“ทนายนกเขา” ชี้คดีแตงโม ส่งผลกระทบต่อความสงบของสังคม จึงเป็น “คดีอาญาแผ่นดิน” ไม่ใช่ญาติก็ตรวจสอบได้ และ กมธ.สิทธิฯ มีอำนาจตามกฎหมาย หากตำรวจไม่ร่วมมือถือว่าผิด ม.157 ขณะที่ “อธิบดีดีเอสไอ” ชี้คดีนี้ผู้เสียหายคือรัฐ เพราะกระทบต่อความสงบสุข หากคดีบิดเบี้ยวอาจเป็นบรรทัดฐานต่อคดีที่คล้ายกันในอนาคต เผยแม้ตำรวจสรุปสำนวนแล้ว แต่ตราบใดที่อัยการยังไม่สั่งฟ้อง ก็รับเป็น “คดีพิเศษ” ได้ ด้าน “รศ.ดร.เจษฎ์” ระบุ กลไกรัฐต้องสามารถตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ความมืดบอด
การเสียชีวิตของ “แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์” ดาราสาวชื่อดัง นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีประชาชนคนไทยและหลายฝ่ายหลายหน่วยงานมาร่วมกันติดตามตรวจสอบและสืบเสาะหาหลักฐานเพื่อ “หาความยุติธรรมให้แตงโม” เนื่องจากเห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำคดีตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้นำคดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ทนายความและแกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย ไปยื่นหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ และทนายรัชพล ศิริสาคร เข้าแจ้งความเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวน 5 คนบนเรือ เพื่อดำเนินคดีในข้อหาให้การเท็จ
แต่ “นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน” แม่ของแตงโม และนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ประธานเครือข่ายศูนย์ทนายคลายทุกข์ กลับยื่นหนังสือขอให้กรรมาธิการฯ ขอให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการพิจารณา พร้อมทั้งคัดค้านการนำคดีการเสียชีวิตของแตงโม เข้าเป็นคดีพิเศษภายใต้การดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยระบุว่า คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติไม่มีสิทธิมายุ่งเกี่ยวกับคดี ซึ่งสร้างความข้องใจให้สังคมว่า จริงๆ แล้วองค์กรหรือบุคคลที่ไม่ใช่ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถร้องให้มีการตรวจสอบคดีได้หรือไม่?
นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) หรือทนายนกเขา ชี้แจงว่าเนื่องจากคดีการเสียชีวิตของแตงโม มีลักษณะเป็น “คดีอาญาแผ่นดิน” ซึ่งผู้ที่ร้องให้มีการตรวจสอบการทำคดีไม่จำเป็นต้องเป็นญาติหรือตัวผู้เสียหาย โดยคดีที่เข้าข่ายเป็นอาญาแผ่นดินต้องมีลักษณะดังนี้ คือ 1.คดีที่ไม่สามารถยอมความได้ 2.คดีที่ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว แต่มีผลกระทบต่อสาธารณะ และ 3.เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม ดังนั้น จึงเปิดกว้างให้บุคคลใดก็ได้สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องสงสัย หรือร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรรัฐได้
เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วเพื่อความสงบสุขของประชาชน จึงกำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดในคดีอาญาเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อมีคดีเกิดขึ้นบุคคลทั่วไปจึงมีสิทธิเข้าไปดำเนินการ เช่น คดีหมิ่นสถาบัน คดีทำร้ายร่างกาย ใครก็สามารถร้องให้ตำรวจดำเนินคดีได้ สามารถเข้าไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ หรือถ้าเห็นหน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็สามารถร้องให้ตรวจสอบหน่วยงานนั้นๆ ได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนแต่อย่างใด แต่เป็นการทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจเพื่อนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น กฎหมายได้ให้อำนาจกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภาในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยรัฐ ถือเป็นระบบตรวจสอบถ่วงดุล และเพื่อทำงานให้ครอบคลุมทุกปัญหา จึงมีคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่สอดคล้องกับปัญหาหลายคณะด้วยกัน
