xs
xsm
sm
md
lg

บัตรเดบิต-เครดิตใบไหนขึ้นรถเมล์-รถไฟฟ้าได้ (เกือบ) ทุกสาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive


หมายเหตุ : บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะเปิดให้ทดลองใช้ระบบ EMV Contactless ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 โดยใช้บัตรเครดิต วีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดของธนาคารทุกธนาคาร โดยไม่ต้องลงทะเบียน และสามารถตรวจสอบรายการเดินทางผ่านทางเว็บไซต์ www.mangmoomemv.com หรือ เว็บไซต์ www.bemplc.com ส่วนบัตรเดบิตและบัตรประเภทอื่นๆ จะขยายการบริการภายในปลายปี 2565


ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9650000008613


(ปรับปรุงล่าสุด 27 มกราคม 2565)

เมื่อวันก่อน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ประกาศว่า เร็วๆ นี้จะเปิดให้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ผ่านระบบ EMV Contactless ด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต

ผู้โดยสารที่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตทุกธนาคาร ซึ่งมีสัญลักษณ์ Contactless รูปใบพัด สามารถแตะบัตรเข้าและออกจากระบบรถไฟฟ้า โดยจะหักเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเครดิต หรือวงเงินบัตรเครดิตโดยตรง

ทันทีที่ประกาศอออกมา นอกจากจะมีคนรอใช้บริการแล้ว หลายคนเห็นว่า “มาสักที”เพราะที่ผ่านมามีความพยายามที่จะออกระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้าจากภาครัฐ ถึงขนาดเคยออก “บัตรแมงมุม”เมื่อปี 2561 แต่สุดท้ายก็เงียบหาย

ขณะที่ รถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ในระหว่างจัดหาอุปกรณ์รับชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless ซึ่งในโลกโซเชียลฯ มีภาพผู้รับเหมาเริ่มติดตั้งอุปกรณ์แล้วในบางสถานี คาดว่าอีกไม่นานน่าจะได้ใช้กัน

ทราบมาว่า ธนาคารกรุงไทยเสนอตัวเป็นผู้ลงทุนทำระบบตั๋วร่วมให้ โดยใช้บัตร EMV Contactless ชำระค่าโดยสาร ซึ่งทยอยปรับปรุงระบบหัวอ่านบัตรโดยสาร ให้รองรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตมาตั้งแต่กลางปี 2564


ปัญหาก็คือ รถไฟฟ้าบ้านเราต่างคนต่างสัมปทาน ต่างผู้ให้บริการ ปัจจุบันมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มบีทีเอส กลุ่ม ช.การช่าง (BEM) กลุ่มซี.พี. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายใต้บริษัทลูกอย่าง รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.

อาจมีคนสงสัยว่า เมื่อรถไฟฟ้าบ้านเราต่างคนต่างสัมปทาน ต่างผู้ให้บริการ ถ้าในอนาคตอันใกล้จะพกบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ให้สามารถแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้ทุกสาย ต้องใช้บัตรของธนาคารไหน?

จะบอกว่าแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้เกือบทุกสาย ก็คงไม่ถูกเลยเสียทีเดียว ยังเหลือ รถไฟฟ้าเอเชีย เอรา วัน ของกลุ่ม ซี.พี. ที่ตอนนี้ยังคงต้องใช้บัตรโดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เดิมไปก่อน เพราะยังไม่ได้เข้ามาบริหารเต็มตัว

รถไฟฟ้าบีทีเอส ใช้ระบบ บัตรแรบบิท (Rabbit) ที่กลุ่มบีทีเอสพัฒนาขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่พ่วงกับบัตรแรบบิท เรียกว่า “บัตรแรบบิทร่วมแบรนด์” เพื่อให้ใช้งานได้ทั้งสองระบบในบัตรเดียว

เท่าที่หาคำตอบคร่าวๆ มีธนาคารที่มีบัตรเดบิตพ่วงบัตรแรบบิทเพียงธนาคารเดียว คือ ธนาคารกรุงเทพ เป็นบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท มาสเตอร์การ์ด (ย้ำว่าต้องเป็น “มาสเตอร์การ์ด” เท่านั้น ถ้าเป็นยูเนี่ยนเพย์ใช้ไม่ได้)


