xs
xsm
sm
md
lg

หรือจะให้เราปิดท่อนอร์ดสตรีม 1 ใช่ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย
เป็นคำถามที่รองนายกฯ รัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โนวัค ออกมาแถลงถามไปยังฝ่ายพันธมิตรตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, นาโต, กลุ่มควอด, กลุ่มAUKUS, กลุ่ม G7, กลุ่ม 5 ดวงตา (5-Eyes) ซึ่งน้ำมันดิบโลกจะไปถึง 300 เหรียญแน่ๆ

เป็นคำถามที่แสนจะดุดันพอๆ กับที่ปธน.ปูตินได้ออกคำสั่งให้เตรียมพร้อมขั้นสูงสุดต่อหน่วยป้องกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องชาติและตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และอาจต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการสู้รบแบบติดพัน)

พอๆ กับที่รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ได้พูดที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติถึงสถานการณ์ที่รัสเซียดูรุมกินโต๊ะในแนวรบการทูต, สงครามด้านเศรษฐกิจ, ด้านกีฬา ซึ่งโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์ที่อันตรายยิ่งก็มีความเป็นไปได้

เพราะท่อแก๊สนอร์ดสตรีม 1 ขณะนี้เป็นท่อส่งแก๊สใหญ่สุดที่ซัปพลายแก๊สจากรัสเซียเข้าสู่เยอรมนี และส่งต่อไปยังยุโรป เมื่อเทียบกับท่อแก๊สอีกนับเป็นสิบท่อที่ส่งแก๊สจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรป ซึ่งปริมาณแก๊สที่ส่งผ่านนอร์ดสตรีม 1 นั้น ก็ยังไม่พอใช้สำหรับทำความอบอุ่น และใช้ในอุตสาหกรรมของเยอรมนีในฤดูหนาวนี้ด้วยซ้ำ

โดยเยอรมนีตั้งความหวังตามแผนว่า หน้าหนาวปีนี้ (2022) จะได้แก๊สมาเพิ่มถึง 1 เท่าตัวจากนอร์ดสตรีม 2 ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ต้น Q4 ของปีที่แล้ว และพร้อมเปิดใช้พอดีกับฤดูหนาวเหน็บของเยอรมนีในปีนี้

แต่นายกฯ คนใหม่ของเยอรมนี นายโอลาฟ ชอลซ์ ถูกบีบจากสหรัฐฯ ไม่ให้ออกใบอนุญาตให้เปิดท่อนอร์ดสตรีม 2 เมื่อปลายปีที่แล้ว...หลังจากสหรัฐฯ ได้กดดันเยอรมนีมาหลายปี ไม่ให้เดินหน้าก่อสร้างท่อนอร์ดสตรีม 2 โดยยกเหตุผลว่า จะทำให้เยอรมนีและยุโรปตกเป็นเบี้ยล่างของรัสเซีย ในเรื่องต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้นทุกที...แทนที่จะลดสัดส่วนลง แล้วหันไปซื้อพลังงาน (ทั้งแก๊ส, น้ำมัน, ถ่านหิน) จากที่อื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง เป็นต้น

แต่เยอรมนีมองว่า แทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทุ่มเข้าซื้อพลังงานจากรัสเซียมากขึ้นทุกปีๆ เพราะระยะทางใกล้มาก เสียค่าขนส่งน้อยมาก ยิ่งมีท่อนอร์ดสตรีม 2 ด้วย จะยิ่งช่วยให้เยอรมนีมีพลังงานราคาถูกสุดในระยะยาว เพราะไม่ต้องรออยู่ปลายท่อ (ทางใต้) ที่ผ่านยูเครน และยูเครนคิดค่าผ่านทางมากมาย และในบางครั้งยูเครนก็เพิ่มการกักเก็บแก๊สเอาไว้ใช้เอง แทนที่จะปล่อยจำนวนมากไปให้เยอรมนี โดยอ้างว่า ยูเครนมีอากาศหนาวจัด...ต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

เมื่อสหรัฐฯ ส่งรมต.ต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคน เดินสายไปรวบรวมเสียงสนับสนุน เพื่อให้เหล่าพันธมิตรตะวันตกเห็นความจำเป็นที่จะต้องบีบรัสเซียมากยิ่งขึ้น (หลังจากรัสเซียได้ส่งขีปนาวุธและจรวดเข้าโจมตีทำลายที่มั่นทางทหารของยูเครน รวมทั้งเข้าควบคุมโรงงานไฟฟ้าปรมาณู ตลอดจนยึดเมือง Kherson และ Mariupol ได้แล้ว) โดยหวังจะยกระดับการกดดันรัสเซียไปอีกขั้นคือ ประกาศร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย โดยพันธมิตรตะวันตกจะไม่ซื้อพลังงาน (น้ำมัน, แก๊สธรรมชาติ, ถ่านหิน) จากรัสเซียโดยสิ้นเชิง

ปรากฏว่า นายกฯ เยอรมนีมีอาการลังเล และไม่ตอบตกลงกับข้อเสนอของสหรัฐฯ เพราะเท่าที่เยอรมนียังชะลอการเปิดท่อนอร์ดสตรีม 2 นี้ก็ถือว่าสร้างความเสียหายแก่เยอรมนีมากอยู่แล้ว (ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเยอรมนีได้วางแผนขยายงาน และจะเริ่มใช้พลังงานจากรัสเซียเพิ่มขึ้นตั้งแต่ Q4 ของปีที่แล้วด้วยซ้ำ...ทำให้เสียแผนการที่วางไว้อย่างดีมาตลอดหลายปี)

