xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิใจไทย” วางยุทธศาสตร์เป็นรัฐบาลตลอดกาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการชี้ “เสี่ยหนู” อาศัยช่วงที่คะแนนนิยม “พล.อ.ประยุทธ์” ”ตกต่ำต่อรองผลประโยชน์ อีกทั้งรัฐบาลใกล้หมดวาระจึงไม่กลัวการยุบสภา “รศ.ดร.พิชาย” เชื่อหาก “ภูมิใจไทย” ถอนตัวรัฐบาลจะยุบสภาก่อนการอภิปรายในเดือน พ.ค.65 ฟันธงเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยได้ที่นั่งมากสุด ส่วนพลังประชารัฐจะเหลือแค่เศษซาก ขณะที่ ภูมิใจไทยเหนือชั้น เดินเกมเป็นรัฐบาลชั่วนิรันดร์ ด้าน “ผศ.วันวิชิต” คาดภูมิใจไทยจับมือพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล เหตุมีอำนาจต่อรองเก้าอี้ รมต. มากกว่าอยู่กับเพื่อไทย

ภาพความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของ “พลังประชารัฐ” และ “พรรคภูมิใจไทย” ดูจะชัดเจนอย่างยิ่ง ตั้งแต่ครั้งที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุม ครม.เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อคัดค้านร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยประกาศจะถอนตัวจากรัฐบาลหากรัฐบาลไม่เห็นชอบกับกฎหมายปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ หรือไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แต่ภายหลัง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาปฏิเสธว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด อย่างไรก็ดี ท่าทีแข็งกร้าวดังกล่าวของพรรคภูมิใจไทยทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรที่ทำให้ภูมิใจไทยลุกขึ้นมาเขย่ารัฐนาวาที่ตนเองร่วมพาย หรือว่า “เสี่ยหนู” จะมีเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของพรรคภูมิใจไทยนั้นเป็นเพราะทั้ง 2 กรณีเกี่ยวพันกับนโยบายสำคัญของพรรคภูมิใจไทย และผลประโยชน์ของประเทศ โดยนโยบายเรื่องการนำกัญชามาใช้อย่างถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่พรรคภูมิใจไทยเคยหาเสียงไว้ หากรัฐบาลไม่ผ่านกฎหมายนี้ พรรคภูมิใจไทยจะถูกมองว่าไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ส่วนกรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างกระทรวงมหาดไทยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพรรคพลังประชารัฐ กับกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลโดยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งถ้า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเท่ากับเป็นการหักหน้าพรรคภูมิใจไทย

ดังนั้น ทั้ง 2 กรณีภูมิใจไทยน่าจะมีปฏิกิริยาบางอย่างออกมา เช่น อาจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่หากภูมิใจไทยไม่มีท่าทีอะไรเลยสังคมคงตั้งคำถาม แต่ถ้ารัฐบาลยอมตามข้อเสนอของภูมิใจไทย แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการประนีประนอม และอำนาจในการต่อรองของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดน้อยลง

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ถ้า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้บีทีเอส โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงของกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลโดยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเสนอรายละเอียดของสัญญาว่าสามารถเก็บค่าโดยสารได้ถูกกว่า เชื่อว่าภูมิใจไทยคงไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่อาจจะแค่งดออกเสียง เพราะภูมิใจไทยประสบความสำเร็จในการหาเสียง และสร้างคะแนนนิยมว่าได้ปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชนแล้ว ขณะที่ภาพของ กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแล กทม. ถูกมองว่าละเลยที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเช่นกัน

แต่หากเป็นกรณี พ.ร.บ.กัญชา ซึ่งภูมิใจไทยประกาศว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านสภา เชื่อว่าภูมิใจไทยจะถอนตัวจริงๆ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของพรรค ซึ่งเป็นเกมการเมืองที่เป็นความขัดแย้งเรื่องนโยบาย ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และหากภูมิใจไทยถอนตัว หนทางเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำได้คือ การยุบสภา

ทั้งนี้ รศ.ดร.พิชาย มองว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยถอนตัว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงสถานะรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปสักระยะหนึ่ง และจะอยู่ได้ไม่เกินเดือน พ.ค.2565 ซึ่งจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะหากมีการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคภูมิใจไทยซึ่งถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลคงไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างดีที่สุดอาจจะงดออกเสียง และร้ายที่สุดคงลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากไม่มีพรรคภูมิใจไทย เสียงของรัฐบาลจะหายไปถึง 70 เสียง และทำให้รัฐบาลมีเสียงไม่ถึง 250 เสียง กลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภา โหวตยังไงก็แพ้