ก่อนหน้านี้ได้ออก บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท ไลน์ เพย์ มาสเตอร์การ์ด แต่ได้หยุดจำหน่ายไปแล้ว เหลือเพียง บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราช (มาสเตอร์การ์ด) ซึ่งเป็นบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ

ปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 599 บาท หากใช้จ่ายผ่านบัตรมาสเตอร์การ์ด ธนาคารจะบริจาคให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 0.2% ของยอดใช้จ่าย (ซื้อของ 100 บาท บริจาคให้ 20 สตางค์)

แต่บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แรบบิท มาสเตอร์การ์ด แบบไม่พ่วงประกันอุบัติเหตุ ยังไม่มี เพราะปัจจุบันบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท มีเฉพาะเครือข่ายยูเนี่ยนเพย์เท่านั้น และไม่มีระบบ Contactless อีกต่างหาก

ส่วนบัตรเครดิต
ปัจจุบันที่ใช้ได้ก็คือ บัตรเครดิตอิออน แรบบิท แพลทินัม ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ส่วนค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท (ฟรีตลอดอายุบัตร เมื่อสมัครผ่านออนไลน์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)

ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพ เคยออกบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ แรบบิท และบัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม แรบบิท ศิริราช ธนาคารกรุงเทพ แต่ได้หยุดเปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อปี 2563 เพราะหมดสัญญากับทางแรบบิทไปแล้ว


บัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่กล่าวมาข้างต้น แบ่งออกเป็นสองฟังก์ชันในบัตรเดียว ได้แก่ ระบบแรบบิท กับระบบ EMV Contactless ของมาสเตอร์การ์ด ที่เรียกว่า MasterCard PayPass

โดยระบบแรบบิท ผู้ใช้จะต้องเติมเงินเข้าไปในบัญชีแรบบิทก่อน ขั้นต่ำ 100 บาท เพื่อแตะเข้าระบบรถไฟฟ้า ส่วนรถเมล์สมาร์ทบัสต้องแตะบัตรสองครั้ง ได้แก่ แตะตอนขึ้นรถ คิดค่าโดยสารสูงสุด กับแตะตอนลงรถเพื่อคืนส่วนต่าง (ถ้ามี)

จากเดิมต้องเติมเงินที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอส และร้านค้าที่ร่วมรายการ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน My Rabbit (เฉพาะมือถือที่รองรับระบบ NFC) เติมเงินได้โดยเชื่อมแอปฯ ธนาคาร ได้แก่ Bangkok Bank และ SCB Easy

ส่วนระบบ EMV Contactless ที่จะให้บริการกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และสายสีแดงเร็วๆ นี้ แม้จะยังไม่เปิดเผยขั้นตอนว่าต้องลงทะเบียนก่อนหรือไม่ แต่จะหักเงินจากบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเดบิต หรือวงเงินบัตรเครดิต

ที่ผ่านมาการแตะจ่ายค่ารถเมล์ เรือไฟฟ้า และค่าทางด่วน เนื่องจากคิดค่าโดยสารหรือค่าผ่านทางเพียงครั้งเดียว จึงแตะบัตรเพื่อชำระเงินเพียงครั้งเดียว ระบบจะแจ้งเตือนผ่าน Notification ในแอปฯ ธนาคาร หรือ SMS Alert (ถ้ามี)

นอกจากนี้ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ สามารถซื้อตั๋วผ่านเครื่อง EDC ที่มีให้บริการที่จุดจำหน่ายตั๋ว มักจะเป็นสถานีหรือสาขาใหญ่ๆ และเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนต่างๆ

แม้การจ่ายค่ารถไฟฟ้าผ่านระบบ EMV Contactless จะทำให้ประชาชนไม่ต้องพกบัตรโดยสารหลายใบ แต่การผลักดัน "ระบบตั๋วร่วม" ยังคงมีอยู่ต่อไป เพราะเมื่อผู้ให้บริการรถไฟฟ้าต่างค่าย ต่างสัมปทาน ประชาชนต้องจ่ายแพง

อย่างน้อย การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าข้ามระบบ เช่น จากรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปลี่ยนสถานีไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถ้าไม่มีค่าแรกเข้าประมาณ 15-16 บาท ประชาชนจะโดยสารรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงบ้าง

รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้บัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือตั๋วเดือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง การมีตั๋วร่วมจะทำให้นักเรียน นักศึกษาจ่ายค่าโดยสารถูกลงบ้างเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น