เมืองไทย 360 องศา
“ใครจะปรับเหรอ คุณจะปรับเหรอ ไม่ได้ปรับอะไรทั้งนั้น”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อถูกถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวว่า จะไม่รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป หากมีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อฟังน้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 มีนาคม หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจะเห็นว่ามีอารมณ์ค่อนข้างหงุดหงิดกับคำถาม เพราะนอกจากคำพูดดังกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส แล้ว เขายังระบุถึงรายงานข่าวที่ว่า มีโพยรายชื่อ ส.ส.จำนวน 260 คน ที่สนับสนุนรัฐบาล โดยย้ำว่า “ฝันไปหรือเปล่า และในจำนวนนั้น ไม่มีชื่อของ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย อย่างแน่นอน”
จะด้วยคำพูดทั้งสองกรณีดังกล่าวหรือไม่ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอารมณ์หงุดหงิด และแก้เกมด้วยการย้ำว่า “ไม่ปรับอะไรทั้งนั้น” ความหมายก็คือ ยืนยันว่า ไม่ปรับคณะรัฐมนตรี
ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะมีชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ เขาถูกปลดเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังจากมีรายงานความเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปิดอภิปรายซักฟอกของฝ่ายค้าน เมื่อหลายเดือนก่อน
อย่างไรก็ดี ในความหมายว่า “ไม่ปรับ” ก็ไม่ใช่ว่า “ปิดประตูตาย” เลยทีเดียว แต่น่าจะหมายถึง “ยังไม่ปรับคณะรัฐมนตรีในตอนนี้” มากกว่า เพราะยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากยังเป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา จะเปิดสภาสมัยสามัญอีกครั้งก็ราวกลางเดือนพฤษภาคม มีเวลาอีกสองสามเดือน ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อน
แต่ขณะเดียวกัน เมื่อประเมินจากสถานการณ์ข้างหน้าแล้ว ก็ยังค่อนข้างมั่นใจได้ว่า “ต้องปรับแน่” หากจะอยู่ยาวเพื่อประคองสถานการณ์ให้ครบเทอมแบบไม่ต้องลุ้นจนหวาดเสียวมากนัก
และจากคำพูดแบบนี้ ท่าทีแบบนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกหารือแบบไม่เป็นทางการกับบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และแกนนำมุ้งต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐทันทีเหมือนกัน
มีรายงานว่า ช่วงหลังเลิกการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ ได้เรียกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค พปชร. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการพรรค พปชร. และ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เข้าหารือนอกรอบ ในห้องสีเหลือง ภายในตึกสันติไมตรี ประมาณ 20 นาที
โดยนายกฯ ได้สอบถามเรื่องการประชุมเลือกประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง ว่า “เป็นอย่างไรบ้าง เกิดอะไรขึ้น และทำไม นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ถึงไม่ได้เป็นประธาน เป็นเพราะอะไร แต่เป็น นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมาธิการแทน”
ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นรัฐมนตรี ได้ชี้แจงรายละเอียดในส่วนของพรรคตนเองให้นายกฯรับทราบ ขณะที่วงหารือแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ถึงสาเหตุดังกล่าว ว่า นายไพบูลย์ มีบุคลิกตรงๆ อาจจะไม่สามารถประสานกับพรรคอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน จึงมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อมาเป็นนายสาธิต ซึ่งคาดว่า แต่ละพรรคการเมือง ได้มีการพูดคุยหารือกันก่อนหน้านี้แล้ว และเห็นว่า ประธานกรรมาธิการควรเป็นระดับรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะบุคลิกของ นายสาธิต มีอัธยาศัยดี และบุคลิกเปิดประสานงานได้ทุกพรรคการเมือง
ขณะที่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ขอยุ่งเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของสภา และ พล.อ.ประวิตร ไปจัดการ แต่คราวหลังจะต้องพูดคุยกันให้ใกล้ชิดมากกว่านี้
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร กล่าวสอบถามเช่นกันว่าเกิดอะไรขึ้นตอนโหวต จะต้องไปหาสาเหตุของเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อาจจะพูดคุยกันไม่เข้าใจ และหลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร ก็ได้เดินทางมาประชุมพรรคพลังประชารัฐทันที พร้อมกับให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า พรรคเศรษฐกิจไทย และกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังสนับสนุนรัฐบาล
