Why Russia-China partnership is effective
BY M.K. BHADRAKUMAR
02/02/2022
ประสิทธิภาพของความเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัสเซียกับจีน สามารถที่จะเข้าใจกันได้อย่างเต็มขีดก็ต่อเมื่อเราคำนึงถึงปัจจัยที่ว่า ผลรวมแห่งอำนาจของจีนและของรัสเซียเวลานี้อาจจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอำนาจของสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว และกระทั่งอาจจะแซงหน้าอำนาจของสหรัฐฯได้ด้วยซ้ำในระยะเวลาอันไม่ไกลนัก
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ เป็นตัวจุดชนวนให้เกิด “ความเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมรอบด้าน” ของรัสเซีย-จีน (Russian-Chinese “comprehensive strategic partnership of cooperation) ขึ้นมา หัวข้อนี้กลายเป็นข้อถกเถียงอภิปรายกันอย่างมีชีวิตชีวาในหมู่พวกนักคิดทางยุทธศาสตร์ในระยะหลังๆ มานี้
ขณะที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปหลายหลาก อย่างไรก็ดี สำหรับพวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกแล้ว ข้อความตัวหนังสือสีแดงที่พวกเขาเขียนกำกับเอาไว้กับความเป็นหุ้นส่วนนี้ แสดงถึงการตีความประเมินค่าของพวกเขาอย่างแจ่มแจ้ง ดังเช่น “กลุ่มพันธมิตรแห่งความชั่วร้าย” , “กลุ่มพันธมิตรแห่งระบอบอัตตาธิปไตย”, “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ขาดไร้ซึ่งยุทธศาสตร์”, “การแต่งงานที่เลวร้าย” และอื่นๆ ทำนองนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า มันก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกในทางลบขึ้นในความคิดจิตใจของโลกตะวันตก โดยน่าจะมีที่มาจากความไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ทราบแล้วว่ามันเกิดขึ้นมา ทว่ายังไม่ทราบว่ามันจะเป็นยังไงต่อไป
มายาภาพที่พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกกระแสหลักป่าวร้องโฆษณาชวนเชื่อกันก็คือว่า พันธมิตรระหว่างรัสเซีย-จีนเป็นพันธมิตรที่อ่อนปวกเปียกและชั่วคราว และถูกมองอยู่เสมอว่าเป็นเป้าหมายสำหรับการดำเนินการแบบ “คิสซิงเจอร์ด้านกลับ” (reverse Kissinger) (ซึ่งก็คือ การพยายามดึงรัสเซียให้ออกห่างจากจีน กลับตาลปัตรกับสิ่งที่อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ของสหรัฐฯ เคยประสบความสำเร็จในการดึงจีนออกห่างจากรัสเซีย -ผู้แปล) ราวกับว่าทั้งสองประเทศนี้เป็นเพียงชิ้นส่วนของตัวต่อเลโก้เท่านั้น – “รูปร่างที่มีความตายตัว และง่ายแก่การจัดการ” อย่างที่ คลังสมองชาวเอสโตเนียรายหนึ่ง ของสภาเพื่อความสัมพันธ์ต่างประเทศแห่งยุโรป (European Council for Foreign Relations) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ เคยเขียนเอาไว้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
มายาภาพเช่นนี้แหละ ก็ปรากฏอยู่ตรงรากเหง้าของวิกฤตการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย วอชิงตันยังคงติดแน่นอยู่ในร่องเดิมซึ่ง (อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ) แมเดลีน อัลไบรต์ (Madeline Albright) และ (อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ) สโตร็บ แทลบอตต์ (Strobe Talbott) ถากขึ้นมาในระหว่างทศวรรษ 1990 ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยสรุปว่า เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีนแล้ว พิจารณาจากการที่สหรัฐฯกับจีนมีการพึ่งพาอาศัยขึ้นต่อกันและกันเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์แห่งการปิดล้อมของวอชิงตันก็จะใช้โหมด (mode) ซึ่งผิดแผกออกไปจากที่ใช้กับรัสเซีย
