xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เข้าสู่โหมดผ่อนคลาย ก่อนชี้ขาด พ.ค.!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  - ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ผ่านไปเรียบร้อยสำหรับญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งหากพิจารณากันแบบกลางๆ ก็ต้องบอกว่า สำหรับชาวบ้านแล้วถือว่า “ไม่ได้ประโยชน์” อะไร หรือถ้ามีก็ถือว่า “น้อยมาก” เพราะนอกเหนือจากเป้าหมายหลัก ก็คือ ต้องการ “ด่า” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหลัก ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็แค่ “น้ำจิ้ม” เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง เพราะข้อมูลและเนื้อหาที่นำมาอภิปราย ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเก่า เอาเป็นว่าใช้คำว่า “ได้ประโยชน์น้อย” ก็แล้วกัน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากไทม์ไลน์นับจากนี้ ก็เหลือเวลาการประชุมสภาสมัยสามัญถึงแค่ปลายเดือนนี้เท่านั้น เพราะพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมได้ประกาศออกมาแล้วว่า จะมีการปิดสมัยประชุมในวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป และจะเปิดสภาสมัยสามัญอีกครั้งในราวกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลานั้น หลายฝ่ายก็มีความเห็นตรงกันว่า การเมืองก็น่าจะทะลุถึงจุดเดือดกันอีกครั้ง

โดยน่าจะเป็นช่วงชี้ขาดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากจะโดนฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ โดยมีการขึ้นบัญชีเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อสภากำลังจะปิดสมัยประชุมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีเวลาได้หายใจหายคอผ่อนคลายลงไปได้บ้าง แม้ว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่ “ประชุมร่วมรัฐสภา” จะมีการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ ทั้งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งแบบใช้ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” และวิธีการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์

แม้ว่า จะมีวาระที่ต้องถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร เกี่ยวกับร่างกฎหมายโดยเฉพาะของพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่า มีการเสนอ “สอดไส้” ต้องการให้ “คนนอก” สามารถเสนอความเห็นได้ ความหมายก็คือ ต้องการให้คนนอกพรรค “สั่งการ ครอบงำพรรค” ได้นั่นเอง ซึ่งหากพิจารณาสำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ต้องโฟกัสไปที่ นายทักษิณ ชินวัตร ให้สามารถสั่งการครอบงำได้อย่างเป็นทางการ โดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อเลี่ยงการ “ถูกยุบพรรค”

เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อห้ามเอาไว้ร้ายแรงในเรื่องความเสี่ยงถูกยุบพรรคดังกล่าว และที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็กำลังถูกร้องให้มีการพิจารณาในเรื่องความผิดยุบพรรคจากกรณี นายทักษิณ วิดีโอคอลเข้ามาในที่ประชุมพรรค เรื่องการพูดกับสมาชิกเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” รวมไปถึงการหาเสียงให้กับผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่พรรคสนับสนุน เป็นต้น

ซึ่งในทางพฤตินัยสำหรับคนทั่วไปย่อมรับรู้กันมานานแล้วว่า พรรคเพื่อไทย เป็นของ นายทักษิณ ชินวัตร และคนในครอบครัวดังกล่าวมีอิทธิพลครอบงำมานานแล้ว ตั้งแต่ในชื่อพรรคไทยรักไทย มาจนถึงในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วสามารถฟันธงไว้ล่วงหน้าได้ ก็คือ “ไม่มีทางผ่าน” และดีไม่ดียังเป็นการเปิดทางให้ “นายทักษิณถูกด่าฟรี” อีกต่างหาก แต่ก็เชื่อว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว หากมีโอกาสก็ต้องลองเสี่ยงดูก่อน ส่วนจะเป็น “ใบสั่ง” จากใครหรือไม่ และมี “คนรับอาสารับงาน” มาหรือไม่ ก็สามารถมองกันได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี นั่นคือ การพิจารณากฎหมายในที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงมติในวาระแรกด้วย และเชื่อว่าน่าจะผ่านร่างกฎหมายฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เห็นชอบโดยรัฐบาลมากกว่า จากนั้นตามขั้นตอนก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในรายละเอียด ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณสองเดือน และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ สอง และสาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ตามไทม์ไลน์เป็นแบบนี้ และเชื่อว่า ไม่จำเป็นต้องเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาค่อนข้างแน่ โดยคนที่ออกมาพูดก็คือ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา

