xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุมหัวสกัด“ไพบูลย์” “บิ๊กป้อม”ถูกลูบคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - ไพบูลย์ นิติตะวัน - สาธิต ปิตุเตชะ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นานๆ จะเห็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เสียรังวัด หลังส่งสัญญาณให้วิปรัฐบาลทราบว่า จะแต่งตั้ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

แต่พอถึงเวลาจริง ชื่อของไพบูลย์ กลับแหกโค้ง กลายเป็นชื่อของ “เสี่ยตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เบียดเข้าวิน

เล่นเอา “บิ๊กป้อม” หัวเสียอย่างไรที่วิปรัฐบาลไม่มาตามนัด จนทำให้ชื่อของ ไพบูลย์ ปราชัย ถึงขนาดสอบถามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า มันเกิดอะไรขึ้น

คิวนี้ถูกจับจ้องกันเยอะว่า เป็นการลองของ “บิ๊กป้อม”ว่าขลังอยู่หรือไม่

แต่ว่ากันว่า มันไม่ได้ถึงขนาดต้องการลูบคมพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อะไร เพียงแต่แค่ไม่พึงประสงค์กับรายชื่อประธานคณะกรรมการวิสามัญที่ชื่อไพบูลย์เท่านั้น

กรรมาธิการวิสามัญรายอื่นๆ ไม่ต้องการให้ “ไพบูลย์” เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพราะรู้สึกไม่พอใจตั้งแต่สมัยนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ซึ่งมีไพบูลย์ เป็นรองประธาน ที่มักจะตัดบท ไม่ให้โอกาสกรรมาธิการคนอื่นๆ จนทำให้บรรยากาศที่ประชุมเกิดปัญหาบ่อย

มันเลยเกิดรายการสุมหัวสกัด ไพบูลย์ไม่ให้นั่งเก้าอี้ โดยมีทั้งกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาร่วมมือกัน
เริ่มตั้งแต่การที่พรรคเพื่อไทย ปฏิเสธที่จะเสนอชื่อประธานกรรมาธิการแข่งกับฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่โดยปกติจะต้องส่งคนแข่งขัน กลับกันพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล กลับไปหยิบชื่อกรรมาธิการในซีกรัฐบาลแทน

พรรคเพื่อไทย นั้นรู้อยู่แล้วว่า ต่อให้ส่งชื่อประธานกรรมาธิการเข้าแข่งกับฝ่ายรัฐบาล เสียงในมือย่อมสู้ไม่ได้ เพราะอีกฝั่งกุมเสียงข้างมากในกรรมาธิการอยู่ จึงเปิดปฏิบัติการ ‘วางสนุ้ก’ โดยการไปหยิบชื่อกรรมาธิการโควตาคณะรัฐมนตรีคือ สาธิต ขึ้นมาเสนอแข่ง

สำหรับ “ไพบูลย์” และ “สาธิต” ต่างเป็นกรรมาธิการในโควตาคณะรัฐมนตรีกันทั้งคู่ เมื่อเกิดการแข่งขัน โดยชื่อชั้นอย่างไร สาธิตก็ดูเหนือกว่า เพราะเป็นรัฐมนตรี เหมาะสมกับร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ซึ่งเป็นของคณะรัฐมนตรี

และการเสนอชื่อของ สาธิต ยังเป็นการเปิดทางให้กรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลคนอื่นๆ ที่ไม่ต้องการให้ ไพบูลย์ เป็นประธาน สามารถโหวตให้กับสาธิตได้ เพราะอย่างไรก็เป็นคนจากฝั่งรัฐบาล

พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ผสมปนเปกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาบางคน มันจึงทำให้คะแนนของ สาธิต มีมากกว่า ไพบูลย์ ที่มีเสียงจากกรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่สามารถขัดคำสั่งของ“บิ๊กป้อม” ได้

 และถ้าให้โหวตกันแฟร์ๆ คะแนนของ “สาธิต” มีโอกาสจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะย่อมมีกรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐมาโหวตให้ เพียงแต่ไม่สามารถทำตัวแตกแถวจากสิ่งที่ “บิ๊กป้อม” มีบัญชา

