xs
xsm
sm
md
lg

“วิกฤตยูเครน-รัสเซีย” จ่อบอมบ์ ศก.ไทยตั้งการ์ดรับน้ำมันพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาแล้ว 2 ปีทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยสะบักสะบอมไปตามๆ กัน ความหวังปี 2565 อะไรๆ น่าจะดีขึ้นจากการที่ทั่วโลกได้เริ่มปรับตัวในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนที่จะทำให้กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจทยอยกลับมา ....

ความหวังต้องสะดุดลงทันทีในวันเลขสวย 22022022 เมื่อรัสเซียเข้ายึดสองรัฐอิสระ โดเนตสก์ และลูฮานสก์ของยูเครนสำเร็จ และล่าสุดกองทหารรัสเซียกำลังรุกคืบเข้าสู่กรุงเคียฟ โดยเหตุการณ์สงครามการสู้รบครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใดแต่ดูเหมือนว่ารัสเซียกำลังแบ่งยูเครนออกเป็น 2 ส่วนตามแนวแม่น้ำนีเปอร์อยู่หรือไม่??... บทบาทของสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) มีความสำคัญต่อสถานการณ์จากนี้ไป ....

แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะก้าวไปในจุดใด ... โควิด-19 ได้มอบบทเรียนให้เห็นแล้วว่า “อย่าประเมินอะไรที่ต่ำเกินไป” นั่นคือทางรอดที่ดีสุดสำหรับคนไทย ดังนั้นการสู้รบของรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องวางบทบาทไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอย่างเป็นกลาง และมาตรการรับมือในการประคับประคองเศรษฐกิจที่ทันท่วงทีบนพื้นฐานที่ไม่ประมาท เนื่องจากผลกระทบระยะสั้นเห็นชัดเจนและมีผลทันที สำหรับไทยเกิดขึ้นแล้วจากระดับราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ปิดตลาดเมื่อ 4 มี.ค. ปิดที่ 115.68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551 หรือในรอบกว่า 13 ปี ขณะที่ดูไบซึ่งไทยน้ำเข้าเป็นหลักอยู่ที่ 108.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหตุจากตลาดกังวลต่อการชะงักงันของการผลิต เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 3 ของโลกที่ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเหตุการณ์การสู้รบมีการประเมินว่าน้ำมันดิบจะขยับไปสูงถึง 120-150 เหรียญ/บาร์เรล...

นี่ยังไม่รวมกับมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่มีตามมา ..... ขณะที่การแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” ในไทยก็เริ่มมีอัตราสูงขึ้น งานนี้ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่โหมด วิกฤตที่สร้างโอกาส หรือวิกฤตที่อาจเจอวิกฤตกว่า ...ดังนั้นทุกฝ่ายต้องประเมินสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อรับมืออย่างทันท่วงที


เอกชนเกาะติดรับมือต้นทุนการผลิตพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวถึงมุมมองผลกระทบกรณีการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครนว่า ขณะนี้ปัญหาการสู้รบยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่การผลิตของโลก หรือ Global supply chains แต่ก็ยังต้องประเมินอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ที่ชัดเจนคือระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นไปสู่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีการประเมินว่าอาจไปสู่ระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย กลายเป็นปัจจัยบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังพบว่าบางอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปยังอีกหลายๆ อุตสาหกรรมในโลกและไทย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์รายสำคัญของโลก เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด อีกทั้งเป็นประเทศที่มีสำรองสินแร่เหล็ก เป็นผู้ผลิตเหล็ก และประเทศส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลก

“โลกจะเผชิญกับภาวะน้ำมันแพง และเงินเฟ้อสูงเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก มีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากที่สุดของโลกและมีสำรองถ่านหินใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หากน้ำมันและก๊าซฯ ออกสู่ตลาดโลกลดลงย่อมจะส่งผลให้ราคาพลังงานเหล่านี้สูงขึ้นและสะท้อนไปยังต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และในที่สุดทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงตามมา ดังนั้นมาตรการดูแลราคาพลังงาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคองให้ผ่านพ้นช่วงนี้จำเป็นที่ต้องวางแผนรับมืออย่างทันท่วงที ซึ่งทราบว่ารัฐบาลก็กำลังดำเนินการ” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาคเอกชน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้รับมือได้ทันท่วงที โดยกรณีสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) มีการตัดธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ได้เสนอให้รัฐบาลไทยหาทางหนีทีไล่ เช่น ใช้เครือข่ายการเงินอื่นๆ โดยทำธุรกรรมผ่านประเทศที่สาม, การส่งสินค้าที่จำเป็นอาจจะต้องทำผ่านทางกลุ่ม Eurasia country ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน โดยรัฐบาลอาจจะต้องเปิดการเจรจาการค้า

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลเร่งเจรจาหารือกับจีน เพื่อขอให้ไทยใช้เส้นทางรถไฟร่วม โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟสายใหม่ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จีนได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยไปรัสเซียและยูเครนคิดเป็น 0.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดหรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“หากน้ำมันดิบโลกพุ่งไปสู่ 150 เหรียญต่อบาร์เรลจะกระทบต่อต้นทุนการส่งออกไทยแน่นอนและยังต้องติดตามสถานการณ์ในสหภาพยุโรป (อียู) หากมีปัญหาเรื่องราคาพลังงานที่สูงอาจจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวก็จะกระทบต่อการส่งออกไทย ขณะเดียวกัน การเดินทางท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาไทยที่คาดหวังไว้ระดับ 6 ล้านคนปีนี้ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกันเหล่านี้ล้วนกระทบต่อการเติบโต GDP ของไทย” นายเกรียงไกรกล่าว