“ก่อนจะถึงจุดนั้น ถ้าภูมิใจไทยถอนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจยุบสภา คืออาจจะบริหารงานไปสักพัก พอถึงเดือน พ.ค. ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกาศยุบสภา ซึ่งจะดีกว่าปล่อยให้มีการอภิปรายแล้วแพ้โหวต เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองว่าเป็นนายกฯ คนแรกที่ต้องออกจากตำแหน่งเพราะสภามีมติไม่ไว้วางใจ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

การปลูกกัญชาเสรีคือนโยบายสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดัน
ส่วนข้อสังเกตที่ว่าพรรคภูมิใจไทยอาจจะไปจับมือกับเพื่อไทยนั้น “รศ.ดร.พิชาย” มองว่า มีความเป็นไปได้ทั้งก่อนและหลังยุบสภา คือถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหนงนายกรัฐมนตรี ตัวเลือกเดียวที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ตรงกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เนื่องจากตอนนี้มีนายอนุทิน คนเดียวที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี และยังมีบทบาทสำคัญในพรรค ขณะที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคอื่นๆ นั้นไม่ได้มีบทบาทในพรรคแล้ว เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีบทบาทในพรรคแล้ว

นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ออกไปตั้งพรรคใหม่แล้ว หรือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกคน ไม่สนใจการเมืองระดับประเทศแล้ว เพราะจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ดังนั้น ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จึงเหลือนายอนุทิน เพียงคนเดียว ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ นายอนุทิน มีโอกาสที่จะนั่งเก้าอี้นี้มากที่สุด หากจับมือกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้มีเสียงในสภาเกิน 250 เสียง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยกล้าลุกขึ้นมาต่อรองกับรัฐบาลนั้น “ผศ.วันวิชิต” มองว่า เป็นเพราะภูมิใจไทยประเมินแล้วว่าสถานการณ์ของตัวเองได้เปรียบและเป็นต่อ เนื่องจากภาพลักษณ์ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังถดถอย ภายในพรรคพลังประชารัฐไม่มีเอกภาพ มีแต่ ส.ส.ย้ายออก ไม่มี ส.ส.ย้ายเข้า ขณะที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยมีแต่ ส.ส.ย้ายเข้า ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาล แม้แต่ ส.ส.จากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ย้ายเข้าภูมิใจไทยถึง 3 คน ทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้น ภาพของพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหา ส.ส.แตกแถว ไม่มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำสงครามในพรรค และชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทยจะขับเคลื่อนโดยนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นมันสมองของพรรค ดังนั้น ส.ส.ที่จะย้ายเข้าพรรครู้อยู่แล้วว่าใครคือผู้มีอำนาจในพรรคภูมิใจไทย ประกอบกับสายสัมพันธ์ที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยมีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคภูมิใจไทยจึงมีแต้มต่อ อีกทั้งภูมิใจไทยมีจุดแข็งตรงที่เลือกข้าง พล.อ.ประยุทธ์ มาแต่ต้น แม้พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลจะชวนไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยสนับสนุนให้นายอนุทิน เป็นนายกฯ แต่ภูมิใจไทยรู้ว่าเกมนี้เสี่ยง อันตราย และไม่ยั่งยืน สู้อยู่กับพรรคที่ตนมีอำนาจต่อรองอย่างพลังประชารัฐไม่ได้

ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า เหตุที่พรรคภูมิใจไทยมีท่าทีแข็งกร้าวกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ เป็นเพราะตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลใกล้ครบวาระ 4 ปี ใกล้จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ดังนั้น จะยังอยู่ร่วมรัฐบาลหรือไม่จึงไม่มีความหมายมากนัก ไม่เหมือนกับช่วงปีแรกๆ ที่ร่วมรัฐบาลซึ่งต้องยอม พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ได้อยู่ร่วมรัฐบาลต่อไป ช่วงนี้พรรคร่วมรัฐบาลจึงอาศัยอำนาจที่ตนมีในการต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะตอบโต้ด้วยการยุบสภา พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่กลัว เพราะแต่ละพรรคกำลังเตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้าอยู่แล้ว

พรรคภูมิใจไทย ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เสนอปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว
สำหรับการวางยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น “รศ.ดร.พิชาย” มองว่า ภูมิใจไทยจะเน้นการเลือกตั้งระดับเขต และเลือกคนที่ได้รับความนิยมในระดับพื้นที่มาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยจะใช้ทรัพยากรในการเลือกตั้งในเขตที่ประเมินแล้วว่ามีโอกาสได้รับชัยชนะ ซึ่งพื้นที่หลักของภูมิใจไทยคือ อีสานตอนใต้ อย่าง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แข็งแกร่ง และพยายามขยายจากอีสานใต้ไปยังพื้นที่โดยรอบ อย่าง ขอนแก่น โคราช นอกจากนั้นยุทธศาสตร์อีกแห่งหนึ่งที่ภูมิใจไทยพยายามจะเจาะคือ พื้นที่ภาคใต้ ที่พยายามช่วงชิงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่ผ่านมา สามารถช่วงชิงมาได้หลายที่นั่ง อย่างพัทลุง สตูล สงขลา ขณะที่ภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภูมิใจไทยน่าจะได้ ส.ส.บ้างประปราย

