xs
xsm
sm
md
lg

เช็กอาการ “บิ๊กตู่” กอดคอพรรคร่วมฯไปต่อ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

เมืองไทย 360 องศา



นาทีนี้ยังเป็นเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจมากที่สุด เพราะมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าทางบวกหรือลบ แล้วแต่ว่าใครจะมีทัศนคติออกมาแบบไหน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวล่าสุด ทำให้พอเช็กอาการได้ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลผสมชุดนี้ เริ่มมีความมั่นคงมากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับช่วงก่อน และหลังจากที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไปจากพรรค และไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ เพราะบรรยากาศก่อนหน้านี้ เต็มไปด้วยความอึมครึมในแบบที่รู้ว่ามีความขัดแย้ง แต่กลับไม่มีการแสดงออกที่ชัดเจน

แต่หลังจากที่แยกตัวออกไปสังกัดพรรคใหม่แล้ว แม้ว่ายังมีบรรยากาศอึมครึม ไม่แน่ชัดว่าพรรคใหม่ดังกล่าวจะมีสถานะแบบไหนกันแน่ ระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือ “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” ก็ยังไม่ชัด แม้ว่าระดับ “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะการันตีว่าสนับสนุนรัฐบาลก็ตามที เพราะเมื่อพิจารณาจาก “แบ็กกราวนด์” ของ “ผู้กองแป้ง” ที่ถูกปลดพ้นเก้าอี้รัฐมนตรีมาก่อน ก็ย่อมต้อง “ฝังแค้น” ได้โอกาสก็ต้องเอาคืนอยู่แล้ว กับ “บิ๊กตู่” ถือว่าเป็น “เส้นขนาน” ไม่มีทางบรรจบกันได้ และที่สำคัญ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย่อมรับรู้อยู่ตลอดเวลา

และนั่นคือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า เสถียรภาพของรัฐบาลผสมชุดนี้อยู่ในภาวะง่อนแง่น เนื่องจากเมื่อตรวจนับ ส.ส.ในสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ เหลือเสียงเกินครึ่งในสภา 238 เสียง มาแค่ไม่ถึงสิบเสียง หรือเต็มที่ก็ประมาณสิบเสียง ทำให้อำนาจต่อรองของนายกรัฐมนตรี ลดฮวบลงทันที ซึ่งบรรยากาศในวันนี้ย่อมแตกต่างกับช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ๆ ที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำมากกว่านี้อีก แต่ทำไมถึงฝ่ามาได้ เพราะตอนเริ่มต้นทุกพรรคต่างต้องการให้รัฐบาลอยู่ให้นานที่สุด บรรยากาศของ “สาม ป.” ยังแนบแน่น และ “พลังดูด” ยังร้อนแรง จึงเกิด “งูเห่า” ข้ามพรรค รวมไปถึงการยุบพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล ได้เสียงมาเพิ่มอย่างที่รับรู้กัน

เมื่อวกกลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มีมติขับ ส.ส.ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไปจำนวน 21 คน แต่กลายเป็นว่า เวลานี้ชัดเจนแล้วว่า มีส.ส.แยกทางออกไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยจำนวน 3 คน คือ นายเอกราช ช่างเหลา และนายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสองพ่อลูกกัน และล่าสุดก็เป็น นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทำให้ ส.ส.ที่ตาม ร.อ.ธรรมนัส ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยมีทั้งหมด 18 คน ซึ่งในจำนวนนั้น จากข้อมูลที่ออกมาจากปากของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่อยากย้ายกลับมาพรรคเดิม แต่ติดปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งทำให้มองเห็นได้ว่าในจำนวน 18 คนที่ว่านั้น ไม่ได้เป็นเอกภาพเต็มร้อย อาจเป็นสภาพ “งูเห่าซ้อนอยู่ในงูเห่า” อะไรประมาณนั้น

