็คือการฉกฉวย โดยคนจำนวนมากที่มากขึ้นกว่าแค่คน (และนายทุน) เลี้ยงวัว

แนวคิดที่ว่า ป่าคือ “ซุปเปอร์มาร์เก็ต”อาจไม่สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ การบริการทางนิเวศ

เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ต คือ ที่ที่ทุกคนเข้าไป “เอา” ทุกอย่าง มากแค่ไหนก็ได้ ตราบใดที่ยังมีเงินจ่ายให้เขา การมีเงินมาก หรือน้อย คือ ความไม่เท่าเทียมอย่างหนึ่ง

แต่บริการทางนิเวศหมายถึง ความเท่าเทียมที่การจัดการโดยระบบธรรมชาติมอบให้กับทุกชีวิต

ลำห้วยมีน้ำไหลพอปี ร่มเย็น ร่มเงา เป็นแหล่งผลิตอากาศดีให้ทุกชีวิต รวมทั้งชุมชนใกล้เคียง โดยทุกคนมีสิทธิได้รับการหายใจนั้นอย่างเท่าเทียม ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อได้รับอากาศที่ดีกว่า

อากาศดีสำหรับทุกคนที่จะหายใจได้เต็มปอด มีราคาแค่ไหน เราคงไม่คิดถึงเรื่องนี้ จนกระทั่ง วันหนึ่งต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศ และเก็บตัวอยู่ในห้องปิดนั่นแหละ

ไม่ใช่ทุกคนมีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ หรือหน้ากากระดับ พีเอ็ม 2.5 คนที่ไม่มีจ่าย ก็รับความเสี่ยงจากโรคภัยเอาเอง แม้ว่าต้นเหตุของความเสี่ยงนั้นมาจากคนเพียงหยิบมือ

นี่คือ การทำลายความเท่าเทียมจากบริการทางนิเวศ

การทำลายนี้ ย่อมต้องมีสาเหตุ แค่ลองไล่ย้อนกลับไปหาต้นทาง ก็คงพอเห็นว่า เป็นเพราะอะไร เพราะใคร

โลกคงเป็นที่ที่เลวร้ายพอๆ กับดาวอังคาร ถ้าปัจจัยพื้นฐาน น้ำดี อากาศสดชื่น กลายเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายเพิ่มในราคาแพง
อีโคโลยี หรือ นิเวศ คือ ภาพใหญ่ ที่พ้นไปจากความเห็นแก่ตัว หรือประโยชน์ที่จะตกเฉพาะตัวเองเท่านั้น

เรามี "ผู้มาก่อนกาล" ที่พูดเรื่องนี้จนสุดเสียงแล้วไม่มีใครได้ยิน จนต้องตะเบ็งด้วยชีวิต เมื่อสามสี่สิบปีมาแล้ว ก็คือหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร

ถ้าย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์ของหัวหน้าสืบ ทุกครั้งจะพูดถึงการ “เก็บรักษา” ป่าเอาไว้อย่างที่มันเป็น อย่าไปแตะต้อง เพราะป่าเหลือน้อยลงทุกวัน และแค่เรามีป่าก็ช่วยเอื้อประโยชน์ให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว อย่าไปหวังประโยชน์เกินกว่านี้

แต่ยุคนั้น คนที่ตามความคิดทันคงมีน้อย เพราะกระแสในสมัยนั้น ป่าคือ ซุปเปอร์มาเก็ต -- ป่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์ มีไม้ มีที่ดิน มีแร่ธาตุ มีวิว มีสัตว์ป่า ตีราคาออกมาได้หมด

มีคนพูดแม้กระทั่งว่า ป่าคือความมั่งคั่ง ขาดเหลืออะไร ก็เข้าไปเอา ดังนั้น ก็เลยมีชุดความคิดว่า ถ้ามีป่าแล้วไปแตะต้องไม่ได้ มีหรือไม่มี ก็คงไม่สำคัญ

แต่ทุกวันนี้ เรามีข้อมูลมากพอที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์เหล่านี้ จากการครอบครอง เปลี่ยนไปเป็นการมองเห็นไปถึงประโยชน์ที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียม ....

แล้วเสือโคร่งมาเกี่ยวอะไรกับ การบริการทางนิเวศ
การรู้จักเสือโคร่ง มันช่วยให้เรามีอากาศดีหายใจได้ไหม ครั้งหน้าเราจะขอหยิบยกบทความดีๆ มาให้ทุกคนได้อ่านกันอีกครั้ง

ข้อมูล/ภาพ อ้างอิง : 
BioSpearhead 
Thailand Tiger
Project 

DNPประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช



กำลังโหลดความคิดเห็น