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคที่มีโอกาสได้เสียงข้างมากคงเป็นพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคที่ได้คะแนนรองลงมาน่าจะเป็นภูมิใจไทย ซึ่งอาจจะขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 2 ก็ได้ และหลังเลือกตั้งทั้ง 2 พรรคนี้อาจจะจับมือกัน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐนั้นคงแตกจนหาเศษซากไม่ได้ อย่างดีที่สุดเป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก และเลวร้ายที่สุดกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก เนื่องจากขณะนี้คะแนนนิยมของพรรคตกต่ำมาก และศักยภาพในการหาคะแนนในพื้นที่ลดน้อยลงเพราะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ได้อยู่พรรคพลังประชารัฐแล้ว ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจจะย้ายพรรค เหลือแต่นายสุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งแตกกับกลุ่มของนายสนธยา คุณปลื้ม ขณะที่กลุ่มนายสนธยา กำลังหาโอกาสทางการเมืองใหม่ๆ

“ยุทธศาสตร์ของภูมิใจไทยคือจะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลชั่วนิรันดร์ โดยวาง position เป็นพรรคขนาดกลาง เป็นพรรคอันดับ 2 อันดับ 3 เพราะการเป็นพรรคอันดับ 1 น่าจะยาก เนื่องจากยังไม่สามารถชนะพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งการเป็นพรรคขนาดกลางทำให้ไม่ว่าพรรคใดเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยสามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ภูมิใจไทยจะจับมือกับเพื่อไทย และสามารถต่อรองขอเก้ารัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ ได้ ภูมิใจไทยอาจจะรอจังหวะการเมืองในอีก 2-3 สมัยเพื่อขึ้นเป็นพรรคอันดับ 1 ต่อไป” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ด้าน “ผศ.วันวิชิต” คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยจะมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้มี ส.ส.เขตย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยเยอะมาก ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นไม่แน่ว่าจะได้ ส.ส.เท่าไหร่ เนื่องจากพรรคไทยสร้างไทยของ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อาจจะไปแย่งคะแนนเสียงของเพื่อไทยในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยเหนื่อยมากขึ้น และไม่ได้ ส.ส.แลนด์สไลด์ตามที่ตั้งใจไว้

อย่างไรก็ดี แม้ภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.แตะหลักร้อย ก็ยังแพ้พรรคเพื่อไทย หากพรรคเพื่อไทยเสนอให้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นนายกฯ เชื่อว่านายอนุทิน ยังเลือกอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคฝ่ายประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือก้าวไกลไม่ได้นับภูมิใจไทยว่าเป็นเนื้อพวกเดียวกับเขาอยู่แล้ว ที่สำคัญการที่ภูมิใจไทยจะไปร่วมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งใหญ่กว่า เกรงว่าจะมีปัญหาในการต่อรองเก้าอี้ อีกทั้งกลัวว่าอิทธิพลของนายทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาชี้นำการดำเนินการทางการเมือง คิดว่าภูมิใจไทยอยู่ในภาวะที่ไม่รีบไปจับมือกับเพื่อไทยเพราะเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญที่ให้ 250 ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

“เกมนี้เชื่อว่าการที่ภูมิใจไทยเลือกอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ในภาวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพลี่ยงพล้ำ หรือถดถอยเนื่องจากจะทำให้ภูมิใจไทยมีแต้มต่อมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องง้อภูมิใจไทย อยู่ในภาวะแบบนี้มันได้เปรียบกว่า แต่ถ้าหากจับมือกับเพื่อไทยอำนาจต่อรองจะหายไป เชื่อว่าแม้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าคะแนนเสียงของพลังประชารัฐจะลดลง กระทั่งกลายเป็นพรรคอันดับ 3 มีคะแนนน้อยกว่าภูมิใจไทย พรรคภูมิใจไทยยังแฮปปี้ที่จะเดินเกมจับมือกับพลังประชารัฐเพราะทำให้ภูมิใจไทยมีแต้มต่อมากกว่า ภูมิใจไทยสามารถเรียกร้องกระทรวงสำคัญๆได้เพื่อแลกกับการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกทั้งตราบใดที่ยังมี 250 ส.ว.ซึ่งยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ภูมิใจไทยก็ยังคงต้องหนุน พล.อ.ประยุทธ์” ผศ.วันวิชิต กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น