xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเริ่มฝุ่นตลบ “บิ๊กตู่”นับถอยหลังยุบสภา!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

บรรยากาศในยามนี้สำหรับคอการเมืองที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่องก็น่าจะพอสัมผัสได้ถึงความอึมครึม และการต่อรองผลประโยชน์เพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้มากที่สุด ลักษณะแทบจะออกมาในแบบที่ “ไม่มีใครฟังใคร”กันแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อพิจารณากันแบบรวมๆ แล้วมันยังไม่มีเงื่อนไขที่ สุกงอมเพียงพอ เพียงแต่ว่า“มันใกล้เต็มที”แล้ว

ขณะเดียวกันสำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงอยากยื้อเวลาให้รัฐบาลให้นานที่สุด นอกเหนือจากยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำในระยะเร่งด่วนสองสามเดือนนี้ หรือหากเป็นไปได้ต้องการให้ลากยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม“เอเปก” ที่ถือว่าเป็นงานระดับโลก เพราะมีผู้นำประเทศมหาอำนาจมารวมกันอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งโอกาสแบบนี้หาไม่ได้บ่อยนัก

หรือก่อนหน้านั้นตามที่ นายดอน ปรมมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ภายในปีนี้ประเทศไทยจะให้การต้อนรับมกุฎราชกุมาร และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบีย มูฮัมหมัด บิน ซัลมานฯ ตามคำเชิญ หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนซาอุฯเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ในระดับปกติ ทุกวาระดังกล่าวถือว่าเป็น “งานช้าง” มีผลในทางบวกกับทางด้านเศรษฐกิจและสถานะของประเทศ

แต่เมื่อวกกลับมาพิจารณาถึงบรรยากาศภายในแล้ว ถือว่า “ไม่ปกติ”เอาเสียเลย พิจารณาจากคำพูดที่เป็นตัวตนให้เห็นชัดเจนก่อน เริ่มจากความเห็นของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยอมรับว่า เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง ปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เกิดให้เห็นบ่อยนัก แต่ก็คิดว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็กำลังพยายามคลี่คลายปัญหานี้ และแก้ปัญหานี้อยู่ สุดท้ายท่านก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าไปดูเพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคขนาดกลาง เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล แต่สิ่งที่ตนได้เรียนย้ำไปหลายครั้งคือ เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพราะเมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ต้องจับมือกันเดินไปข้างหน้า ไม่อย่างนั้นประชาชนก็ไม่รู้จะพึ่งใคร เราก็มีหลักการ หลักเกณฑ์ของเรา ทั้งในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล เรามีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ให้เต็มที่เหมือนที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อมีปัญหาราคาสินค้าเราก็แก้ได้รวดเร็ว เมื่อมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นเราก็จับมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา อะไรที่เกินอำนาจกระทรวง ก็ใช้มติคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจ

สำหรับในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลในระบบรัฐสภา เมื่อมีข้อตกลงอะไรร่วมกัน เราก็เคารพข้อตกลงและเดินหน้าไปตามนั้น ในสภาก็ต้องใช้กลไกวิปเป็นกลไกหลักในการที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะตัดสินใจลงคะแนนไปทางไหน อย่างไร ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ให้ความร่วมมือมาด้วยดีตลอด

ถามว่าในระยะหลังเกิดเหตุสภาล่มบ่อยครั้ง มีหลายพรรคที่ออกไปตั้งพรรคใหม่ มีการโหวตสวนรัฐบาล รวมไปถึงการตั้งกลุ่ม สะท้อนว่าอาจเตรียมการเพื่อสวนมติรัฐบาล จนมีหลายฝ่ายมองว่า อาจทำให้ยุบสภาได้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังไม่อยากมองไกลไปถึงขนาดนั้น และไม่ไปวิจารณ์พรรคการเมืองอื่น หรือกลุ่มการเมืองใด ถือว่าเมื่อท่านเป็นตัวแทนประชาชน ก็มีสิทธิ์ในการที่จะดำเนินทิศทางทางการเมืองตามที่เห็นสมควร ประชาธิปัตย์ก็มีแนวทางของเรา

