“เพื่อไทย” แนะจับตา ครม. 8 ก.พ.นี้ สอดวาระต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 4 แสนล้าน บ. ดักคอ รบ.ทิ้งทวน ทั้งที่ควรรอผู้ว่าฯ ใหม่ มาตัดสินใจ ปูด “ดร.เอ้” มีส่วนปูทางต่อสัญญา 40 ปี ป้ายพีอาร์เต็มสถานี ถามมีผลประโยชน์หรือไม่ จองกฐินซักฟอก “ประยุทธ์-อนุพงษ์” เชื่อ รบ.พังจากปมนี้แน่
วันนี้ (6 ก.พ. 65) ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเรียกร้องให้จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งจะมีวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป 40 ปี ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) มูลค่า 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ ครม.อนุมัติในช่วงที่กำลังสถานการณ์ทางการเมืองกำลังชุลมุน
“เรื่องนี้มีความผิดปกติมาก เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเดือน พ.ค. ถามว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ผูกพันอนาคตคน กทม. ออกไปอีก 40 ปีข้างหน้า ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เข้ามาตัดสินใจ แบบนี้เรียกว่าทิ้งทวนหรือไม่” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ความไม่โปร่งใสในการต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 40 ปีนั้น ในเส้นทางหลักของบีทีเอสจะหมดสัญญาในปี 2572 ถามว่า แล้วจะเร่งรีบต่อสัญญาไปทำไม ขณะที่ กทม.จะขยายสัญญาสัมปทานโดยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในส่วนต่อขยายเขียวเหนือ และเขียวใต้ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กทม.ควรชำระหนี้ให้ รฟม.เรียบร้อยก่อน เพราะส่วนต่อขยายเขียวเหนือ และเขียวใต้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. กทม.ยังไม่ได้รับโอน ดังนั้น การที่ กทม.จะยกส่วนสัมปทานไปให้บีทีเอสนั้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย หาก กทม.บอกว่า ตัวเองเป็นหนี้เพราะเปิดให้นั่งฟรีตั้งแต่ปี 60 ไม่อยากให้บริการส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้แล้ว ก็ควรเสนอ ครม.ให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 61 และให้ รฟม.ไปดำเนินการเองเพราะเขาเป็นเจ้าของ
“การจะโอนกรรมสิทธิ์มาโดยไม่จ่ายเงินนั่นทำได้หรือไม่ หากตัวเองไม่อยากทำหรือเป็นหนี้ก็โอนกลับไปให้ รฟม.ดำเนินการ และหากบีทีเอสอยากต่อสัญญาในเส้นทางหลัก ต้องแจ้ง กทม.ไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่เกิน 5 ปี ซึ่งแจ้งได้ตั้งแต่ช่วงปี 68 แต่ตอนนี้เพิ่งปี 65 ยังไม่ถึงเวลาที่บีทีเอสต้องแจ้งต่อสัญญาสัมปทาน” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า การที่ กทม.บอกมีภาระหนี้จากการจ้างเอกชนมาติดตั้งระบบการเดินรถ และว่าจ้างให้เอกชนวิ่งรถในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ซึ่งทำตั้งแต่ปี 59 ควรตรวจสอบว่าสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เพราะไม่มีการประกวดราคา ยกให้บีทีเอสวิ่งรถเลย หนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ เรื่องอะไรที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ไปสร้างหนี้ขึ้นมาเป็นหมื่นล้านบาท ปล่อยให้ประชาชนนั่งฟรี จึงสงสัยในเรื่องความโปร่งใส เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เพื่อให้ ครม.ต่อขยายสัญญาสัมปทานหรือไม่ หนี้ก้อนแรกคืองานเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล 2 หมื่นล้านบาท ก้อนที่สองอีก 1 หมื่นล้าน เกิดจากผู้ว่าฯ อัศวิน ให้คนนั่งฟรีตั้งแต่เปิดมาปี 60 จึงเป็นสาเหตุที่จะยกสัมปทานให้เอกชน โดยเรื่องนี้มีผลประโยชน์ก้อนใหญ่โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายสัมปทานให้บีทีเอสตั้งแต่ปี 2572 ไปจบที่ปี 2602 กรณีนี้ต้องมีการศึกษาว่าถ้าให้เอกชนดำเนินการ หรือเอากลับมาเป็นของรัฐดำเนินการเอง ตัวเลขกำไรขาดทุนแบบไหนจะดีกว่ากัน แบบไหนประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์มากกว่ากัน
“มีตัวเลขที่กระทรวงคมนาคมไปศึกษามา พบว่า หาก กทม.ดำเนินการเองหลังหมดปี 72 ไม่ต่อให้บีทีเอส ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ 4.67 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนดำเนินการจะมีกระแสเงินสดสุทธิแค่ 3.26 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐดำเนินการเองมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่าถึง 4.35 แสนล้านบาท” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ ยังได้กล่าวถึง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยว่า นายสุชัชวีร์ เป็น ตัวละครสำคัญเกี่ยวกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62 มีคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีนายสุชัชวีร์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ จากนั้นวันที่ 5 มิ.ย. 62 มีการแต่งตั้งนายสุชัชวีร์ เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นชอบให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่คนค้านเต็มบ้านเต็มเมือง
“ถามว่า ดร.เอ้ (นายสุชัชวีร์) สนิทแนบแน่นกับใคร ถ้าไปขึ้นรถไฟฟ้าทุกสถานีก็จะมีรูปโฆษณาดร.เอ้ ทุกสถานีรวม 450 ป้าย แสดงให้เห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่หรือเปล่า จ่ายเงินกันหรือไม่ เอาเงินที่ไหนมาจ่ายก็จะเกี่ยวพันกันกับบัญชีทรัพย์สินของ ดร.เอ้ อีก” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. พรรคร่วมรัฐบาลจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นชอบให้ผ่านสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปีหรือไม่ เพราะนายสุชัชวีร์เป็นตัวแทนสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แล้วทำไม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงต้องทิ้งทวนโครงการต่อขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีกในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หากต่อสัญญาสัมปทาน ค่าโดยสารไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 65 บาท ผูกพันไปถึง 40 ปีข้างหน้า และต้องถามหาจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่คัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะผิดกฎหมายหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำค่าโดยสารแพงเกินจริง เป็นการผูกขาดตัดตอนเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายเดียวโดยที่ไม่มีการแข่งขัน และสัญญายังเหลือเวลาไปถึงปี 2572 ไม่มีอะไรต้องเร่งด่วน
“พรรคเพื่อไทยเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ในเรื่องนี้ ข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว ชัดเจนมาก คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นชนวนความขัดแย้งทำให้รัฐบาลพัง ตอนนี้คนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว จะมาทิ้งทวนเพื่อเป็นภาระคน กทม.อีก” นายยุทธพงศ์ กล่าว