xs
xsm
sm
md
lg

หลักการที่บิดเบี้ยวของเพื่อไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



รัฐสภาของเราก่อสร้างด้วยงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และเป็นรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในสภาฯ มีสิ่งอำนวยพร้อมสรรพ ทั้งด้านการทำงานและสันทนาการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ แม้จนถึงขณะนี้เราไม่รู้เลยว่า เราต้องสร้างรัฐสภาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไปทำไม

ใครมีเหตุผลที่ดีพอว่าทำไมเราต้องสร้างรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกลองอธิบายให้ฟังที

แต่เราก็ล้วนต่างคาดหวังกันว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ส.ส.ต่างเป็นตัวแทนของเราเพื่อทำหน้าที่ในสภาฯ และรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อสภาฯ ล่มเพราะมีผู้มาประชุมไม่ครบ หนำซ้ำเหตุผลที่มาไม่ครบไม่ใช่เพราะ ส.ส.ติดธุระจำเป็นไม่สามารถมาประชุมสภาฯ ได้ แต่เหตุผลเพราะไม่ยอมแสดงตนทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในสภาฯ นั่นแหละ

ขณะนี้มีการถกเถียงกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทยเล่นเกมให้สภาฯ ล่มโดยไม่ยอมแสดงตนเพื่อนับองค์ประชุมในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ทำให้มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง โดยพรรคเพื่อไทยอ้างว่า เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งกันใหม่ พร้อมกับอ้างว่า หน้าที่ในการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมาก

นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุแสดงให้เห็นว่า “รัฐบาล พอได้แล้ว ..หมดความชอบธรรมที่จะบริหารต่อไป” แต่บางคนไม่เข้าใจ บางคนแกล้งไม่เข้าใจ ที่...พรรคเพื่อไทย กำลังเดินแนวทางการเมืองปัจจุบัน คือการทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลเสียงข้างมาก…ในฐานะและบทบาทของเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย…หลักการง่ายๆ ในระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลตามสิทธิของเสียงข้างน้อย ตามหลักการ องค์ประชุมเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องทำให้ครบองค์ สภาฯ ล่มจึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของรัฐบาล ถ้าทำไม่ได้ก็บริหารไม่ได้ ควรแสดงความรับผิดชอบ... “ลาออกไป” เข้าใจมั้ย “ลุงตู่”

นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส.น่าน เขียนข้อความ ระบุว่า “การตรวจสอบองค์ประชุม” คือการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ที่ไม่ยอมให้รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ สืบทอดอำนาจอยู่ต่อไปด้วย การมี ส.ส.รัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ผู้แทน ขัดหลักการ “ปกครองด้วยเสียงข้างมาก เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย” การไม่เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นการตรวจสอบรัฐบาล

คนที่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจช่วยบอกหน่อยเถอะว่า ความเห็น ความคิด และการแสดงออกของแกนนำพรรคเพื่อไทยทั้งสองคนนั้นถูกต้องหรือไม่ การเข้าประชุมสภาฯ ของ ส.ส.คือการเป็นองค์ประชุมให้รัฐบาลเช่นนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นช่วยอธิบายว่าหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านคืออะไร มีหน้าที่เพียงทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้เพื่อให้ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่เท่านั้นหรือ

พูดง่ายๆ ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะบอกว่า พรรคฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประชุมสภาฯ เพราะไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล หรือกำลังจะบอกว่าเมื่อได้รับเลือกจากประชาชนเข้ามาในสภาฯ แล้ว ถ้าเป็นพรรคฝ่ายค้านจะเข้าร่วมประชุมสภาฯ ก็ได้หรือไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้

แล้วถามว่า ส.ส.ฝ่ายค้านรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็น ส.ส.เท่ากับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไหม รู้หลักการแบ่งแยกอำนาจไหม หรือการเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลมีสถานะแตกต่างกันไหม ก็ไม่เลย

ถามว่าถ้าเช่นนั้นเราจะมี ส.ส.ไปทำไม เราจะแยกอำนาจนิติบัญญัติจากฝ่ายบริหารทำไม แม้จะอ้างว่า ระบบรัฐสภาของเราเป็นระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจไม่เด็ดขาดระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารจะต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่โดยหลักการแล้ว ส.ส.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็มีการทำหน้าที่แยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจนใช่ไหม