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว ถึงความเป็นไปได้ในการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งยังเชื่อว่าเป็นไปได้มากกว่าการไม่ปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเวลานี้เสียงของรัฐบาล (หากตัดเสียงของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส 18 เสียง) ถือว่า “ปริ่มน้ำ” เพราะเกินกึ่งหนึ่งมาราว 8-10 เสียง มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงต่อเสถียรภาพ อีกทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้ว่ากลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จะแตกตัวออกไปแล้ว แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม ที่ก่อนหน้านี้ ก็มักมีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส.บางคนในลักษณะสวนทางให้เห็นมาตลอดเช่นเดียวกัน
อีกทั้งด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำแบบนี้ สำหรับบางพรรคแม้ว่าจะยืนยันด้วยเสียงสนับสนุนที่เป็นเอกภาพ อย่างพรรคภูมิใจไทย ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่อีกด้านหนึ่งก็ย่อมมีความหมายในทาง “ขี่คอ” เพิ่มพลังต่อรองได้มากขึ้นตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาจากเสียงที่ยังปริ่มน้ำกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และมีเป้าหมายต้องการให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม หรืออย่างน้อยต้องผ่านการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ “เอเปก” ในเดือนพฤศจิกายนนี้ไปก่อน จึงมีความเป็นไปได้ที่น่าจะปรับคณะรัฐมนตรีมากกว่าไม่ปรับ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเกิดขึ้นก่อนเปิดสมัยประชุม
ขณะเดียวกัน แนวทางที่ต้องจับตา ก็คือ การดึง ส.ส.จากพรรคเศรษฐกิจไทย มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีที่เหลือโควตาอยู่สองเก้าอี้ และมั่นใจว่า ไม่มีชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส แน่นอน เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอามากกว่า ไม่ใช่ ร.อ.ธรรมนัส ไม่เอา โดยอาจใช้วิธีแยกสลายมาบางส่วน และคนที่น่าจะเต็งรัฐมนตรีค่อนข้างแน่ คือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ว่าที่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย สายตรง “บิ๊กป้อม” นั่นแหละ ส่วนอีกหนึ่งเก้าอี้ ก็ยังเป็นไปได้ที่อาจเป็น “เงา” ของ ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่ก็เป็นไปได้
นั่นคือ หนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดก่อนเปิดสภา เพื่อสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลผสมให้ลากยาวต่อไป ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อประเมินสถานการณ์แล้ว ยังเชื่อว่า ยังไม่มีใครอยากให้ยุบสภาก่อนกำหนด ทั้งเรื่องความไม่พร้อม ไม่อยากเลือกตั้งเร็ว ซึ่งรวมไปถึงพรรคเพื่อไทยที่ยังต้องรอกฎหมายลูกสองฉบับให้เสร็จก่อน ซึ่งไม่ว่าจะเร่งอย่างไรก็ต้องรอไปถึงเดือนกรกฎาคม หรือนานกว่านั้น
หรืออีกทางหนึ่ง หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดลาออกขึ้นมาจริงๆ ในสถานการณ์ปั่นป่วนทั้งในและต่างประเทศแบบนี้ คิดหรือว่า พรรคเพื่อไทยจะรับมือไหว พิจารณาจากรายชื่อแคนดิเดตนายกฯเวลานี้ ก็เหลือเพียง นายชัยเกษม นิติสิริ ส่วนคนอื่น ทั้ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็แยกไปตั้งพรรคใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯแล้ว ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ คิดว่า นายชัยเกษม และพรรคเพื่อไทย จะเอาอยู่หรือ และในช่วงปลายเทอมแบบนี้ใครเข้ามาย่อมไม่เป็นผลดีแน่นอน ซึ่งความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยเวลานี้ก็แค่ลีลาตามบทนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์และความจำเป็นรอบด้านแล้ว ยังมั่นใจว่า การปรับคณะรัฐมนตรี ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่ใช่ในช่วงเวลานี้ ยังไม่ต้องรีบร้อน แต่ต้องปรับเพื่อเสริมความมั่นคง และลดแรงกดดัน และเป้าหมายของทุกพรรคให้ลากยาวจนครบเทอมนั่นเอง !!