บรรดารัฐมนตรีของศรีลังกา ยกเว้นประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายของเขา ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลพยายามหาทางคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศเอเชียใต้แห่งนี้กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิงและข้าวของที่จำเป็นอย่างรุนแรง เงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และถูกตัดไฟ ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948
คณะรัฐมนตรีทั้ง 26 คนในรัฐบาล ยกเว้นประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และพี่ชายของเขา นายกรัฐมนตรีมาฮินดา ราชปักษา ยื่นหนังสือลาออกในที่ประชุมช่วงกลางดึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าว
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เปิดทางให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) และบางคนที่ลาออกจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับมาใหม่
การลาออกของคณะรัฐมนตรี มีขึ้นในขณะที่ประเทศแห่งนี้อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังฝูงชนพยายามบุกบ้านประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ไปจนถึงช่วงเช้าวันจันทร์ (4 เม.ย.)
ก่อนหน้านี้ ซามากี จายา บาลาวีกายา พันธมิตรฝ่ายค้ายหลักของศรีลังกา ประณามการตัดสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายสยบการประท้วงของประชาชนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องลาออก
อิรัน วิกรัมมารัตน์ (Eran Wickramaratne) ส.ส.คนหนึ่ของพรรคซามากี จายา บาลาวีกายา ประณามการประกาศภาวะฉุกเฉินและการสั่งทหารเข้าประจำการบนท้องถนนสายต่างๆ "เราไม่อาจปล่อยให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ" เขากล่าว "พวกเขาควรรู้ว่าเรายังคงเป็นประชาธิปไตย"
บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก WhatsApp ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถขัดขวางการชุมนุมขนาดเล็กอีกหลายจุดตามเมืองอื่นๆ ในศรีลังกา
ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเปราดินิยา ทางภาคกลาง แต่การประท้วงในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศยุติลงโดยปราศจากเหตุการณ์ใดๆ
สื่อมวลชนรายงานว่า ประธานคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบอินเทอร์เน็ตของศรีลังกาตัดสินใจลาออก หลังคำสั่งแบนมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม มาตรการปิดกั้นเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา หลังคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตัดสินว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเช่นนั้น
ท้องถนนสายต่างๆ ของกรุงโคลอมโบ ส่วนใหญ่แล้วยังคงว่างเปล่าในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) นอกเหนือจากการประท้วงของฝ่ายค้านขนาดเล็กๆ และยานยนต์ที่ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมัน
เดิมทีพวกผู้ชุมนุมมีแผนประท้วงใหญ่ในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ก่อนมาตรการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มีผลบังคับใช้ แต่แกนนำตัดสินใจเลื่อนการชุมนุม โดยรอให้ประกาศเคอร์ฟิวถูกยกเลิกไปก่อนในวันจันทร์ (4 เม.ย.)
ศรีลังกาซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราช สาเหตุมาจากการขาดสกุลเงินต่างประเทศอย่างเฉียบพลัน ที่ทำให้พวกเขาประสบปัญหาในการชำระหนี้ต่างประเทศที่พุ่งสูง 51,000 ล้านดอลลาร์ของพวกเขา หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำลายรายได้อันสำคัญยิ่งจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งเงินกลับประเทศ
วิกฤตยังทำให้ประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าแห่งนี้ไม่สามารถจ่ายเงินซื้อข้าวของได้แม้กระทั่งสิ่งของที่จำเป็น
การขาดแคลนพลังงานโหมกระพือความขุ่นเคืองทั่วศรีลังกาช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการประท้วงตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความว่างเปล่า และบรรดาสาธารณูปโภคไฟฟ้าต้องกำหนดมาตรการดับไฟ 13 ชั่วโมง เพื่อประหยัดพลังงาน พวกเขาไม่มีน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องปั่นไฟ อ่างเก็บน้ำซึ่งใช้ผลิตไฟฟ้ากว่าหนึ่งในสาม ก็อยู่ในระดับที่ต่ำจนเป็นอันตรายเช่นกัน นอกจากนี้ ยังกระเทือนไปถึงระบบการสื่อสาร และการบริการในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง
พวกนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าวิกฤตดังกล่าวถูกซ้ำเติมจากการบริหารจัดการผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งพอกพูนหนี้สินมานานหลายปี และใช้มาตรการปรับลดภาษีโดยปราศจากความรอบคอบ
เวลานี้ศรีลังกากำลังเจรจาขอกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ที่มา : เอเอฟพี)