จับตาความมั่นคงด้านอาหาร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ผลกระทบจากการสู้รบของรัสเซีย-ยูเครน นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นยังกระทบต่อราคาสินค้าธัญพืช และวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นเนื่องจากความเสียหายจากสงครามเกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งที่ยูเครนและพรมแดนรัสเซียทางตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญโดยเฉพาะข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารสัตว์ซึ่งระยะต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในอนาคตได้

ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันราว 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงถึง 19% ของตลาดโลก โดยพบว่าเมื่อเกิดการสู้รบราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันทีเป็น 12.75 บาท/กิโลกรัม (กก.) จากราคา 8.91 บาทต่อ กก.ในปี 2564 อีกทั้งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยพุ่งสูงกว่าตลาดโลกไปอยู่ที่ 12 บาทต่อ กก. และมีแนวโน้มขยับต่อเนื่องไปถึง 15 บาทต่อ กก.

ขณะที่ภาวะการขาดตลาดของผลผลิตข้าวโพด จากความต้องการใช้ข้าวโพดทั้งหมด 7.98 ล้านตัน ยังขาดแคลนถึง 3.18 ล้านตัน จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบทดแทน ซึ่งได้แก่ “ข้าวสาลี” ที่กำลังมีราคาพุ่งสูงสุดจากสงครามดังกล่าวข้างต้น และการสั่งนำเข้าข้าวสาลีล่วงหน้า ซึ่งจะส่งมอบเดือน เม.ย.- พ.ค. ปัจจุบันได้รับแจ้งว่าอาจส่งมอบไม่ได้ อันเนื่องมาจากแนวโน้มสงครามที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นอาจกระทบต่อการขนส่งสินค้าด้วย

ทั้งนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ในปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 20-25% และปี 2565 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ยังไม่นับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะสูงขึ้นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มด้วย อาหารสัตว์เป็นข้อต่อห่วงโซ่อาหารปศุสัตว์ในลำดับที่ 2 และ 3 เมื่อวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ราคาอาหารสัตว์จึงปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อไปยังสินค้าเนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์

“สินค้าอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นคาดว่าจะมีปัญหาไม่มาก คาดการณ์ยังส่งออกได้แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะล่าสุด สำนักงานพาณิชย์ในกรุงมอสโกได้สอบถามผู้นำเข้าสินค้าไทยในรัสเซียบางส่วน พบว่าขณะนี้ได้ชะลอการสั่งซื้อสินค้าไทยไว้ชั่วคราว และรอดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูง ต้องติดตามสถานการณ์รายวัน” นายวิศิษฐ์กล่าว

หนุนสำรวจปิโตรเลียมลดพึ่งพิงนำเข้า

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์อ่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติผันผวน ไม่มีเสถียรภาพ โดยล่าสุดน้ำมันดิบปรับตัวสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาตลาดจรก๊าซธรรมชาติเหลว (Spot LNG) ก็ปรับตัวแพงขึ้นอยู่ที่ 35 เหรียญต่อล้านบีทียู ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยที่ลดลงติดต่อกันมาหลายปี จึงทำให้ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้า LNG ในอัตราที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสูตรราคาจะสะท้อนจากน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน คาดว่าภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีนับจากนี้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จะต้องปรับขึ้นจากผลของราคาก๊าซเฉลี่ยโดยรวมที่แพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพที่สูงในขณะนี้” นายคุรุจิตกล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับต้นทุนด้านพลังงานที่แพงขึ้น ก็เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการเปิดให้เอกชนมาลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมค้นหาแหล่งใหม่ๆ มาตั้งแต่ปี 2550 หรือใช้เวลานานถึง 15 ปี ทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยลดน้อยลงอย่างน่าวิตก จากที่ประเทศไทยเคยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้อีก 16-17 ปี แต่มาถึงวันนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใช้ได้เหลืออีกเพียงไม่ถึง 7 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต

สำหรับศักยภาพการค้นพบปิโตรเลียมในประเทศไทย ทั้งบนบกและในอ่าวไทย ยังถือว่ามีศักยภาพพอสมควรในการพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ถึงแม้จะไม่ได้มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่เหมือนประเทศตะวันออกกลางที่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณมากก็ตาม แต่ก็จะช่วยให้ไม่ต้องนำเข้าปิโตรเลียมในราคาแพงได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งจะมีรายได้ในรูปภาษีและค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ไม่ต้องเสียเงินตราให้ต่างประเทศในการนำเข้าพลังงานเหมือนเช่นปัจจุบัน จึงอยากให้ประชาชนตระหนักรู้ในปัญหาพลังงานและความสำคัญของการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในระยะยาว

ทั้งหมดเป็นเพียงมุมมองส่วนหนึ่งต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น....และแนวทางรับมือซึ่งทุกฝ่ายคงต้องติดตามใกล้ชิด และได้แต่หวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อ …


กำลังโหลดความคิดเห็น