มันจะไม่เป็นนโยบายชนิดเดินหน้าไปเรื่อยๆ แบบเป็นเส้นตรง เหมือนกับที่สหรัฐฯใช้อยู่ในกรณีของรัสเซีย แต่จะมีทั้งการแข่งขันผสมผสานกับความร่วมมือกัน ด้วยข้อวินิจฉัยที่ว่า เมื่อไปถึงในระดับแกนกลางจริงๆ แล้ว จีนจะให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ซึ่งตนมีอยู่กับสหรัฐฯ เหนือความสัมพันธ์ซึ่งมีอยูกับรัสเซีย และด้วยเหตุนี้ ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างปักกิ่งกับมอสโก จึงเป็นเพียงการแต่งงานกันเพื่อความสะดวกมุ่งผลประโยชน์เฉพาะหน้า ทว่าขาดไร้เจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์
นี่เองส่งผลให้วอชิงตันเกิดความคิดเห็นอันผิดพลาดที่มองว่า จีนจะวางตัว “เป็นกลาง” ในการเผชิญหน้าระลอกปัจจุบันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ความคิดเห็นซึ่งผิดพลาดเช่นนี้ สามารถใช้มาอธิบายถึงการที่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน กล้าโทรศัพท์พูดคุยอย่างห้าวหาญกับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากปักกิ่ง
แต่คำตอบที่ชัดเจนและหนักแน่นซึ่งได้รับจาก หวัง นั้น สำหรับ บลิงเคนแล้ว มันจะต้องเป็นการถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอย่างหยาบคายทีเดียว หวัง ได้หยิบยกกรณีต่างๆ ที่ประธานาธิบดีไบเดนถอยหลังจากสิ่งที่ให้คำรับรองไว้กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมทั้งกล่าวหาคณะบริหารไบเดนว่า “ยังคงยึดมั่นอยู่กับการใช้คำพูดที่ผิดพลาดและการกระทำที่ผิดพลาดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งเป็นการตีกระหน่ำครั้งใหม่ใส่ความสัมพันธ์ทวิภาคีของประเทศทั้งสอง”
หวัง เตือนความจำของ บลิงเคน เอาไว้ดังนี้ “ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่สุดก็คือ สหรัฐฯควรต้องยุติการเข้าแทรกแซงกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวกรุงปักกิ่ง 2022, ยุติการเล่นกับไฟในประเด็นไต้หวัน, และยุติการสร้าง “แก๊งเล็กๆ” ต่างๆ ขึ้นมาต่อต้านจีน
จากนั้น หวัง กล่าวย้ำว่า ปักกิ่งรับรองเห็นชอบกับหลักการต่างๆ ที่รัสเซียระบุเอาไว้ในการแถลงจุดยืนของตน –อันได้แก่ การปฏิบัติตามข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Agreement) อย่างเอาจริงเอาจัง, ความมั่นคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้, “การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มทางทหาร หรือกระทั่งการขยายกลุ่มทางทหาร” เพื่อความมั่นคงปลอดภัย เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์, และ ความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขคลี่คลาย “ความกังวลห่วงใยอย่างถูกต้องชอบธรรมของรัสเซียในเรื่องความมั่นคง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202201/t20220127_10635268.html)
ต่อจากนั้นจีนยังได้ขยายความจุดยืนของตนเองเอาไว้ในคำแถลงของเอกอัครราชทูต จาง จิว์น (Zhang Jun) ผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ ในช่วงเปิดประชุมคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อพิจารณาเรื่องยูเครนเมื่อวันจันทร์ (31 ม.ค.) นั่นคือ ปักกิ่งนั้นยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมอสโก
