สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า แม้ในช่วงต้นปีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงบ้างจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนได้รับผลบวกจากการส่งออกที่ยังขยายตัว แต่อาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการดำเนินการของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง ส่วนการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อน สอดคล้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.เงินกู้ที่คงเหลือหลังจากใช้ไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้น หากสถานการณ์ไม่ลากยาวจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่มาก เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% และ 0.07% ของมูลค่าการค้ารวม ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้นสู่ระดับสูงในรอบหลายปี จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 2.0%
ด้านการท่องเที่ยวหลังจากไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 หนุนให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกว่า 3 แสนคน ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีก่อน และล่าสุดเดือนมกราคมมีจำนวน 133,903 คน นอกจากนี้ จากการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 (ศบค.) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีมติปรับปรุงมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test & Go จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่นักเดินทาง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยว โดยรัสเซียนับเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรกตั้งแต่ไทยกลับมาเปิดประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเอง (Foreign Individual Tourism : FIT) และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง ส่วนตลาดยูเครน ยังมีเพียงเล็กน้อยและเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแบบเช่าเหมาลำ โดยหากสถานการณ์มีความรุนแรงแผ่ลามกว้างขึ้นในยุโรป จนกระทบต่อเส้นทางการบินจะเพิ่มความลำบากในการเดินทางของนักท่องเที่ยว การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวได้
ส่วนการโจมตียูเครนของรัสเซียส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวน ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรทวีความรุนแรง ราคาน้ำมันดิบพุ่งเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่ปี 2557 ความตึงเครียดดังกล่าวกระทบราคาพลังงานเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกก๊าซไปยังยุโรปผ่านทางท่อส่งในยูเครน นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด วิจัยกรุงศรีประเมินว่าในเบื้องต้น สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ กดดันกำลังซื้อ ต้นทุนการผลิต และสร้างความยากลำบากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงอาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนไมโครชิปเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตก๊าซนีออนและแร่พัลลาเดียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ภาวะสงครามและการคว่ำบาตรที่รุนแรงอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากกับรัสเซีย ทั้งในแง่พลังงาน ภาคเศรษฐกิจ และภาคการเงิน
ด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสัญญาณบวกในตลาดแรงงาน และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตและภาคบริการ โดย Flash PMI ล่าสุดฟื้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือนหลังการระบาดของโอมิครอนคลี่คลาย ขณะที่แรงกดดันด้านราคายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้อาจหนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตในยูเครนรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว อาจกดดันการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยของเฟดหลังเดือนมีนาคม
และสัญญาณกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญความไม่แน่นอนจากมาตรการควบคุมบริษัทด้านเทคโนโลยี ในเดือนมกราคมยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 0.9% YoY เติบโตอีกครั้งในรอบ 9 เดือน ขณะที่ราคาบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 0.1% MoM กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้สัญญาณปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ภายหลังจากทางการจีนทยอยออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยล่าสุด บริษัทเฉินโรอาจผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดไถ่ถอนในเดือนมีนาคมนี้ ขณะเดียวกันทางการจีนยังส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการควบคุมธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมตาเวิร์สของเทนเซนต์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีและตรวจสอบธุรกรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับบริษัทแอนท์กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบา ปัจจัยเหล่านี้อาจช่วยดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว แต่อาจกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะนี้