xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตยูเครนควรจะจบอย่างไร : เริ่มต้นที่ปลายทางหรือเดินหน้าสู่สงคราม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปณิธาน วัฒนายากร



วิกฤตยูเครนควรจะจบอย่างไร : เริ่มต้นที่ปลายทางหรือเดินหน้าสู่สงคราม?
To solve the Ukraine crisis : start at the end or marching towards war?


รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร 
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง(กมค.)

1. ปัญหาอยู่ที่ต้นทาง

เมื่อเกือบแปดที่แล้ว ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2014 ประชาชนในสาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) จำนวน 83% ได้ออกมาลงประชามติ ซึ่งในจำนวนนั้น 93% ลงมติให้ไครเมียแยกตัวออกจากยูเครนและกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งประชามตินี้ (Crimean Status Referendum) ได้ถูกคัดค้านและไม่ยอมรับจากหลายประเทศรวมทั้งจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ

ไม่กี่วันก่อนที่จะมีการลงประชามติดังกล่าวข้างต้น ดร. เฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1973-1977) ซึ่งมีเชื้อสายยิวและเกิดในประเทศเยอรมันนี และเคยเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เป็นที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ เคยได้รับรางวัลโนเบลร่วมสาขาสันติภาพ และเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการดำเนินการด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ มายาวยานกว่า 60 ปี ที่มีทั้งผู้ชื่นชมสนับสนุนและเกลียดชังต่อต้าน ได้ตั้งข้อสังเกตและเสนอทางออกที่น่าสนใจสำหรับปัญหาความขัดแย้งในยูเครนผ่านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ถึงแม้ว่าปัจจุบัน สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่มีหลายประเด็นที่น่าจะยังเป็นประโยชน์ โดยสรุปได้ดังนี้

1) เรื่องยูเครนนั้น พูดคุยกันแต่เฉพาะเรื่องการเผชิญหน้าและการประลองกำลัง โดยเฉพาะที่ว่ายูเครนจะไปเข้าพวกกับฝ่ายตะวันตก (สหรัฐฯกับพันธมิตร) หรือฝ่ายตะวันออก (รัสเซียกับพันธมิตร)

2) ทราบกันหรือไม่ว่า เรากำลังเดินไปสู่สถานการณ์อะไร ในชีวิตของดร. คิสซินเจอร์ ได้เห็นความกระหายสงครามของสหรัฐฯและของประชาชนถึงสี่ครั้ง ซึ่งในสามครั้งนั้น สหรัฐฯต้องถอนตัวออกมาจากสงครามแต่เพียงฝ่ายเดียว ในครั้งนี้ทราบกันหรือไม่ว่า ความขัดแย้งควรจะจบลง (ด้วยดี) ได้อย่างไร

3) นโยบาย (การต่างประเทศ) ที่ดีนั้น จะต้องทราบว่าจุดหมายปลายทาง (end) คืออะไร และวิธีที่จะไปสู่จุดหมายนั้น ทำได้อย่างไร ไม่ใช่จะเริ่มต้นอย่างไรหรืออยู่ที่ต้นทาง

4) ในเรื่องยูเครน จุดมุ่งหมายปลายทางก็คือ ยูเครนมีความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง โดยไม่ต้องไปเข้าพวกทั้งตะวันตกและตะวันออกเพื่อเผชิญหน้ากัน เป็นคล้ายๆ กับประเทศฟินแลนด์ โดยไม่ควรจะไปเข้าร่วมทางการทหารกับ NATO (North Atlantic Treaty Organization) แต่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกโดยอิสระว่าจะเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจและการเมืองกับใคร และที่สำคัญคือ ควรจะมีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของทุกฝ่าย มีผู้นำมีนโยบายที่ปรองดองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัสเซีย