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงนี้ได้ที่ http://chnun.chinamission.org.cn/eng/hyyfy/202202/t20220201_10638019.htm)
ตรงจุดนี้เราจำเป็นต้องกลับไปพิจารณาคำพูดสำคัญที่ประธานาธิบดีสี กล่าวเอาไว้ระหว่างการประชุมแบบเสมือนจริงกับปูตินเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม (น่าสนใจมากที่ในวันเดียวกันนี้เอง มอสโกได้ยื่นร่างสนธิสัญญาทวิภาคีว่าด้วยเรื่องความมั่นคง ต่อสหรัฐฯ) ทั้งนี้ สี กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ (ระหว่างจีนกับรัสเซีย) นี้ ไปไกลเกินกว่าการเป็นพันธมิตรกันด้วยซ้ำ ในเรื่องของความใกล้ชิดกันและความมีประสิทธิภาพ” ตรงนี้แหละเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้
(ดูเพิ่มเติมการประชุมเสมือนระหว่าง สี กับ ปูติน ได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202112/t20211215_10470186.html)
การเป็นพันธมิตรกันในทางการเมืองระหว่างประเทศมักให้คำจำกัดความกันว่า เป็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐเพื่อให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นมา กลุ่มพันธมิตรต่างๆ ในสมัยนี้จะมีข้อกำหนดให้มีการปฏิบัติการร่วมกัน และโดยทั่วไปแล้วมีธรรมชาติในทางมุ่งป้องกัน, มีการผูกมัดเหล่าพันธมิตรทั้งหลายให้รวมกำลังกันถ้าหนึ่งในพวกเขาถูกโจมตี แม้กระทั่งพันธมิตรแบบไม่เป็นทางการก็ตามที ตามปกติแล้วยังคงก่อเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ก็จากการมีสนธิสัญญาข้อตกลงแห่งการเป็นพันธมิตรกัน โดยที่ “บทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่งยวดที่สุด ได้แก่พวกบทบัญญัติซึ่งให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ casus foederis นั่นคือสภาวการณ์ต่างๆ ที่สนธิสัญญาดังกล่าวผูกมัดให้พันธมิตรรายหนึ่งๆ ต้องเข้าช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกด้วยกัน” (เอนไซโคลพีเดีย บริเตนนิกา)
เห็นได้ชัดเจนว่า ความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัสเซียกับจีนนั้น ไม่ได้เข้ากับคำจำกัดความข้างต้น เริ่มต้นเลย ความเป็นหุ้นส่วนนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปต่างๆ ในเวลาเกิดสงคราม แทนที่จะเป็นเช่นนั้น มันกลับก่อตั้งขึ้นมาโดยยึดโยงกับการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปีต้นๆ ของยุคหลังสงครามเย็น และมีลักษณะแตกต่างกันไกลกับการเป็นพันธมิตรกันแบบมีวัตถุประสงค์อันจำกัดและมุ่งประโยชน์เฉพาะช่วงเวลาเท่านั้น ความเป็นหุ้นส่วนนี้สร้างขึ้นบนหลักการแห่งความเสมอภาค, การเคารพซึ่งกันและกัน, และบนความหนุนเสริมกันและกันระหว่างเศรษฐกิจการเมืองของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศทั้งสองยิ่งสามารถพัฒนา “ความใกล้ชิดกัน” อย่างเป็นพิเศษขึ้นมา
ความไว้วางใจกันและกัน และความเชื่อมั่นกันและกัน สามารถเติบโตขยายตัวขึ้นมาจากคุณสมบัติของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันในแง่ของการมุ่งผลในทางปฏิบัติและการมีความยืดหยุ่น โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำหนดบรรทัดฐานของพฤติกรรม และทั้งสองฝ่ายยังยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งมีช่องทางและเสรีภาพในการดำเนินการต่างๆ ของตนเอง ความเป็นพันธมิตรนี้ไม่ได้เรียกร้องผูกมัดอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นหนา –ดังที่จะเห็นได้ว่า จีนไม่ได้แสดงการสนับสนุนรัสเซียในเรื่องที่แคว้นอับคาเซีย (Abkhazia) และแคว้นเซาท์ออสเซเชีย (South Ossetia) ซึ่งแยกตัวจากจอร์เจีย ประกาศตนเป็นรัฐเอกราช (ปี 2008) หรือในเรื่องการจัดการลงประชามติในแหลมไครเมีย เพื่อตัดสินว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐรัสเซียหรือไม่ (ปี 2014)