“อย่างกรณีคดีการเสียชีวิตของแตงโม กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ของวุฒิสภา ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างที่ตำรวจกล่าวอ้าง ไปดูกฎหมายสิ กรรมาธิการมีอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งหากเห็นปัญหาแม้ไม่มีผู้ร้อง กรรมาธิการก็สามารถเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้ทันที ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ถือว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะเท่ากับเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือหากประชาชนสงสัยหรือมีหลักฐานว่าตำรวจมีความไม่ชอบมาพากลในการทำคดีก็สามารถร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ตรวจสอบ หากพบว่ากระทำผิดจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 สำหรับพฤติกรรมของตำรวจที่ทำคดีแตงโม ในขณะนี้ซึ่งไม่มีการตรวจร่างกายผู้ต้องสงสัย และไม่เก็บหลักฐานทันทีที่เกิดเหตุซึ่งทำให้กระทบต่อความสมบูรณ์ของหลักฐาน เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ มีความผิดตามมาตรา 157 เช่นกัน” นายนิติธร กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย อธิบายถึงคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน ซึ่งบุคคลที่ไม่ใช่ญาติสามารถร้องให้มีการดำเนินคดีหรือตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินคดีได้ ว่า มีรากฐานมาจากเรื่องของรัฐศาสโนบาย (วิธีปกครองบ้านเมือง) ซึ่งเราต้องช่วยกันดูแลเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย โดยคดีที่เป็นอาญาแผ่นดินส่วนใหญ่จะเป็นคดีอุกฉกรรจ์จึงประสงค์ให้คนในสังคมช่วยกันดูแล อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าใครก็ได้จะไปแจ้งความ แต่ควรเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถ่วงดุลอำนาจ เช่น กรรมาธิการ ของวุฒิสภา ซึ่งอาจจะสืบทราบเหตุหรือมีเบาะแสก็อาจไปแจ้งความให้ตำรวจดำเนินการตรวจสอบ โดยตำรวจอาจจะไปถามญาติพี่น้องว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องกระจ่าง หรือในกรณีที่มีพยานหลักฐานมากพอว่ามีการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายในคดีอาญาแผ่นดินเกิดขึ้นจริงสมควรที่จะดำเนินการตำรวจก็จะดำเนินการ
สำหรับคดีการเสียชีวิตของแตงโม ซึ่งมีผู้เสนอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษนั้น สามารถเสนอได้ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษต้องไปพิจารณาว่าเป็นคดีอาญาที่ควรเป็นคดีพิเศษหรือไม่ โดยส่วนใหญ่คดีซึ่งจะเป็นคดีพิเศษจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตที่มีมูลค่าจำนวนมาก หรือคดีระหว่างประเทศ ส่วนคดีที่เกี่ยวกับชีวิตหรือการทำร้ายร่างกายและเป็นคดีใหญ่ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน หรือคดีที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมก็อาจจะร้องให้ดีเอสไอรับเป็นคดีได้
“คดีการเสียชีวิตของแตงโม เข้าข่ายเป็นคดีที่เกี่ยวกับชีวิต เป็นคดีใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และประชาชนมีความไม่เชื่อมั่นต่อการทำคดีของตำรวจซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น คดีแตงโม ก็อาจจะเป็นคดีพิเศษได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของดีเอสไอ และการที่ดีเอสไอเข้ามารับเป็นคดีพิเศษอาจจะไม่ได้แปลว่าตำรวจไม่ได้เรื่อง แต่อาจจะเป็นการช่วยเหลือตำรวจอีกแรงหนึ่ง เป็นการช่วยให้กระบวนการยุติธรรมได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ตำรวจมองว่าการที่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เข้ามาตรวจสอบการทำคดีการเสียชีวิตของแตงโม ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการแทรกแซงการทำงานนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า กระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบที่เหมาะสม เช่น กรรมาธิการศึกษารายละเอียดของคดี หากมีข้อสงสัยก็เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีมาสอบถามข้อเท็จจริง หากเชิญมาสอบถามแล้วยังไม่ชัดเจน กรรมาธิการก็ส่งคนไปประสาน หากยังไม่ชัดเจนอีกก็ขอตรวจสอบเป็นลำดับถัดไป ถ้าการตรวจสอบมีขั้นตอนที่ชัดเจนและเหมาะสมไม่ถือเป็นการแทรกแซงการทำงาน
“จริงๆ แล้วการทำงานของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกลไกรัฐ ควรจะมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจกันได้ ยกตัวอย่าง นิติเวชน่าจะมีทั้งนิติเวชของตำรวจและนิติเวชของหน่วยงานอื่น เช่น นิติเวชของกระทรวงยุติธรรม หรือนิติเวชของโรงพยาบาลอื่นเข้ามาร่วมชันสูตร หรือร่วมสังเกตการณ์เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลในการหาหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม และประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ไม่ควรจะมีใครทำงานโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ อะไรก็ตามที่ตรวจสอบไม่ได้ก็จะมีมุมที่มืดบอดได้” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ชี้แจงว่า กรณีที่แม่ของแตงโม คัดค้านไม่ให้ดีเอสไอรับทำคดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดา เป็นคดีพิเศษนั้น คำคัดค้านดังกล่าวไม่ถือว่าอยู่ในข้อพิจารณา เนื่องจากคดีการเสียชีวิตของแตงโม ถือว่าเป็น “คดีอาญาแผ่นดิน” ต่อให้ญาติยอมความหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษได้นั้นจะต้องเข้า 5 เงื่อนไข คือ 1.