2. ทางออกอยู่ที่ปลายทาง

แต่การที่ไปให้ถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าวให้ได้นั้น ดร. คิสซินเจอร์ระบุว่ารัสเซียจะต้องยอมรับว่ายูเครนได้แยกตัวเป็นอิสระไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อนเวลาได้อีก แม้ว่าทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ผูกพันและเกี่ยวข้องกันมาอย่างลึกซึ้งและยาวนานหลายร้อยปี และผู้นำของจักรวรรดิโซเวียต เช่น นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ก็เป็นชาวยูเครนโดยกำเนิด ประชากรส่วนใหญ่ของไครเมีย ก็เป็นชาวรัสเซีย แต่เมื่อยูเครนไม่ได้อยู่ภายใต้รัสเซียแล้ว ก็ไม่ควรจะใช้กำลังบังคับให้ยูเครนกลับมาเหมือนเดิมอีก การกระทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ทั้งในยูเครนและกับทางฝ่ายตะวันตก และจะทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวขึ้น

ทางฝ่ายตะวันตกเอง ก็ต้องเข้าใจรัสเซียด้วยว่า ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมานานหลายร้อยปี ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเป็นศตวรรษ ผ่านสงครามและร่วมรบในสมรภูมอป้องกันเอกราชของรัสเซียในพื้นที่นี้มาก่อน ผู้นำยูเครนส่วนใหญ่ในอดีตก็ยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์รัสเซีย ที่ตั้งทางการทหารที่สำคัญของรัสเซียก็เคยอยู่ในยูเครนหรือไครเมียมาก่อน ดังนั้น การที่สหภาพยุโรป (EU - European Union) (หรือสหรัฐฯ และนาโต้) ได้ดำเนินการแบบระบบราชการ และเชื้อเชิญผู้นำทางการเมืองของยูเครน ให้นำประเทศมาเข้าร่วมกลุ่มของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนเหล่านี้ ก็จะต้องยอมรับด้วยว่า ตนเองมีส่วนในการก่อวิกฤต เพราะได้สนับสนุนให้มีการเลือกข้างและไม่ได้มีนโยบายที่ดีที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือช่วยสนับสนุนให้ทั้งรัสเซียและยูเครนเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของยุโรปใหม่หลังสงครามเย็นโดยไม่ขัดแย้งกัน

ส่วนประธานาธิบดีปูตินนั้น ซึ่งเป็นนักวางแผนหรือนักยุทธศาสตร์ตัวยง เคยผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี ติดต่อกันหลายสมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 เป็นคนที่ตระหนักถึงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ดังนั้น การที่ทางตะวันตก (สหรัฐฯ หรือพันธมิตร) ไปสร้างภาพว่าปธน.ปูตินเป็นปีศาจร้าย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าทางตะวันตกไม่มีนโยบายหรือทางออกที่ดีในเรื่องนี้ และจะยิ่งทำให้ปธน.ปูตินหันไปใช้กำลังทหารมากขึ้น ส่วนปธน.ปูตินนั้น ก็จะต้องตระหนักว่าการใช้กำลังทหารบีบบังคับแบบนี้ ก็จะทำยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลายและเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ได้

และสำหรับสหรัฐฯ ก็จะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติต่อรัสเซียเหมือนกับรัสเซียเป็นประเทศที่ผิดปกติ และจะต้องอดทนอดกลั้นหากต้องการจะนำกติกาของวอชิงตันมาใช้กับรัสเซีย

3. ประชาชนชาวยูเครนและผู้นำเป็นปัจจัยชี้ขาด

ดร. คิสซินเจอร์เห็นว่าสุดท้ายแล้ว ปัจจัยชี้ขาดที่จะตัดสินปัญหาในเรื่องนี้ก็คือชาวยูเครนเอง โดยเฉพาะนักการเมืองและผู้นำทั้งสองฝ่ายของยูเครน ประเทศยูเครนนั้น เพิ่งตั้งขึ้นมาได้เพียง 31 ปีเท่านั้น ผู้นำของยูเครนส่วนใหญ่ก็ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศ หรือจัดการกับความขัดแย้ง ในภาคทางตะวันตกของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษายูเครนและนับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ในขณะที่ในภาคตะวันออก พูดภาษารัสเซียและนับถือนิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ หลายปีที่ผ่านมา นักการเมืองของยูเครนใช้ความแตกต่างดังกล่าวนี้ หาเสียง สร้างความแตกแยก และชักนำให้ประเทศอื่นเข้ามาหนุนฝ่ายของตน โดยเมื่อได้เข้ามามีอำนาจแล้ว ก็จะบังคับให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่าง ไม่ยอมรอมชอมหรือปรองดอง หรือแบ่งปันอำนาจกันกับอีกฝ่ายอย่างที่ควรจะเป็น

