นับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ที่ประชุมสภาฯ ล่มเพราะ ส.ส.เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมบ่อยๆ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบในการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ อันเป็นหน้าที่โดยตรงของ ส.ส.ทุกคน ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และในขณะเดียวกัน สะท้อนถึงความแตกแยกในหมู่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะเสียงข้างมากในการออกเสียงสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองที่รัฐบาลนำเสนอต่อสภาฯ และที่เกิดปรากฏการณ์แตกแยกระหว่างส.ส.ฝ่ายรัฐบาลด้วยกัน โดยเฉพาะ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ มิได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคด้วยซ้ำ จึงอนุมานได้ว่า ความแตกแยกระหว่าง ส.ส.กับฝ่ายรัฐบาล น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และได้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ มิได้มีความสัมพันธ์กับพรรคในทางนิตินัย (แต่มีความสัมพันธ์กับพรรคในทางพฤตินัย โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของ 3 ป.ซึ่งกำกับดูแลพรรคนี้)
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีช่องว่างทางการเมืองกับ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อใดก็ตาม ที่เกิดความขัดแย้งกับ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะต้องพึ่งบารมีของพล.อ.ประวิตร เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้ง
แต่ในระยะหลังดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร ไม่ราบรื่นเฉกเช่นกาลก่อน จะเห็นได้จากกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นตัวอย่าง
2. พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคเฉพาะกิจตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสืบทอดอำนาจโดยมี ส.ว.เป็นกำลังหลัก
อีกประการหนึ่ง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ โดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.เก่าที่ถูกดึงมาจากพรรคการเมืองเก่า โดยเฉพาะพรรคคู่อริกับพล.อ.ประยุทธ์ คือ พรรคเพื่อไทย ดังนั้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาจากการล้มเหลวในการบริหาร เฉกเช่นในปัจจุบันนี้ ส.ส.หลายคนเริ่มจะมองหาที่พึ่งทางการเมืองใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ถ้าหากมีการยุบสภาฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบกับจุดหักของการเข้ามาเป็น ส.ส.ทุกคนต้องการตำแหน่งทางการเมืองหรืออย่างน้อยพรรคที่ตนเองสังกัดได้เป็นรัฐบาล
ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีโอกาสแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง แต่สถานภาพของพล.อ.ประยุทธ์ วันนี้ถ้ามีการยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่ โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้กลับคืนสู่ตำแหน่งเป็นไปได้ยาก จึงทำให้ ส.ส.ส่วนหนึ่งตีตัวออกห่าง
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะนำพารัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อไปจนครบเทอมเป็นไปได้ยาก แต่แนวโน้มที่เส้นทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จะจบลงด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออกเป็นไปได้มากกว่าที่จะอยู่ครบเทอม
ไม่ว่าจะยุบสภาฯ หรือลาออก ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยวันนี้ จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนโดยรวมเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ประการคือ
1. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย ไม่พร้อมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบนี้ จะเห็นได้จากการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันอย่างดาษดื่น อันเป็นช่องทางให้นักธุรกิจการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐ และกอบโกยผลประโยชน์คืน ในทำนองเดียวกันกับการทำธุรกิจทั่วๆ ไป
2. บุคลากรทางการเมืองส่วนใหญ่มองเห็นประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องก่อนมองเห็นประโยชน์ของประเทศ และประชาชน เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ จึงทำให้ความก้าวหน้าที่ประเทศควรจะได้รับมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้น ทางออกที่ควรจะเป็นในขณะนี้ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกและเปิดโอกาสให้สภาฯ สรรหานายกฯ คนใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดยยึดประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลักเข้ามาบริหารประเทศ แล้วตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแล้วแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปฏิรูปแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งใหม่จะดีที่สุด