กรรมาธิการจากพรรคพลังประชารัฐหลายคนเองก็หงุดหงิดกับชื่อ ไพบูลย์ เพราะแต่เดิมต้องการสนับสนุนให้ “ปลัดโด่ง” วิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานกรรมาธิการ

“ปลัดโด่ง”นั้น เป็นคนปลุกปั้นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ร่วมกับยกร่างกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล จนเป็นที่พอใจ นอกจากนี้ตอนยื่นร่างต่อสภา ก็มีชื่อ ปลัดโด่ง เป็นคนเสนอร่าง

แต่หลังรับหลักการกฎหมายลูก 2 ฉบับ ในวาระที่ 1 ปรากฏว่า “ไพบูลย์” กระเหี้ยนกระหือรือ อยากจะเป็นประธานกรรมาธิการ เลยวิ่งไปหา “บิ๊กป้อม” หว่านล้อมสารพัด เพื่อให้ตัวเองสมปรารถนา โดยมีกุนซือใหญ่อย่าง “วิรัช” คอยช่วย กระทั่ง บิ๊กป้อม เออออห่อหมก
 
เรื่องนี้คนในพรรคพลังประชารัฐหลายคนไม่พอใจ แต่พูดไม่ได้ในเมื่อเป็นบัญชาของผู้เป็นนาย ยกเว้นพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ที่คิดกลเกมออกว่า จะสกัดไพบูลย์ อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคภูมิใจไทยแทบจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการเขี่ยชื่อไพบูลย์ ออกจากสารบบ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ร่วมขบวนการแบบแยบยล

เห็นได้จากคนที่เสนอชื่อ สาธิต ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญคือ “เกษมสันต์ มีทิพย์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นงูเห่าของพรรคภูมิใจไทย

ในกรรมาธิการชุดนี้ มีงูเห่าพรรคก้าวไกล ที่อยู่ภายใต้คอนโทรลของพรรคภูมิใจไทย ถึง 3 คน ที่ร่วมกันโหวตให้ สาธิต ขณะที่ สาธิต ย่อมต้องรู้ว่าตัวเองจะถูกเสนอชื่อ เพราะอย่างไรต้องแจ้งกันก่อน

พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลเอง ก็ไม่ได้สามัคคีอะไรกับพรรคร่วมรัฐบาล เพียงแต่มีเป้าประสงค์เดียวกันเท่านั้นคือ ขวางทางไม่ให้ ไพบูลย์ สมหวัง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นปฏิบัติการสุมหัวสกัด ไพบูลย์

พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาที่โหวตให้ สาธิต เองก็ไม่ได้หักกับรัฐบาล เพราะสุดท้าย สาธิต ก็คือคนของคณะรัฐมนตรีอยู่ดี

แต่อย่างไรก็ดี การที่ ไพบูลย์ วืดเก้าอี้หนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บิ๊กป้อม” เองกำลังถูกท้าทายจากพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์

และดูเหมือนความขลังของ “บิ๊กป้อม” เริ่มจะลดลง ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มีเหตุมาจากความผิดใจกันระหว่าง บิ๊กป้อม และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้เสียงของพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภา แตกออกเป็นสองทาง

เมื่อ 2 ป. ไม่เป็นปึกแผ่น ก็เปิดช่องให้พรรคภูมิใจไทย ที่กำลังตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับเกมในสภา

จับตาดูดีๆว่า กฎหมายลูก 2 ฉบับนี้ อาจจะออกมาไม่เป็นดังใจ 2 ป. เพราะตัวประธานก็ไม่ใช่คนจากพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยเอง ไม่ได้มีแค่เสียงกรรมาธิการของพรรคตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีงูเห่าจากพรรคก้าวไกลอีก

มันเริ่มเห็นหายนะลางๆ แล้วว่า การที่ “บิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่” แยกกันเดิน สร้างความอ่อนแออย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น