ข้อสังเกตของ ดร. คิสซินเจอร์ นี้ ถูกเสนอไว้หลายปีแล้ว และมีการปรับเปลี่ยนบางประการให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ที่ผ่านมา แต่ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ ได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น วันนี้ รัสเซียกำลังเคลื่อนกำลังทหารขนาดใหญ่ที่สุดที่ยุโรปเคยเห็นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และกำลังรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของยูเครนเพื่อจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ ซึ่งก็มีแนวโน้มว่ากำลังได้เปรียบ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น หรือตราบเท่าที่รัสเซียยังสามารถคงสภาพทางการทหารที่เหนือกว่าได้ แต่ในระยะยาว รัสเซียอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่นำยูเครนกลับไปสู่สภาพที่สมดุลอย่างที่ ดร. คิสซินเจอร์เสนอ

วันนี้ ยูเครนก็ดูเหมือนจะโดดเดี่ยวขึ้นมากกว่าเดิม ผู้นำยูเครนซึ่งเคยหวังไว้มากว่าทางฝั่งตะวันตกและ NATO จะส่งทหารเข้ามาช่วยเหลือก็ไม่เกิดขึ้น และการที่จะเป็นสะพานเชื่อมให้กับทั้งสองฝ่าย ตามที่ ดร. คิสซินเจอร์เคยเสนอไว้ ก็ดูหริบหรี่กว่าเดิม อันที่จริง หลายคนก็ไม่แน่ใจตั้งแต่แรกแล้วว่า แนวคิดการเป็นสะพานเชื่อมโยงตะวันตกและตะวันออกนั้น จะเหมาะกับยูเครน เพราะยูเครนก็ไม่ใช่ฟินแลนด์ และที่สำคัญคือยูเครนมีผู้นำที่ขาดประสบการณ์ ขาดความปรองดอง ไม่ยอมแบ่งปันอำนาจ และไม่มีความสมดุลในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ

4. ประเทศไทยต้องหาสมดุลให้ดี

ในความขัดแย้งนี้ ประเทศไทยต้องหาสมดุลในด้านต่างๆ ให้ดีและรอบด้าน อีกทั้งจะต้องดำเนินการอีกหลายประการเพื่อรองรับสถานการณ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ รวมทั้งเรื่องเฉพาะหน้า เช่น การอพยพหรือดูแลความปลอดภัยของคนไทยในพื้นที่ขัดแย้ง การลดผลกระทบจากความแปรปรวนในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง และอื่นๆ ซึ่งหลายส่วนก็ได้มีการดำเนินการกันไปแล้ว

4.1 ในความสัมพันธ์กับรัสเซีย

รัสเซียกับไทยมีความสัมพันธ์มายาวนานนับร้อยปี ในปีพ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ประมุขของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ในปีพ.ศ. 2546 ปธน.ปูตินได้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ และรัฐบาลสองประเทศได้ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกันในปีนั้นด้วย ในปีพ.ศ. 2550 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์ (State Visit) ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัสเซียต้องก่อร่างสร้างประเทศใหม่ และต้องการความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ นอกจากนั้น ผู้นำรัฐบาลทั้งสองประเทศก็ได้เยี่ยมเยือนกันหรือพบกันในที่ประชุมต่างๆ เป็นระยะตลอดเวลาที่ผ่านมา

