ศรีลังกา ประเทศซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนอยู่ปลายชมพูทวีป กำลังเผชิญวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ได้อิสรภาพจากอังกฤษในปี 1948 ปัญหาหลักก็คือหนี้หาศาล อยู่ในระดับ 110 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
จะอยู่รอดหรือไม่กับภาระหนี้ประมาณ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีกำหนดชำระหนี้ในปีนี้ 4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่เหลือใช้ได้จริงประมาณ 300 ล้านดอลลาร์
เฉพาะหนี้ที่กู้จากจีนตกอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เหลือเป็นหนี้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย ญี่ปุ่น และการกู้จากแหล่งอื่นๆ โอกาสที่จะรอดได้คือต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ
จะได้มากหรือน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการยอมรับมาตรการรัดเข็มขัดที่รัฐบาลต้องเผชิญ ขณะที่รัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่ยังเป็นปัญหาเพราะกำลังเป็นเป้าหมายของการขับไล่ของประชาชนที่เดินขบวนประท้วงทั่วประเทศเพราะความทุกข์ยากลำบาก
ศรีลังกาขาดแคลนพลังงานสำหรับการผลิตไฟฟ้าและให้ยานพาหนะต่างๆ ต้องดับไฟฟ้า 10-13 ชั่วโมงทุกวัน สถานีบริการน้ำมันไม่มีน้ำมันให้รถทุกประเภทเพราะเรือบรรทุกน้ำมันที่รอเข้าเทียบท่าก็รอการชำระเงินจากผู้นำเข้า
การขาดแคลนสินค้าทุกอย่างทำให้คนเริ่มอพยพหนีตายออกนอกประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นการอพยพหนีความขาดแคลนสินค้าจำเป็น ไปสู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นกลุ่มชนเชื้อสายทมิฬที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะศรีลังกา
ศรีลังกาขาดเงินสำหรับซื้อสินค้าจำเป็นสำหรับประชาชนทั้งอาหาร ยารักษาโรค สินค้าทุกอย่างขึ้นราคาไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 17.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ละวันผ่านไป สินค้าต้องติดราคาใหม่ เกินกำลังการซื้อของประชาชน
ปัญหาเศรษฐกิจเกิดจากการริเริ่มโครงการที่เกินตัว เช่นการสร้างท่าเรือตามแผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แต่ไม่สามารถทำให้สำเร็จ ให้ผลตอบแทนการลงทุนได้ การกู้ยืมอย่างไม่ระวัง ผสมกับการทุจริต คอร์รัปชัน ทำให้เกิดการรั่วไหล
หนี้ต่างประเทศซึ่งมีภาระด้านดอกเบี้ยและใกล้ถึงกำหนดชำระจึงเป็นปัญหาหลักสำหรับศรีลังกาซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม แต่ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว
รายได้จากการขายใบชาไม่สามารถสร้างรายได้มากสำหรับภาระหนี้มหาศาลศรีลังกามุ่งสร้างการเกษตรอินทรีย์ ไม่พึ่งปุ๋ยเคมีทำให้ผลผลิตตกต่ำ ส่งผลให้การผลิตข้าวและสินค้าเกษตรอื่นต่ำกว่าเป้าหมาย เกิดปัญหาขาดแคลน ไม่มีส่งออก
ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เพิ่งจะเกิด แต่ส่งสัญญาณไม่สู้ดีตั้งแต่ปี 2010 เมื่อรัฐบาลได้ดำเนินโครงการหลายอย่างที่เกินกำลังสำหรับรายได้ที่จะรับภาระหนี้ การยืมเงินอย่างมากจากจีนทำให้ถูกมองว่าศรีลังกาติดอยู่ใน “กับดักหนี้” ของจีน
ล่าสุดดูเหมือนจะมีสัญญาณความช่วยเหลือจากอินเดียประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ และจากจีนในจำนวนเท่ากัน และอีกประมาณ 150 ล้านดอลลาร์จากบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนกว่าศรีลังกา แต่ทุกอย่างยังไม่แน่นอน
รัฐบาลศรีลังกาอยู่ภายใต้ตระกูลราชปักษา ซึ่งกุมอำนาจมานานหลายสิบปี ตั้งแต่ยุคการปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ทำให้คนตายเป็นแสนคน เมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดในปี 2009 ศรีลังกาพลาดโอกาสให้การปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ
ตระกูลราชปักษามีพี่น้อง 9 คน ปัจจุบันนายโกตาบายา ราชปักษา น้องคนรองเป็นประธานาธิบดี นายมหินดา ราชปักษา เป็นนายกรัฐมนตรี และนายมหินดาเคยเป็นประธานาธิบดีในช่วงสงครามกับกบฏพยัคฆ์ทมิฬ ทำให้มีความนิยมระดับหนึ่ง
ในบรรดารัฐมนตรีที่เพิ่งลาออกไป ยกเว้นนายมหินดา มีน้องชายอีก 2 คน เป็นรัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีการชลประทาน ทั้ง 4 พี่น้องคุมไม่น้อยกว่า 7 กระทรวงสำคัญ รวมทั้งกลาโหม การวางแผนเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วางแผนผังเมือง ฯลฯ
ทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีกำลังถูกขับไล่โดยประชาชน สมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่เป็น ส.ส.กว่า 50 คนหันไปเข้ากับฝ่ายค้าน ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้เพื่อพยายามอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด
แม้แต่ข้อเสนอที่ยื่นให้พรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติก็ได้รับการปฏิเสธเพราะเห็นชัดแล้วว่าวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาพที่เกินกว่าจะกอบกู้ได้ง่าย จึงรอรัฐมนตรีคลังคนใหม่ซึ่งได้ทำงานที่ปรึกษาในออสเตรเลียมารับงาน
การกอบกู้เศรษฐกิจศรีลังกาไม่ใช่เรื่องง่าย ขาดรายได้และสินค้ารวมถึงโอกาสที่จะฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นไปได้ยาก นอกจากปัญหาโควิด-19 แล้ว สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาเยือนเพราะปัญหาค่าเงิน
การที่มีหนี้มากกว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนในการสร้างรายได้สำหรับการใช้หนี้ วิกฤตการเมืองสำหรับตระกูลราชปักษา ซึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนจะสร้างปัญหาในการหาผู้นำประเทศคนใหม่
ตัวประธานาธิบดีก็ได้รับฉายาว่าเป็น “มิสเตอร์ 10 เปอร์เซ็นต์” เพราะนิยมการชักหัวคิวในทุกโครงการที่สร้างโดยรัฐ ทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันเรื้อรัง การเล่นพรรคเล่นพวก การบริหารที่ผิดพลาด การใช้เงินเกินตัวกับโครงการไร้ประโยชน์จึงก่อวิกฤต
ศรีลังกาไม่ใช่ประเทศแรกที่ตกอยู่ในวิกฤตหนี้ท่วมตัว แต่ไม่เคยดูวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั้งทวีปละตินอเมริกาและยุโรปที่ลำบากด้วยปัญหาโควิด-19