เราคงจะต้องตั้งคำถามกับฝ่ายค้านที่มาประชุมแต่ไม่แสดงตนเพื่อให้สภาฯ ล่มว่า หน้าที่ของ ส.ส.หรือฝ่ายนิติบัญญัติคืออะไร คำตอบก็คือ ส.ส.มีหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายใช่หรือไม่ และหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีสถานะเท่ากันใช่หรือไม่ แล้วทำไมหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุมของสภาฯ จึงเป็นของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

เราต้องแยกการออกกฎหมายกับการตรวจสอบของการทำงานรัฐบาลหรือไม่ การตรวจสอบรัฐบาลก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีทั้งแบบลงมติและไม่ลงมติ การอภิปรายแบบลงมตินั้นต่างหากที่พรรคฝ่ายค้านจะต้องโหวตเพื่อคว่ำรัฐบาลให้ได้เป็นเรื่องของการใช้เสียงข้างมากข้างน้อย แต่ในวาระที่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายมันเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนไม่ใช่หรือ

เพราะสภาวะสภาฯ ล่มที่ผ่านมาหลายครั้งนั้นเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายของ ส.ส.ทั้งสิ้นไม่ใช่การตรวจสอบรัฐบาลเลย เป็นเพียงการเล่นเกม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำหน้าที่ร่วมกันของ ส.ส.ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ถ้ากฎหมายไหนมีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติก็ช่วยกันโหวตให้ผ่าน แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ช่วยกันโหวตคว่ำไม่ว่าเสนอโดยฝ่ายไหน

ส่วนถ้าร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลถูกโหวตคว่ำเพราะ ส.ส.รัฐบาลมาประชุมน้อยกว่าฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออกอยู่แล้ว ถ้าคิดว่าเสียงของรัฐบาลในขณะนี้ปริ่มน้ำฝ่ายค้านคิดว่าเสียงของฝั่งตัวเองมากกว่า ก็โหวตคว่ำร่างของรัฐบาลเสียเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบ แต่ไม่ควรใช้วิธีไม่แสดงตนทั้งที่อยู่ในสภาฯ เพื่อให้สภาฯ ล่ม เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการไม่เคารพต่อหน้าที่ของตัวเอง และไม่เคารพต่อประชาชนที่เลือกเข้ามาให้ทำหน้าที่ในสภาฯ

ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็มีหน้าที่ประชุมสภาฯ และแสดงตนเป็นองค์ประชุมไม่ใช่หรือ

การที่นายชลน่านอ้างว่า การไม่เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นการตรวจสอบรัฐบาลนั่นมันใช่หรือ เพราะการประชุมสภาฯ เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่ ส.ส.ทุกคนจะต้องทำหน้าที่ร่วมกันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลย

ข้ออ้างที่บอกว่าจะทำให้สภาฯ ล่มเพื่อบีบให้พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาฯ เพื่อเลือกตั้งกันใหม่นั้น จะเกิดได้จริงไหม ทำไมพล.อ.ประยุทธ์จะต้องใส่ใจด้วย ถ้านั่นไม่ใช่การพิจารณากฎหมายสำคัญหรือกฎหมายการเงินที่เสนอโดยรัฐบาล หรือไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ แต่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องทำหน้าที่ร่วมกัน

ใช่หรือไม่แท้จริงแล้วการไม่แสดงตนของฝ่ายค้านแม้จะอยู่ในที่ประชุมสภาฯ เป็นการไม่เคารพต่อหน้าที่ของตัวเองและเตะถ่วงการทำงานของตัวเอง และการทำให้การพิจารณากฎหมายล่าช้าลงผลประโยชน์ก็ตกกับประชาชนและประเทศชาติไม่ใช่ตกกับรัฐบาลไม่ใช่หรือ

เห็นกองเชียร์พรรคเพื่อไทยบางคนพยายามจะบอกว่า ถ้าฝั่งเขาเป็นรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านก็ทำเช่นนี้ในการนับองค์ประชุมเพื่อให้สภาฯ ล่ม อยากจะถามกลับว่า แล้วคิดว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องก็ไม่ควรกระทำไม่ใช่หรือ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ตาม

ความเบื่อหน่ายและวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อนักการเมือง และระบอบประชาธิปไตยก็มาจากพฤติกรรมที่นักการเมืองแสดงออกมานี่แหละ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น