ในรอบแปดปีที่ผ่านมา ไทยกับรัสเซียค้าขายกันมีมูลค่าระหว่าง 70,000 - 100,000 ล้านบาทในแต่ละปี ไทยขาดดุลประมาณ 32,000 ล้านบาทในปี 2563 โดยไทยนำเข้าสินค้าประเภท น้ำมันดิบ ถ่านหิน สินแร่ และสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท และส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี สินค้าเกษตรและแปรรูป ก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามาไทยมากกว่า 1 ล้านคนทุกปี โดยใช้จ่ายสูงเป็นลำดับที่สามของนักท่องเที่ยวที่มาไทย ทั้งสองประเทศมีความตกลงร่วมมือกันหลายด้าน ทั้งด้านพลังงาน ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้า การส่งออก การลงทุน โทรคมนาคม ประมง การศึกษา วัฒนธรรม การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง การเปิดสถานกงศุลใหม่ การสาธารณสุข การปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนความร่วมมือทางการศึกษาของทหาร เทคนิคทหาร ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และความร่วมมือระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยปัจจุบันมีทหารไทยไปเรียนหลักสูตรทหารเรือรัสเซียเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี

รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลก (17, 098,242 ตร.กม.) ใหญ่กว่าไทยถึง 35 เท่า ซึ่ง 2 ใน 3 ของพื้นที่นั้นอยู่ในทวีปเอเชีย โดยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีพลังงานสำรองและแร่ธาตุหายากหลายชนิดเป็นลำดับต้นๆ ของโลก มีประชากรกว่า 140 ล้านคน ในปีพ.ศ. 2460 เกิดการปฏิวัติโดยพรรคคอมมิวนิสต์และโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปีพ.ศ 2465 มีการสถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้น แต่ในปีพ.ศ. 2534 จักรวรรดิโซเวียตก็ล่มสลายเหตุเพราะระบบเศรษฐกิจอ่อนแอ จนนำไปสู่การพ่ายแพ้สงครามเย็นต่อสหรัฐฯและพันธมิตร และแตกตัวออกเป็น 15 ประเทศ รวมทั้งรัสเซีย ซึ่งก็ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ

ปัจจุบันรัสเซียอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งทางการทหารและการเมืองระหว่างประเทศ โดยมีทหารประจำการกว่า 830,000 คน มีกำลังพลสำรองกว่า 2 ล้านคน รวมทั้งมีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 7,000 ลูก นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการทำให้กองทัพเป็นสมัยใหม่ตามนโยบาย New Look (Novy Oblik) มีการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ มีการส่งทหารไปปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีความชำนาญในการรบอย่างที่เห็น และรัสเซียก็มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทางความมั่นคงและการทหารกับจีนและอินเดีย ทำให้มีกลับมาเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งได้อย่างรวดเร็ว

4.2 ในความสัมพันธ์กับยูเครน

ส่วนยูเครน ซึ่งได้แยกตัวออกมาพร้อมกับรัสเซียหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียตนั้น ก็ได้เปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครองของตนมาเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับสองในยุโรป (603,550 ตร.กม.) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญของยุโรปไหลผ่านหลายสาย รวมทั้งแม่น้ำดานูบที่ไหลลงทะเลดำ จึงส่งออกสินค้าเกษตรได้หลายชนิด มีประชากรกว่า 40 ล้านคน เป็นเชื้อสายรัสเซียเกือบ 18% มีศักยภาพทางอุตสาหกรรม ทางการทหาร แต่สภาพทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี รายได้ประชากรไม่มากนัก และที่ผ่านมา ต้องพึ่งพิงพลังงานและรายได้จากรัสเซีย ซึ่งส่งต่อผ่านท่อส่งไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ จึงขัดแย้งกับรัสเซียบ่อยครั้ง และมีความพยายามที่จะไปพึ่งพิงสหภาพยุโรปในด้านการค้าแทนรัสเซีย อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่สงบในทางภาคตะวันออก และพยายามเพิ่มศักยภาพและกำลังพลทางทหารจาก 180,000 คน ไปเป็น 250,000 คนในรอบหลายปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่สำเร็จ ทั้งที่เคยผลิตและส่งออกยุทธโธปกรณ์ได้เป็นลำดับต้นๆ ของโลกมาแล้ว

