“ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ชี้ยุทธศาสตร์จีนเขย่าโลก มีผลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับตัวรองรับให้ทัน และเกิดประโยชน์ ต้องอยู่แบบใกล้ชิดกับชาติมหาอำนาจทุกฝ่าย มียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดขึ้น รวดเร็วทันความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากจีนกำลังแข็งแกร่งเข่าโลกได้ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง และมีอำนาจต่อรองแข่งขันกับชาติมหาอำนาจเต็มที่
ศาสตราจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและ ความปรองดองแห่งเอเชีย (APRC) และกรรมการการประชุมโบอ่าวแห่งเอเชีย (Boao Forum for Asia) ปาฐกถาพิเศษ ในงานครบรอบ 67 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง “ยุทธศาสตร์ สี จิ้น ผิง” เขย่าโลก ไทยจะอยู่อย่างไร ว่า ปัจจุบันประเทศจีนมีความสำคัญที่จะเขย่าโลกได้ เพราะจีนมียุทธศาสตร์ที่สามารถส่งผลต่อภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจ และทางการเมืองของโลก และยังสามารถแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอื่นได้ ขณะที่ชาติมหาอำนาจอื่นก็ยังแสดงความต้องการแข่งขันกับจีนด้วย
“แท้ที่จริงแล้วการเขย่าโลกไม่ใช่การเขย่าแค่ให้จีนใหญ่ขึ้นมา แต่เป็นการเขย่าเพราะจีนมีความสำคัญพอในระดับโลก ตอนนี้การเมืองภายใน และเศรษฐกิจภายในของจีนมีความเข้มแข็งพอ และมียุทธศาสตร์ที่แหลมคมที่สามารถแข่งขันกับชาติมหาอำนาจได้”
ดร.สุรเกียรติ์ ขยายความถึงความสำคัญของจีนจะเขย่าโลกได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้มีเหตุผลด้วยกัน 14 ประการ ประการที่ 1 คือ จีนผงาด โดยจีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับโลกทั้งทางด้านการทหาร เศรษฐกิจ การเมือง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้ผงาดในเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สามารถขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำได้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่ 10 ปีเท่านั้น
ประการที่ 2 การเน้นกิจการภายในของจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจควบคู่ (Dual Circulation) คือเศรษฐกิจในระเทศควบคู่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งการทุ่มงบประมาณมหาศาลในการสร้างพื้นฐานในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศ (Homegrown) เช่นเดียวกับการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สร้างสังคม ความรักชาติ และรักษาความต่อเนื่องของผู้นำ ทำให้จีนมีความมั่นคงและมีความโดดเด่นอย่างมาก
ประการที่ 3 ต้องติดตามจีนที่ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองจีน (CPPCC) และสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในวันที่ 5 มี.ค.2565 โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน จะรายงานภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ พร้อมพิจารณาทบทวนเป้าหมายของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งติดตามนโยบายภาษี นโนบาย Zero Covid และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกันหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน จะมีการรายงานนโยบายทางด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทั้งการไม่ประนามสหรัฐฯ การที่จะมีบทบาทที่จะเข้าไปช่วยดูเรื่องของสันติวิธีได้อย่างไร และการสร้างความเข้าใจว่ารัสเซียมีความห่วงใยในความมั่นคงของประเทศ โดยไม่อยากให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO มาตั้งจุดรบหรืออาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน
ประการที่ 4 สร้างยุทธศาสตร์สร้างไข่มุก (String of Pearls) ร้อยประเทศต่าง ๆ เอเชียเข้าด้วยกัน
ประการที่ 5 สร้างยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทร (Two Ocean Strategy) ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไทยมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางยุทธศาสตร์
ประการที่ 6 สร้างยุทธศาสตร์ Pan-Beibu Gulf Cooperation โดยให้มณฑลกวางตุ้ง กวางสี และไหหลำ เป็นจุดเชื่อมอาเซียน
ประการที่ 7 สร้างยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives หรือเส้นทางสายใหม่ทางบกและทางทะเล
ประการที่ 8 การสร้างระบบการระดมทุนเพื่อการพัฒนาใหม่ : ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure. Investment Bank : AIIB)
ประการที่ 9 สร้างการระดมทุนเพื่อการพัฒนาใหม่ : ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ภายใต้กลุ่มบริกส์ (BRICS)
ประการที่ 10 การเกิดระบบสร้างเสถียรภาพของการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน : มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีหรือ CMIM (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)