ที่จริงแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีความสอดคล้องต้องกันก็ยิ่งขยายตัวกว้างขวางขึ้นไปอีก ขณะที่ความกังวลห่วงใยระดับแกนกลางที่สุด และความมุ่งมาดปรารถนาของประเทศทั้งสองก็กำลังมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นหุ้นส่วนกันอย่างครอบคลุมรอบด้านของพวกเขาจึงมาถึงจุดที่ก่อให้เกิดผลเป็นทวีคูณแก่ยุทธศาสตร์แห่งชาติของพวกเขาแต่ละประเทศ แล้วยังกลับมาเป็นระบบที่คอยสนับสนุนหนุนเสริมกันและกันอีกด้วย
แต่แล้ว ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงขึ้นในสิ่งแวดล้อมภายนอก เมื่อฝ่ายตะวันตกก่อการรัฐประหารยึดอำนาจในกรุงเคียฟ เพื่อสถาปนารัฐบาลต่อต้านรัสเซียขึ้นมาในยูเครนเมื่อปี 2014 นับตั้งแต่นั้นจีนกับรัสเซียก็ยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ของพวกเขา ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือกันทั้งทางการเมือง, การทหาร, และทางเศรษฐกิจ สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ความรับรู้ความเข้าใจที่ว่ามีภัยคุกคามจากคณะบริหารโอบามานั่นแหละ ที่ทำให้ทั้งจีนและรัสเซียต่างเร่งรัดกระบวนการนี้ให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ตั้งแต่นั้นมา ประเทศทั้งสองก็มุ่งโฟกัสที่การขจัดพื้นที่ซึ่งวอชิงตันสามารถฉวยใช้มาขยายความแตกต่างห่างเหินในระหว่างพวกเขาได้ ว่ากันถึงปริมณฑลทางการทหารนั้น การแพร่กระจายยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหาร, การเพิ่มการวางแผนร่วมและการฝึกร่วมอย่างเข้มข้น ได้นำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในด้านนี้ขยับใกล้กันเข้ามาจนไม่ห่างอะไรนักจากการมีศักยภาพในการใช้ฐานทัพร่วมกัน และ/หรือ ความเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน
เจตนามุ่งก้าวร้าวรุกรานของสหรัฐฯที่มีต่อรัสเซียและจีน ได้กลายเป็นปัจจัยที่คอยประสานความเป็นหุ้นส่วนกันของพวกเขาให้มั่นคงแข็งแกร่ง ถึงแม้มันยังคงอยู่ห่างไกลจากความเป็นแรงจูงใจสำคัญที่สุดก็ตามที มองกันในอีกแง่มุมหนึ่ง ความเป็นหุ้นส่วนนี้ได้รับคุณสมบัติความหนักแน่นจากหลายๆ ทิศทาง ทั้งความร่วมมือกันในด้านพลังงาน, การค้า, เทคโนโลยี ฯลฯ ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศทั้งสองเพิ่งตกลงกันได้ในขั้นสุดท้ายในเรื่องพิมพ์เขียวสำหรับการจัดตั้งฐานร่วมกันขึ้นบนดวงจันทร์ เพื่อดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการสำรวจอวกาศ
กระนั้นก็ตาม ประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์ของพวกเขา สามารถที่จะเข้าใจกันได้อย่างเต็มขีดก็ต่อเมื่อเราคำนึงถึงปัจจัยที่ว่า ผลรวมแห่งอำนาจของจีนและของรัสเซียเวลานี้อาจจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอำนาจของสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว และกระทั่งอาจจะแซงหน้าอำนาจของสหรัฐฯได้ด้วยซ้ำในระยะเวลาอันไม่ไกลนัก สหรัฐฯต้องเผชิญกับระบบอาวุธประณีตซับซ้อนจำนวนเยอะกว่ากันมากเมื่อเอาคลังแสงของรัสเซียมาบวกกับคลังแสงของจีน