ความสัมพันธ์ของยูเครนกับไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ. 2535 มีการจัดตั้งสถานทูตและสถานกงศุลในไทย และสถานกงศุลไทยในยูเครน ในปีพ.ศ. 2560 รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนเยือนไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปีที่แล้ว เอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยเสียชีวิตกระทันหันขณะปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดสตูล และได้มีพิธีพระราชาทานเพลิงศพให้เป็นกรณีพิเศษ ทั้งสองประเทศมีการประชุมร่วมกันในระดับสูงเป็นระยะๆ มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันหลายด้าน มีการลงนามความตกลงในหลายสาขา รวมทั้งเรื่องทางอาญา การค้าการลงทุน ด้านภาษี การป้องกันการฟอกเงิน การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ และการร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาวุธ โดยมีมูลค่าการค้าขายแต่ละปียังไม่มากนัก ประมาณ 300-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าประมาณ 100-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ส่วนสินค้าที่ค้าขายกันส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เครื่องจักร สินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ สินแร่ โดยกองทัพไทยได้เคยจัดซื้อจัดหายานยนต์หุ้มเกราะล้อยางและรถถังหลักแบบ T-84 จากยูเครน ปัจจุบันก่อนที่จะมีการระบาดของโรคไวรัสโควิด นักท่องเที่ยวจากยูเครนจะมีประมาณปีละ 20,000-60,000 คน

5. แนวทางของไทยในเวทีโลก

สำหรับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น ประเทศไทยได้สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ตามแนวทางของสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศมาตั้งแต่แรก ตลอดจนสนับสนุนให้มีการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องในหลักการ และเมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ได้มีแถลงการณ์ยืนยันหลักการดังกล่าวนี้อีกครั้ง

6. สู่ทางเลือกที่ดีกว่าในการแก้ปัญหา

วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รัสเซียมีแนวโน้มที่จะสามารถยึดครองยูเครนและกลับมามีอิทธิพลในยูเครนได้อีก หากรัสเซียสนับสนุนให้ฝ่ายที่ใกล้ชิดกับตนเข้ามาปกครองยูเครนได้แล้วไม่มีการปรองดองหรือรอมชอม แบ่งปันอำนาจให้กับอีกฝ่าย สถานการณ์วิกฤตก็จะไม่ยุติลง และความขัดแย้งก็คงจะขยายตัวออกไปอีก โดยมีนานาชาติแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายและให้การสนับสนุนแต่ละฝ่าย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถึงตอนนั้นก็คงที่จะยากแล้วที่จะห้ามไม่ให้สงครามอีกหลายรูปแบบเกิดขึ้น รวมทั้งสงครามเย็นครั้งใหม่ที่หลายคนพูดถึง

ดังนั้น ควรจะมีการโน้มน้าวและผลักดันอย่างสร้างสรรค์ให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อเข้าสู่โต๊ะเจรจาหาทางออกใหม่อีกครั้งโดยเร็ว และควรจะมีการเรียนรู้และถอดบทเรียนในอดีตที่ล้มเหลวของทุกฝ่าย ที่มีส่วนทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ทำให้ผู้คนเสียชีวิตและบ้านเมืองเสียหายอย่างที่เห็น

การเดินไปสู่ปลายทางข้างหน้าเพื่อให้ชาวยูเครน ชาวยุโรป และชาติที่มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้อยู่ด้วยกันอย่างสงบ สันติ และเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกันนั้น เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

อ้างอิง:
1. Henry Kissinger, “To settle the Ukraine crisis, start at the end” The Washington Post, 5 March 2014.
2. NIA Almanac, 2022.
3. The Military Balance, IISS: London, U.K. 2017.
4. Wikipedia, 2022.


กำลังโหลดความคิดเห็น