“แต่ในส่วนของรัฐบาล ท่านนายกฯ ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการลงมาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะต้องลงมาดูลึกเป็นพิเศษ เพราะเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่พรรคแกนนำ ไม่ได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ส่วนของเรา เราก็ให้ความร่วมมือ อันนี้ตัดออกไปได้เลยว่า ไม่มีปัญหาอะไร”

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในสัปดาห์หน้าของฝ่ายค้านว่า ตนไม่มีความกังวลอะไร คงไม่ต้องตั้งวอร์รูม เพราะเรามีวอร์รูมติดตามราคาสินค้า ข้อมูลก็มีอยู่แล้ว เราก็ทุ่มเททำงานกับมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าถ้าถามอะไรมา ก็ยินดีที่จะตอบ ไม่มีปัญหาอะไรเลย อะไรตอบไม่ได้ก็เดี๋ยวขอต๊ะไว้ แล้วจะไปเรียนให้ทราบต่อไป ก็ตรงไปตรงมาอย่างนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อฟังจากน้ำเสียงของ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เหมือนกับว่าให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก ซึ่งความหมายรวมไปถึงกรณีการแยกตัวออกไปของพรรคเศรษฐกิจไทยในทำนองว่า “อาจควบคุมเสียงไม่ได้” อะไรประมาณนั้น

แม้ว่าหากพิจารณาจากปัญหาการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ล่าสุดรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย จำนวน 7 คน บอยคอต ไม่ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาโดยอ้างความเห็นไม่ตรงกันบางประการ เช่น ในเรื่องกฎหมาย เรื่องราคาค่าโดยสาร เป็นต้น แต่หากพิจารณาให้ดีกรณีนี้ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก เพราะสำหรับคอการเมืองแบบ “วงใน” ย่อมรู้ทันกันว่า นี่คือ “เกมต่อรอง” ข้อแลกเปลี่ยนบางอย่าง และถึงอย่างไรหากอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน มันก็ไม่น่ามีปัญหา สามารถคุยกันได้อยู่แล้ว หากทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ นอกเสียจากเป็นเรื่องอื่นก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ย้ำว่าไม่มีปัญหา คุยกันได้ และพรรคร่วมรัฐบาล “แน่นปึ้ก” ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคคงไม่มีพรรคไหนอยากยุบสภาในช่วงนี้แน่นอน เพราะยังมีอีกหลายโครงการ ในปี 65 ที่ต้องดำเนินการ บริหารงบประมาณ นอกเสียจากเกิดอุบัติเหตุไม่คาดหมาย

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากบรรยากาศในยามนี้ก็ต้องถือว่า จากเหตุการณ์ “สภาล่ม” ในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้าง “ภาพลบ” ให้กับส.ส.ทุกพรรค และน้ำหนักยังเทไปยังพรรคฝ่ายค้านมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ในทำนองว่า “เล่นเกม” ไม่มีความรับผิดชอบ หรือทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือนในแบบ “ภาษีกู” เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น หากพิจารณากันในความเป็นไปได้สำหรับความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล นาทีนี้ถือว่ายัง “ไม่สุกงอมพอ” โดยเฉพาะจากปัญหาเรื่อง ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ที่ต้องจับตาก็คือ ปัญหาจากพรรคพลังประชารัฐมากกว่า โดยเฉพาะจากกลุ่มที่แยกออกไปเป็นพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็มีโอกาสจะปรับคณะรัฐมนตรีเพิ่มเก้าอี้เข้ามาสองตำแหน่ง ส่วนจะเป็นตำแหน่งไหน หรือมีใครบ้างนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อยื้อเวลารัฐบาลออกไปได้อีกพักหนึ่ง แต่หากไม่ปรับ ก็เชื่อว่าน่าจะ “นับถอยหลัง” ยุบสภาได้เลย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น