มีบางคนวิเคราะห์ด้วยว่า ถ้าเป็นนางอังเกลา แมร์เคิล เธออาจไม่ทำตามข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ให้ชะลอการเปิดใช้ท่อนอร์ดสตรีม 2 ด้วยซ้ำ เพราะผลประโยชน์ของเยอรมนีต้องอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ในที่สุด สมาชิกอียูก็ต้องสุมหัวกัน เพื่อไม่ทำตามข้อตกลงของสหรัฐฯ ที่ให้คว่ำบาตร (Full Sanction) ไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซียทันที (อย่างที่ปธน.ไบเดนเลยต้องออกมาประกาศคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียทันที แต่เพียงประเทศเดียว, หรืออย่างมากก็อาจมีแคนาดาประกาศเป็นประเทศที่ 2 ที่จะคว่ำบาตรทันทีต่อการซื้อพลังงานจากรัสเซีย...เพราะแคนาดาใช้พลังงานจากรัสเซียน้อยมากอยู่แล้ว หรือจะมีอีกประเทศที่สามารถคว่ำบาตรไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซียก็คือ อังกฤษ ซึ่งมีแหล่งพลังงานของตนเองอยู่ที่ทะเลเหนือ)

สำหรับอียู...ต้องประกาศแผนค่อยๆ ทยอยลดการพึ่งพลังงานของรัสเซีย...โดยไม่สามารถลดการซื้อพลังงานจากรัสเซียได้ทันที ในแผนนี้ จะทยอยลดซื้อจากรัสเซียภายในปีนี้ลงไป 2/3 (ซึ่งก็อักโขอยู่)...และสหรัฐฯ ให้คำรับรองว่า จะพยายามขวนขวายหาแหล่งพลังงานใหม่ให้แก่เยอรมนีและยุโรป

นั่นก็คือ จากสหรัฐฯ (จะรีบขายน้ำมันออกให้หมดก่อนที่น้ำมันจะไม่มีค่าในอนาคต), แคนาดา หรือจากอเมริกาใต้คือ เวเนซุเอลา (ซึ่งก็เป็นสมาชิกของ OPEC+ด้วย และเป็นมหามิตรกับรัสเซียที่ช่วยเวเนซุเอลาอย่างมากในช่วงที่เวเนซุเอลาถูกคว่ำบาตรจากตะวันตกติดต่อกันมานับ 20 ปีแล้ว) ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่า เวเนซุเอลาจะยอมร่วมมือกับสหรัฐฯ หรือไม่ (สหรัฐฯ จะยื่นหมูยื่นแมวกับเวเนซุเอลา โดยจะทยอยเลิกคว่ำบาตรเวเนซุเอลาแลกกับให้เวเนซุเอลาบรรทุกน้ำมัน และแก๊สไปขายให้ยุโรป, เยอรมนี และรวมทั้งให้กับสหรัฐฯ ด้วย)

อีกแหล่งพลังงานที่สหรัฐฯ กำลังเกลี้ยกล่อมให้ขายพลังงานให้แก่เยอรมนีและยุโรปก็คือ ตะวันออกกลาง ซึ่งนาทีนี้ไบเดนประกาศพร้อมเดินทางไปพบกษัตริย์ซาอุฯ, พี่ใหญ่แห่ง GCC (Gulf Cooperation Council) เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้อย่างด่วนจี๋...(ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเพิ่มการผลิตอย่างทันควัน) ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างความห่างเหินกับซาอุฯ กรณีการฆ่านายคาช็อกกี นักเขียนประจำนสพ.วอชิงตัน โพสต์ ที่ถูก MbS ฆ่าโหด

และยังมีน้ำมันจากอิหร่าน ที่กำลังรอออกสู่ตลาดถึงวันละอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรล...ถ้าการเจรจาห้ามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านกับประเทศ 5+1 เป็นผลสำเร็จ

แน่นอนว่า ทั้งเวเนซุเอลาและอิหร่านนั้น เป็นการเดินแต้มทางสหรัฐฯ ที่ยิงนกทีเดียวได้นกเป็นฝูง เพราะทั้งสองประเทศเป็นคู่ปรับของสหรัฐฯ ที่ยืนอยู่กับรัสเซีย ดังนั้น ถ้าจะโอนอ่อนมาทางสหรัฐฯ ก็น่าจะตัดกำลังของฝ่ายรัสเซียไปโดยปริยาย!

ไบเดนยังมีไพ่สุดท้ายคือ จะลากเอาน้ำมันยุทธศาสตร์ของอเมริกาออกมาถึง 30 ล้านบาร์เรล และจะทำร่วมกับประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกเช่น อินเดีย, ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี เป็นต้น เพื่อมาทดแทนน้ำมันของรัสเซียที่จะหายไปจากตลาดโลก

แต่รัสเซียก็มีจีนเป็นหลังอิงที่ต้องการพลังงานอย่างมากเพื่อการผลิตด้วย จึงไม่น่าทำให้รัสเซียถึงทางตันในด้านตลาดพลังงานของตน

และยังไม่นับแร่ธาตุสำคัญๆ ในการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกลำดับต้นๆ ได้แก่ พาลาเดียม, นิกเกิล, แพลทตินั่ม, อะลูมิเนียม, ทองคำ รวมทั้งพืชธัญญาหารเช่น ข้าวสาลี, ข้าวโพด และสารตั้งต้นของปุ๋ยเคมีเช่น โปแตช ฯลฯ

ซึ่งรัสเซียเป็นต่อด้านทรัพยากรธรรมชาติสำคัญเหล่านี้ และทั่วโลกต้องพึ่งพาการส่งออกจากรัสเซีย


กำลังโหลดความคิดเห็น