เมื่อพิจารณาจากไทม์ไลน์ดังกล่าวทำให้เห็นว่าการพิจารณาร่างกฎหมายลูกสองฉบับดังกล่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับ “บัตรสองใบ” ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองพรรคใหญ่ต้องการ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย น่าจะไม่ทำอะไรให้สถานการณ์เลยเถิดจนเป้าหมายหลักของตัวเองพังไปก่อนที่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หากบอกว่ากฎหมายที่พิจารณาเกี่ยวกับบัตรสองใบเสร็จสิ้นในราวเดือนกรกฎาคม ทำให้พอคาดเดาได้ว่าน่าจะมีการยื่น “ญัตติซักฟอก” มีเป้าหมายถล่มพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะเกิดขึ้นในราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยประชุมหน้าค่อนข้างแน่

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในช่วงเดือนพฤษภาคม ยังมีเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีการกำหนดเวลากันล่วงหน้าชัดเจนแล้ว และล่าสุด เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางกระทรวงมหาดไทย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือร่วมกับทางตัวแทนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่า จะมีการเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งกันต่อไป ซึ่งถือว่ามีความชัดเจนแบบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมแน่นอน แว่วว่า น่าจะราววันอาทิตย์ที่ 22 หรือ 29 พฤษภาคม

หากเป็นแบบนั้นก็ทำให้ “บิ๊กตู่” มีเวลาได้หายใจหายคอ สามารถเช็กแถว ตรวจรายชื่อเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างความมั่นใจได้อีกสองสามเดือน เพราะทั้งสองเรื่อง เป็นเรื่องของสภาและพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสามารถลอยตัวได้อีกพักหนึ่ง ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่สามารถ “เบี่ยงเบนความสนใจ” ได้เหมือนกัน อย่างน้อยเป้าหมายก็จะไม่ได้พุ่งมาที่ตัวเขาเป็นด้านหลัก เพราะถึงตอนนั้นทุกพรรคกำลังง่วนอยู่กับการหาเสียงผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายที่มีเนื้อหา “ยัดไส้” และบัตรเลือกตั้งสองใบ เป็นหลัก

อาจมีการโฉบเฉี่ยวเข้าใกล้บ้าง หากพรรคพลังประชารัฐ ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แต่หากพิจารณาจากลีลาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่น่าจะส่งคนลงสมัคร น่าจะใช้วิธีเดียวกับพรรคเพื่อไทย ที่สนับสนุนผู้สมัครอิสระบางคนที่รู้กันอยู่ว่า เป็นใคร

ดังนั้น หากพิจารณาจากเส้นทางที่เห็นแบบนี้มันก็ชัดเจนว่าเป็นช่วงที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสามารถได้หยุดพักในช่วงปิดสมัยประชุม มีเวลาจัดแถวเช็กเสียงสนับสนุนให้มั่นคง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์หนักหน่วงในช่วงศึกซักฟอก ที่คาดว่า น่าจะเกิดในราวเดือนพฤษภาคม หรือกรกฎาคม แต่หากให้ประเมินล่วงหน้าก็ยังเชื่อว่า “น่าจะผ่าน” ไปได้ แม้จะต้องลุ้นเสียวหนักก็ตาม เพราะทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่อยากเสี่ยงไปเลือกตั้งก่อนกำหนด ที่สำคัญหลายโปรเจกต์ต้องเดินหน้า “ตุนกระสุน” ไว้ดีกว่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น