MGR Online - รมว.ยธ. รับเรื่อง “ทนายนกเขา-รสนา” วอนแก้ไข กม.นิติวิทยาศาสตร์ เป็นอุปสรรคต่อประชาชน ให้มีอิสระในการตรวจสอบ ไม่ให้มีตำรวจร่วมคณะ
วันนี้ (30 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ถนนแจ้งวัฒนะ นายนิติธร ล้ำเหลือ กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) พร้อม น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยื่นหนังสือต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้เร่งรัดแก้ไขพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคและสร้างภาระให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
นายนิติธร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณี น.ส.นิดา พัชรวีรพงศ์ “แตงโม” เสียชีวิต จึงมายื่นแก้ไข 3 ประเด็น คือ 1. บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 258 กำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และให้มีหน่วยงานที่เป็นอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 หน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก แต่ปัจจุบันมีคณะนิติวิทยาศาสตร์หน่วยงานเดียว มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานมาร่วมเป็นคณะกรรมการจึงมองว่าไม่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบ
นายนิติธร กล่าวอีกว่า 2. เมื่อประชาชนมาร้องเรียนผ่านคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางนิติวิทยาศาสตร์นั้น คณะกรรมการจะดำเนินการรับเรื่องหรือไม่ก็ได้ เช่น ผู้ร้องยื่นตรวจสอบ 4 เรื่องแต่อาจรับพิจารณาเพียง 1 เรื่อง อีกทั้ง ความล่าช้าจะส่งผลให้ข้อเท็จจริงบางอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมและอาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้อีกต่อไป ย่อมเป็นการสูญเสียความยุติธรรมที่ประชาชนควรจะได้รับ และ 3. แก้ไขพระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 มาตรา 5(4) ซึ่งคดีแตงโมเข้าวงเล็บนี้ คือ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้นำผลชันสูตรมาประกอบสำนวนหรือไม่ก็ได้ แต่แก้ไขต้องให้รายงานผลชันสูตรซ้ำเข้าประกอบสำนวนทุกราย
ด้าน นายสมศักดิ์ เผยว่า รัฐบาลเหลือเวลาทำงานอีกประมาณ 1 ปี การแก้กฎหมายแต่ละฉบับอาจไม่ทันเวลาแต่จะเป็นแนวทางเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยการยื่นเรื่องวันนี้ เพราะต้องการแก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการนิติวิทยาศาสตร์ที่มีตำรวจเข้ามาร่วมจึงอาจมองว่าไม่เป็นอิสระและเมื่อการผ่าชันสูตรศพออกมาแล้วนั้นต้องนำผลเข้าพิจารณาทุกครั้ง ซึ่งตนยินดีและพยายามแก้ไขให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ตนได้ทำความเข้าใจกับผู้ร้องแล้ว ก็จะตั้งคณะทำงานเพื่อกลั่นกรองประเด็นต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป โดยมีว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยธ.ดูแล
นายนิติธร กล่าวถึงกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับสืบสวนคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นกระบวนการพิจารณาเบื้องต้นก่อนเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนที่นักกฎหมายบางคนแสดงความเห็นว่าคดีนี้ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษนั้น คงไม่ได้ร่ำเรียนจากสถาบันเดียวกัน เพราะคดีที่จะเข้าเป็นคดีพิเศษต้องเป็นความผิดมูลฐานตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.คดีพิเศษ หรือเป็นคดีอาญาทั่วไปที่คดีมีความซับซ้อน, เป็นที่สนใจของสังคม, กระทบต่อความมั่นคง, เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และเกี่ยวข้องผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคดีนี้มีความสลับซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเป็นผู้สืบสวน และประชาชนติดตามให้ความสนใจจำนวนมาก คาดหวังว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ
“สาเหตุที่ต้องยื่นให้ดีเอสไอสอบสวน เพราะคดีมีข้อสังเกตหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเก็บวัตถุพยาน เช่น เรือทำไมต้องตากแดด ต้องการให้อะไรแห้งระเหยไปหรือไม่ หรือคิดไม่ได้ว่าไม่ต้องนำเต้นท์มาครอบ และกรณีฟันหัก อย่าตอบว่าฟันอยู่ครบไม่หัก ประชาชนเขาคิดได้มากกว่านั้น ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออก ตำรวจมีอำนาจตั้งคณะที่ปรึกษาคดี แต่ก็ไม่ทำ หากทำไม่ได้ผมยินดีเข้าเป็นที่ปรึกษาและดูว่าใครทำได้ดีกว่ากัน” นายนิติธร กล่าว
ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า การเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อให้การทำงานแยกกันอย่างอิสระระหว่าง 2 หน่วยงาน และกรณีการเสียชีวิตของแตงโมเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องก็หวังว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ เพราะพยานหลักฐานที่ชันสูตรแล้ว แต่ไม่เข้าสำนวนก็จะเกิดไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ ถึงเวลาต้องปฏิรูปตำรวจอย่างจิงจัง คสช. รัฐประหารเข้ามามีจุดประสงค์ต้องการปฏิรูปบ้านเมืองก่อนการเลือกตั้ง และประชาชนก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ผ่านมาหลายปีก็ยังไม่ทำ จนสังคมเกิดความสงสัยว่าตำรวจถูกใช้การเมืองใช่ไหมจึงไม่มีการปฏิรูป