“ปูติน” ขู่เป็นนัยจะทำให้สงครามยูเครนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ เป็นการบีบให้ “ไบเดน”ต้องชั่งใจกับทางเลือกต่างๆ ซึ่งรวมถึงควรที่จะยกระดับการเตรียมพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์ของอเมริกาบ้างหรือไม่
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งที่เมื่อไม่ถึงปีที่แล้ โจ ไบเดน และวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีอเมริกาและรัสเซียตามลำดับ เพิ่งออกคำแถลงในการประชุมสุดยอดที่เจนีวาที่ดูเหมือนตีความได้ว่า ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า สงครามนิวเคลียร์คืออนุสรณ์ของสงครามเย็นเท่านั้น
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) ปูตินสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงดำเนินการเพื่อให้กองกำลังด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย เข้าสู่ “กฎเกณฑ์พิเศษของการปฏิบัติหน้าที่สู้รบ (special regime of combat duty) อย่างไรก็ดี ไม่มีความชัดเจนว่า คำสั่งนี้ทำให้สถานะกองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ปัจจุบัน ขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ของรัสเซียอยู่ในโหมดเตรียมพร้อมระดับสูงตลอดเวลาเช่นเดียวกับอเมริกา อีกทั้งยังเชื่อว่า ขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ติดตั้งในเรือดำน้ำทั้งของมอสโกและวอชิงตันอยู่ในโหมดเตรียมพร้อมระดับสูงตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
ปูตินบ่งชี้ว่า การสั่งเตรียมพร้อมครั้งนี้ ก็เพื่อตอบโต้มาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจของอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆ ที่ประกาศออกมาในช่วงวันสองวันนี้เพื่อลงโทษรัสเซียสำหรับการบุกยูเครน รวมทั้งถ้อยแถลงก้าวร้าวต่อรัสเซียที่ปูตินไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม
คำประกาศของปูตินคล้ายๆ กับเป็นคำขู่ชนิดที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน แม้กระทั่งในช่วงสงครามเย็นที่หัวรบนิวเคลียร์ขนาดใหญ่และจำนวนมากมายยิ่งกว่าปัจจุบันของอเมริกาแลของะอดีตสหภาพโซเวียตเผชิญหน้ากัน กลายเป็นภัยคุกคามจะเกิดการทำลายล้างโลกด้วยนิวเคลียร์
คำพูดของปูติน ทำให้ความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์เปลี่ยนไปอย่างไร
เจ้าหน้าที่อเมริกันยอมรับว่า ไม่รู้เจตนาปูติน แต่เป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักที่ผู้นำอเมริกาหรือรัสเซียจะขู่อ้อมๆ ว่า ไม่ควรมองข้ามความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสงครามยูเครนในขณะนี้
อเมริกาและรัสเซียเป็นสองชาติที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก และประธานาธิบดีของสองประเทศนี้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการสั่งโจมตีด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการรบเพียงครั้งเดียวคือเดือนสิงหาคม 1945 ที่อเมริกาสั่งบอมบ์ญี่ปุ่น 2 ครั้ง และตอนนั้นอเมริกาเป็นชาติเดียวที่ผูกขาดอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนสหภาพโซเวียตนั้นเพิ่มประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกในปี 1949
ดาริล คิมบอลล์ กรรมการบริหารสมาคมควบคุมอาวุธ บอกว่า คำสั่งของปูตินเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ ทำให้สงครามยูเครนในขณะนี้อันตรายมาก แต่ไม่ถือว่า เกินคาด เมื่อดูจากคำขู่ก่อนหน้านี้ที่เขาฮึ่มใส่พวกประเทศที่พยายามหยุดยั้งเขาในยูเครน ทั้งนี้คิมบอลล์เตือนว่า อเมริกาและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ต้องใช้ความอดกลั้นสูงสุดและงดตอบโต้ด้วยการท้าทายแบบกล้าไปจนถึงขอบหายนะด้วย
การยกระดับการเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์ หมายถึงอะไร
ตามหลักนิยมด้านนิวเคลียร์ของอเมริกานั้น การยกระดับการเตรียมพร้อมเกี่ยวกับอาวุธ ถือเป็นหัวใจสำคัญของบทบาทในการป้องปรามการโจมตี กล่าวคือมุ่งเตรียมพร้อมตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้ศัตรูมีแนวโน้มโจมตีได้น้อยลงตั้งแต่ต้นและลดความเสี่ยงในการตอบโต้ที่จะทำให้ไม่อาจประเมินความเสียหายได้
แต่มีข้อโต้แย้งว่า การสั่งการไอซีบีเอ็ม ให้อยู่ในสถานการณ์เตรียมพร้อมระดับสูงระหว่างเกิดวิกฤต จะทำให้ประธานาธิบดีมีตัวเลือกในการตัดสินใจน้อยลง และอาจเปิดโอกาสให้มีคำสั่งยิงไอซีบีเอ็มตอบโต้สัญญาณหลอก ทั้งนี้ในปัจจุบัน ไอซีบีเอ็มที่นำเข้าประจำการของอเมริกา ติดตั้งหัวรบตลอดเวลา
ผู้เชี่ยวชาญการควบคุมอาวุธบางคนแนะให้ลดรดับการเตรียมพร้อมไอซีบีเอ็มในระดับสูง ด้วยการแยกขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ออกจากกัน ทว่า ในยามวิกฤตเช่นหลังจากปูตินออกคำสั่งเรื่องนิวเคลียร์เมื่อวันอาทิตย์ อาจมีการตัดสินใจตรงข้ามซึ่งจะทำให้วิกฤตการณ์เลวร้ายลง
อเมริกาตอบโต้อย่างไรบ้าง
ไม่มีหลักฐานว่า คณะบริหารของไบเดนตอบโต้คำประกาศของปูตินแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ชัดเจนว่า คำสั่งของปูตินมีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ นอกจากนั้นยังไม่มีหลักฐานว่า ปูตินดำเนินการขั้นตอนใดๆ ที่น่ากังวล เช่น ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเครื่องบินรบทุกลำที่มีศักยภาพในการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ หรือส่งเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวสู่น่านน้ำเพิ่ม
อนึ่ง นอกจากกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์แล้ว ปูตินยังมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ ซึ่งสำหรับฝ่ายทหารอเมริกันแล้ว หมายถึงไม่สามารถโจมตีถึงอเมริกาได้ เช่นพวกขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยใกล้ และขีปนาวุธร่อนพิสัยใกล้ แต่ไกลพอทำให้ยุโรปไม่สบายใจเพราะอยู่ในระยะการโจมตี ส่วนอเมริกามีอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่ทางยุทธศาสตร์ราว 200 ลูกในยุโรป ที่อาจติดตั้งกับเครื่องบินในยุโรปเพื่อเข้าโจมตี
หลายปีมานี้ เจ้าหน้าที่อเมริกันบางคนกังวลว่า หากมีแนวโน้มแพ้สงครามในยุโรป ปูตินอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่ทางยุทธศาสตร์เพื่อจบความขัดแย้งในแบบของตนเอง
(ที่มา: เอพี)