นั่นเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า หากมองว่าเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแกนนำแล้ว ไม่มั่นใจในเสียงสนับสนุนรัฐบาล ก็แสดงให้เห็นว่า ในจำนวน 18 เสียงที่ว่านั้น ก็มีอีกบางคนที่พร้อมสวิงมาสนับสนุนรัฐบาลหากต้องการเสียงโหวตในวาระสำคัญ เช่น ญัตติซักฟอก หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน แต่ก็อย่างว่า มันก็อาจมีเรื่องของ “กล้วย” เข้ามาเอี่ยวด้วยก็ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับเสียงที่น่าเป็นเอกภาพและพอมั่นใจได้ ก็คือ เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก และในที่นี้ให้โฟกัสไปที่พรรคภูมิใจไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ระยะหลังมี ส.ส.ไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ก็เข้ามาอีก 3 คน ที่ถูกขับออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในกรณีนี้อาจเป็นผลบวกกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่า ดีกว่าปล่อยให้ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ควบคุมเสียงได้ยากกว่า

และจะด้วยมั่นใจในเสียง ส.ส.ดังกล่าวหรือไม่ ไม่รู้ แต่ตามรายงานข่าวระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล ให้ความมั่นใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างหารือกันนอกรอบว่า สามารถหาเสียงสนับสนุนรัฐบาลได้มากถึง 260 เสียง เกินเสียงกึ่งหนึ่งในสภา 238 เสียง พ้นสภาพเสียงปริ่มน้ำ


แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันอีกมุมหนึ่งในทางการเมืองที่ต้องมีการ “ต่อรอง” หรือ “มีข้อแลกเปลี่ยน” บางอย่างที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งกรณีดังกล่าวก็ไม่น่าจะมีข้อยกเว้น อีกทั้งเมื่อพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว เวลานี้ยังเชื่อว่าไม่มีใคร หรือพรรคไหนอยากให้ยุบสภา หรือลงสนามเลือกตั้งก่อนครบวาระแน่นอน โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่กำลังบริหารโครงการสำคัญต่อเนื่องหลายโครงการ มี “งบประมาณ” มหาศาล ทุกอย่าง “กำอยู่ในมือ” อยู่ในมืออยู่แล้ว คงไม่มีใครอยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในอนาคต

หากพิจารณากันเป็นรายพรรค ไล่เรียงกันตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กๆ เป็นต้น เชื่อว่า ยังอยากเป็นรัฐบาลไปจนครบวาระ คงไม่มีใครอยากเลือกตั้งกันในตอนนี้ คงไม่มีใครอยากเหนื่อยในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ รวมไปถึงพรรคเพื่อไทย ในเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร ที่แม้ปากจะเร่งให้ยุบสภาโดยเร็ว แต่เอาเข้าจริงก็คงอยากให้กฎหมายลูกสองฉบับผ่านสภาบังคับใช้เสียก่อน ซึ่งต้องรอไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

เมื่อพิจารณาจากอาการพอใจที่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ทำให้แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีท่าทีพอใจ และระบุว่า อย่างน้อยก็ไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ นายอนุทิน ที่ยืนยันว่า แม้จะมีเสียง ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่จะไม่ต่อรองขอเพิ่มเก้าอี้รัฐมนตรี จะอยู่ไปแบบเดิมจนจบ รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ของ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ที่นาทีนี้ยังมีปัญหาภายใน คงอยากยื้อร่วมรัฐบาลให้นานที่สุดเหมือนกัน

ดังนั้น เมื่อมองอาการจากพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคไล่เรียงกันไปทำให้มั่นใจได้ว่ายังอยากกอดคอเป็นรัฐบาลกันต่อไป อย่างน้อยก็ลากยาวกันพักใหญ่ คงไม่มีใครอยาก “เสี่ยง” โดยไม่จำเป็น ไม่อยากเลือกตั้งโดยที่ต้องเสี่ยงกับอนาคตในวันหน้า ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาการ “ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล” ลงลิตรละ 3 บาท ที่เกิดขึ้นก่อนการอภิปรายในสภาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถือว่า นี่คือ “ทีเด็ดลุงตู่” หรือไม่ เพราะมันปล่อยออกมาแบบได้จังหวะพอดีเป๊ะ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น