ทุกวันนี้ สหรัฐฯมีเหตุผลทีเดียวที่จะต้องกังวลว่า ความร่วมมือกันระหว่างจีนกับรัสเซียคือหนึ่งในความเป็นไปได้ที่มีเหตุผลในวิกฤตการณ์การความมั่นคงซึ่งอาจเกิดขึ้นมาบนคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัสเซียมองอิหร่านในฐานะเป็น “ส่วนหนึ่งของทีม” ซึ่งช่วยกันสนับสนุนหลักการต่างๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ, การทำข้อตกลงแบบทั่วทั้งสากล, บทบาทแบบเป็นแกนกลางของสหประชาชาติ ฯลฯ
ปักกิ่งแสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขันสำหรับความพยายามของรัสเซียในการปราบปราม “การปฏิวัติสี” ในคาซัคสถาน ถึงแม้มันอาจจะดูยังห่างไกลความจริงที่จะไปคาดว่า จีนกับรัสเซียอาจจะมีความเคลื่อนไหวแบบสอดประสานกันในเรื่องยูเครนและเรื่องไต้หวน แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า ฉิน กัง (Qin Gang) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ เลือกเอาจังหวะเวลาในปัจจุบันนี่แหละ ออกมาพูดระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐฯซึ่งยากนักหนาที่จะเกิดขึ้นมา ว่า ถ้าหากทางการของเกาะไต้หวัน ซึ่งได้รับการกระตุ้นส่งเสริมจากสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าไปเรื่อยๆ บนเส้นทางมุ่งสู่การประกาศเอกราชแล้ว มันก็มีความเป็นไปได้อย่างที่สุดที่จะพัวพันนำเอาจีนและสหรัฐฯเข้าไป “ในความขัดแย้งสู้รบกันทางการทหาร”
ไม่ต้องสงสัยเลย นี่เป็นคำเตือนตรงๆ ไปถึงสหรัฐฯ และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนครั้งหนึ่งต่อพวกชนชั้นนำทางการเมืองของสหรัฐฯ และแน่นอนทีเดียว มันยังเป็นการฟาดกระหน่ำออกมาในเวลาเดียวกับที่กำลังเกิดเรื่องยูเครน ในทั้งสองกรณีนี้ วอชิงตันล้วนแต่กระทำการอย่างหน้าด้านในการรื้อถอน “ราวกั้นขอบถนน” (นั่นคือแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯกับจีน 3 ฉบับในกรณีไต้หวัน และคำรับประกันเรื่องการรับรัฐสมาชิกเพิ่มเติมของนาโต้ในกรณียูเครน) และหันไปใช้ “ยุทธวิธีฝานไส้กรอกซาลามี” (salami tactic) ด้วยการใช้ความพยายามรุกคืบทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆ มาบีบคั้นให้ปักกิ่งและมอสโกต้องปรองดองยอมรับข้อเท็จจริงในภาคสนามซึ่งเกิดขึ้นสำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว
จีนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนหนึ่งในผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการเผชิญหน้ากันอย่างยาวนานซับซ้อนระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย ด้วยการที่วอชิงตันกำลังเพิ่มแรงกดดันอย่างต่อเนื่องทั้งในยุโรปและในอินโด-แปซิฟิก จีนกับรัสเซียจึงถูกผลักไสให้เข้าสู่ภาวะ “หลังชนกัน” ในยูเรเชีย จีนกำลังจะกลายเป็นหุ้นส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งไปได้เสียแล้ว ในวิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินไปซึ่งรัสเซียมีอยู่กับสหรัฐฯ เวลาเดียวกันนั้นในทางฝั่งจีนเอง ปักกิ่งก็ไม่สามารถที่จะยังคงอยู่นิ่งเฉยได้อีกแล้ว ถ้าหากรัสเซียถูกสหรัฐฯบดขยี้ ไม่เช่นนั้นจีนก็จะสูญเสีย “ความลึกในทางยุทธศาสตร์” (strategic depth)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องท่าทีเช่นนี้ของจีนได้ที่ https://www.globaltimes.cn/page/202201/1250189.shtml)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/why-russia-china-partnership-is-effective/