ประการที่ 11 ยุทธศาสตร์ทางการเงิน โดยทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากยิ่งขึ้น และให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ และใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศ
ประการที่ 12 การเกินเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ทั้ง Fin Tech และ Tech Fin รวมทั้งเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) เช่นเดียวกับ Blockchain และ การสร้างเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank Digital Currency) รวมไปถึงการทำเงินหยวนดิจิทัล ที่ได้รับการการันตีโดยธนาคารกลาง ประการที่ 13 จีนประกาศนโยบาย Made in China 2025 และ ประการที่ 14 การประกาศเป็นประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายในปี ค.ศ.2030
ดร.สุรเกียรติ์ ยังมองว่า ด้วยเหตุผลทั้ง 14 ข้อนี้ แม้จะเห็นว่าจีนมีความสำคัญ แต่จีนจะเขย่าโลกไม่ได้ทั้งหมดถ้าไม่มีคู่แข่ง ดังนั้นจึงต้องมาดูปัจจัยของจีนว่าจะแข่งกับชาติมหาอำนาจอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา ได้หรือไม่ โดยมีปัจจัยการแข่งขันต่าง ๆ ดังนี้ 1.การแข่งขันทางเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และ Cyber Security 2.การแข่งขันในการมีอิทธิพลในเอเชีย 3.การแข่งขันกันหามิตรผ่านกรอบความร่วมมือด้านต่าง 4.การแข่งขันหามิตรผ่านการทูตเชิงสุขภาพ โดบเฉพาะในช่วงการเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 5.การแข่งขันด้านความคิดริเริ่มในด้านต่าง ๆ 6.การแข่งขันในกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค 7.การแข่งขันด้านค่านิยมระหว่างประเทศ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ด้านสิงแวดล้อม หรือด้านธรรมาภิบาล 8.การแข่งขันกันวิจารณ์จุดอ่อน 9.การแข่งขันสร้างภาพเชิงลบต่อกันและกันในสาธารณะ และ 10.การแข่งขันในการวางจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศ ให้มีความชัดเจน ยืดหยุ่น และปรับตัวได้
อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทยเองนั้น จะสามารถปรับตัวอยู่อย่างไรภายใต้สถานการณ์จีนเขย่าโลก ซึ่งมีเรื่องที่สำคัญต้องเร่งดำเนินการ ดังนี้
1.ไทยต้องเข้าใจยุทธศาสตร์และนโยบายของจีน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างลึกซ้ำและเพียงพอ
2.ไทยต้องเข้าใจยุทธศาสตร์และการแข่งขันด้านการต่างประเทศของชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ
3.ไทยต้องสร้างสมดุลในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ ทั้งจีนและสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดให้ได้ โดยไม่เลือกประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อดูว่ายุทธศาสตร์ใดที่ส่งผลประโยชน์กับประเทศ
4.ไทยต้องมีความแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และอาเซียน ในการสร้างสมดุลกับชาติมหาอำนาจ หลังจากชาติมหาอำนาจต่าง ๆ กำลังเฝ้ามองภูมิภาคอาเซียนเพื่อเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค
5.ไทยต้องมีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับชาติมหาอำนาจในระดับรอง เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เพื่อถ่วงให้เกิดสมดุลระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเสนอว่า ประเทศไทยต้องเข้าหาอินเดียมากกว่านี้ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
6.ไทยต้องมีจุดยืนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสมดุลในปฏิสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจในหลาย ๆ ด้าน
7.ไทยต้องดึงประโยชน์จากยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจที่มีต่อเศรษฐกิจ และสังคมไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ทางด้านต่างประเทศให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การดึงดูดความร่วมมือในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่นเดียวกับความร่วมมือทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย
ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยสรุปแล้วประเทศไทยจะอยู่อย่างไร เรื่องนี้ก็คงต้องอยู่แบบไทย ๆ ไปเหมือนเดิม แต่ต้องอยู่แบบใกล้ชิดกับชาติมหาอำนาจทุกฝ่าย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมทั้งมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดขึ้น เร็วขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องปรับตัวเร็ว เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยชาญฉลาดแต่อาจช้าเกินไป และไม่ทันกับการที่จะได้รับประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนสุดท้ายขอให้เร่งประสานองคาพยพ และภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยอยู่ได้ท่ามกลางจีนและชาติมหาอำนาจที่กำลังเขย่าโลกอยู่ในปัจจุบัน