คดีมีความซับซ้อน ต้องรวบรวมหลักฐานจำนวนมาก 2.คดีมีผลกระทบต่อสังคม กระทบความมั่นคงและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 3.เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 4.มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง และ 5.มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะต้องประมวลจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏก่อนจึงจะตัดสินใจได้ว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
“คือคดีอาญาแผ่นดินไม่ใช่คดีระหว่างเอกชนกับเอกชนซึ่งเป็นคดีแพ่ง เช่น ผิดสัญญา ฉ้อโกง ถ้าเป็นอาญาแผ่นดิน ผู้ที่เสียหายคือรัฐ เช่น ดูแล้วความผิดที่เกิดส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น มีการฆ่ากัน หรือพยายามฆ่า เพราะไม่ว่าใครฆ่าใครก็กระทบต่อความสงบสุขของสังคม ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหากเป็นการทำคดีที่บิดเบี้ยวเมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาล คำพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา จะกลายเป็นบรรทัดฐานส่วนหนึ่งของคดีที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องขึ้นกับพฤติการณ์ในคดีซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคดีการเสียชีวิตของแตงโม ว่า ขณะนี้ดีเอสไออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะรับคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม-นิดา” เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ โดยดีเอสไอจะรวบรวมพยานหลักฐานเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ถ้าคณะกรรมการกลั่นกรองเห็นว่าไม่ควรรับเป็นคดีพิเศษเรื่องก็ตกไป แต่หากเห็นว่าควรรับเป็นคดีพิเศษ จะเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษชุดใหญ่ก่อนสรุปว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ และหากรับเป็นคดีพิเศษ จะมีการลงในราชกิจจานุเบกษา
จากนั้นจะโอนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจะโอนสำนวนคดี ข้อมูลพยานหลักฐาน และผลการชันสูตรทั้งหมดมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หากมีอะไรที่เห็นว่ายังไม่ชัดเจนคณะทำงานที่ทำคดีนี้สามารถลงไปตรวจสอบ หรือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้ หากเห็นว่าสำนวนคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบมาพากลก็สามารถสืบค้น และรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ส่วนการทำคดีจะใช้ระยะเวลาเท่าใดขึ้นกับความซับซ้อนในเนื้อหาของคดี จำนวนผู้เสียหาย จำนวนผู้กระทำความผิด ซึ่งความยุ่งยากของแต่ละคดีจะแตกต่างกัน โดยหากพบว่ามีการกระทำผิดก็สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ทันที จากนั้นจะส่งอัยการสั่งฟ้อง
ส่วนที่เกรงกันว่าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปสำนวนคดีแล้วกรมสอบสวนคดีพิเศษจะไม่สามารถรับคดีการเสียชีวิตของแตงโม-นิดาเป็นคดีพิเศษได้นั้น นพ.ไตรยฤทธิ์ อธิบายว่า คงต้องแล้วแต่พยานหลักฐาน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลครบถ้วนก็ต้องสรุปคดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าทำคดีล่าช้า อย่างไรก็ดี ยังมีขั้นตอนของอัยการ คือหลังจากพนักงานสอบสวนสรุปคดีแล้วต้องส่งเรื่องให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งอัยการจะต้องพิจารณาว่ามีอะไรที่ต้องสอบเพิ่มอีกหรือไม่ ก่อนที่จะทำความเห็นออกมา ซึ่งหากเรื่องยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นคดีพิเศษ อัยการสามารถสอบเพิ่มเติมได้ในกรณีที่เห็นว่ายังมีบางประเด็นที่ไม่ชัดเจน
“ตราบใดที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง คดียังสามารถโอนมาเป็นคดีพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของดีเอสไอได้ ซึ่งหากคณะกรรมการของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นให้รับคดีของคุณแตงโม เป็นคดีพิเศษ และคดีถูกโอนมายังดีเอสไอ การสอบข้อมูลเพิ่มเติมจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเราจะทำทุกอย่างเต็มที่ พี่น้องประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