ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบบการปกครองที่สังคมมนุษย์เคยมีมา 2 ประการคือ
1. ระบบเผด็จการ ได้แก่การปกครองที่ผู้ปกครองสูงสุดมีอำนาจในการตัดสินใจ และสั่งการเพียงคนเดียว
2. ระบอบประชาธิปไตย ได้แก่การปกครองที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในด้านนิติบัญญัติ และกำกับดูแลฝ่ายบริหาร เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนโดยรวม
ประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ได้มีการปกครองทั้งระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการเกิดขึ้นสลับกันเป็นระยะๆ ดังนั้น คนไทยจึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปกครองทั้งสองรูปแบบดีพอที่จะสรุปบทเรียนได้ระบบใด มีข้อดี และข้อด้อยตรงไหน อย่างไร และด้วยเหตุใด แทบไม่ต้องขยายความ
แต่ที่จะต้องนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ความเป็นประชาธิปไตยในระบอบการปกครองของไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เริ่มตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลานลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด กล่าวคือ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่มีอันต้องจบลงก่อนครบเทอมด้วยการถูกโค่นล้มยุบสภาฯ หรือลาออกก่อนครบเทอม และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค และไม่มีเอกภาพในการบริหาร ประกอบกับไม่มีศักยภาพในการนำพาประเทศไปสู่เป้าหมายตามที่ประกาศนโยบายไว้ ทั้งเกิดการทุจริต คอร์รัปชันเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนหมดศรัทธา และเป็นเหตุอ้างให้กองทัพโค่นล้มรัฐบาล
2. เกิดความแตกแยกระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพต้องยุบสภาฯ ก่อนครบเทอม
3. มูลเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องมีอันจบลงก่อนครบเทอม ตามข้อ 1 และข้อ 2 มาจากการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่สามารถเลือกคนดีมีความรู้ และมีความสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐในจำนวนมากพอที่จะถูกดุลหรือคานอำนาจมิให้คนไม่ดีใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบไว้ จึงทำให้คนดีซึ่งเป็นคนส่วนน้อยไม่มีโอกาสได้ทำดี เพื่อประเทศชาติและประชาชน ตามหลักการที่ว่าโดยประชาชน เพื่อประชาชนได้ และที่ซ้ำร้ายกว่านี้ก็คือว่า คนที่ถูกระบบกลืนและเปิดช่องให้คนไม่ดีอาศัยการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้องตลอดมา และสาเหตุที่เป็นเช่นนี้สรุปได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
3.1 ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีความรู้ และความเข้าใจระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยดีพอ จึงเป็นช่องว่างให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่เป็นการส่วนตัวได้รับเลือกเข้ามาได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีผลงานในวงกว้างในฐานะเป็นคนมีความสามารถเป็นผู้บริหารในระดับชาติ
3.2 เมื่อประชาชนเลือกโดยไม่มีความเข้าใจตามข้อ 3.1 จึงเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลทางด้านการเงินอาศัยอำนาจเงินได้รับเลือกโดยการใช้เงิน
เมื่อนักการเมืองอาศัยปัจจัย 2 ประการข้างต้น เข้าสู่อำนาจได้ ก็เปิดช่องให้นายทุนตั้งพรรคการเมือง โดยการใช้เงินซื้อตัวผู้สมัครที่มีปัจจัยความพร้อมในการเลือกตั้งเข้าสังกัดพรรคมีจำนวนมากพอที่จะเป็นรัฐบาลได้
ดังนั้น เมื่อพรรคที่นายทุนมีโอกาสเป็นรัฐบาล ก็สามารถชี้นำหรือบงการให้ ส.ส.ในพรรคทำตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ และนี่เองคือที่มาของเผด็จการนายทุนหรือเผด็จการทางรัฐสภาในยุคที่การเมืองกลายเป็นธุรกิจ ดังที่เกิดขึ้นในวงการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน