(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Is the Ukraine ‘crisis’ just another US charade?
By JACK F MATLOCK JR
15/02/2022
เราเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ถูกทำให้เกิดขึ้นมาอย่างจงใจ และดังนั้นจึงสามารถทำนายได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นมา มันสามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้สามัญสำนึก ทว่าไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเรื่องที่ทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ ในเมื่อเวลานี้พวกผู้นำทั้งของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ต่างพัฒนาจุดยืนแบบพวกหวาดระแวงรัสเซีย ขึ้นมาถึงขนาดนี้
พวกเราได้รับการบอกกล่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า สงครามน่าจะใกล้เกิดขึ้นเต็มทีแล้วในยูเครน เราได้รับการบอกเล่าว่า กองทหารรัสเซียกำลังรวมพลกันอยู่เป็นจำนวนมากที่ชายแดนประชิดกับยูเครน และอาจบุกโจมตีได้ทุกเมื่อ พลเมืองชาวอเมริกันกำลังได้รับคำแนะนำให้เดินทางออกจากยูเครน และสมาชิกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯก็กำลังอพยพกัน
ขณะเดียวกันนั้นเอง ประธานาธิบดีของยูเครนกลับแนะนำว่าอย่าได้ตื่นตระหนก และพูดอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ได้มองเห็นว่าการรุกรานของรัสเซียกำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อแล้ว
วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้มีเจตนารมณ์ใดๆ ที่จะเข้ารุกรานยูเครน ข้อเรียกร้องต้องการของเขาก็คือต้องยุติกระบวนการเพิ่มสมาชิกใหม่ๆ เข้าไปในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซียต้องการให้มีการรับประกันว่า ยูเครน และ จอร์เจีย จะไม่มีวันเข้าเป็นสมาชิกนาโต้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ยอมให้การรับประกันดังกล่าว แต่ก็ระบุอย่างชัดเจนว่าเขามีความปรารถนาที่จะเจรจาหารือกันต่อไปอีกเกี่ยวกับคำถามต่างๆ ในเรื่องเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ในยุโรป เวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลยูเครนก็แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งเหมือนกันว่า ตนไม่มีเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับที่ทำกันไว้ในปี 2015 เพื่อการนำเอาพวกจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคดอนบาสกลับมารวมเข้ากับยูเครนแต่ให้มีอำนาจปกครองตนเองของท้องถิ่นในระดับเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม --ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ยูเครนทำไว้กับรัสเซีย, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี โดยที่สหรัฐฯก็ให้การรับรอง
ผมอาจจะผิดก็ได้ –เป็นความผิดพลาดถึงระดับหายนะทีเดียว— แต่ผมไม่สามารถที่จะโยนทิ้งความสงสัยข้องใจที่ว่า พวกเรากำลังเป็นประจักษ์พยานของเรื่องเสแสร้างจัดฉากอย่างแนบเนียนซับซ้อน ซึ่งถูกขยายความให้หยาบช้ามากขึ้นไปอีกโดยพวกระดับบิ๊กเบิ้มของสื่อมวลชนอเมริกัน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองภายในประเทศ
ในสภาพที่จะต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น, การทำลายล้างของโควิด-19, การถูกประณาม (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นธรรมเลย) สำหรับการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน, บวกกับความล้มเหลวในการระดมเรียกร้องเอาความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพรรคของเขาเองเพื่อผ่านร่างกฎหมาย “Build Back Better”, ทำให้เวลานี้คณะบริหารไบเดนต้องดิ้นรนหนักภายใต้เรตติ้งความยอมรับผลงานที่ดิ่งลงๆ ขณะเวลาก็ขยับเคลื่อนใกล้จะถึงการเลือกตั้งรัฐสภาในปลายปีนี้เข้าไปเรื่อยๆ
เนื่องจาก “ชัยชนะ” อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เหนือความทุกข์ร้อนภายในประเทศทั้งหลายดูเป็นไปไม่ได้มากขึ้นทุกที ทำไมจึงไม่สร้างชัยชนะขึ้นมาสักอันหนึ่งจากภายนอกประเทศ ด้วยการทำให้ดูเหมือนว่าเขาประสบความสำเร็จในการป้องกันไม่ให้ยูเครนถูกรุกราน ด้วย “การยืนหยัดกล้าเผชิญหน้ากับ วลาดิมีร์ ปูติน” ?
ในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนว่าเป้าหมายต่างๆ ของประธานาธิบดีปูตินนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างที่เขาประกาศเอาไว้อย่างเปิดเผยเรื่อยมา –ซึ่งก็คือสิ่งที่เขาระบุเอาไว้นับตั้งแต่คำปราศรัยของเขาในเมืองมิวนิก, เยอรมนี ในปี 2007 เพื่อทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นและถอดความให้เห็นได้ชัดๆ มากขึ้น ผมจะขอสรุปรวบคำพูดของเขาออกมาอย่างนี้: “ปฏิบัติกับพวกเราอย่างน้อยที่สุดก็ด้วยความเคารพสักเล็กน้อย พวกเราไม่ได้คุกคามพวกคุณหรือพวกพันธมิตรของพวกคุณ ทำไมพวกคุณจึงปฏิเสธไม่ได้พวกเราได้รับความมั่นคงปลอดภัย ชนิดที่พวกคุณยืนกรานเรื่อยมาว่าพวกคุณจะต้องได้รับ ?”
เมื่อปี 1991 ตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงไปนั้น ผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก ซึ่งละเลยมองข้ามเหตุการณ์ต่างๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นจุดเด่นในช่วงสิ้นสุดทศวรรษ 1980 และเริ่มต้นทศวรรษ 1990 พากันพิจารณาว่านี่แหละคือการยุติลงของสงครามเย็น แต่พวกเขาต่างผิดพลาดแล้ว สงครามเย็นนั้นได้สิ้นสุดลงไปอย่างน้อยที่สุด 2 ปีก่อนหน้านั้นต่างหาก มันจบลงด้วยการเจรจาและการคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกๆ ฝ่าย
ประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ (ประธานาธิบดีบุช คนพ่อ -ผู้แปล) แสดงความคาดหวังว่า มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ (ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย -ผู้แปล) จะสามารถใช้ความพยายามจนรักษาให้ส่วนใหญ่ของ 12 สาธารณรัฐ (ซึ่งอยู่ในสหภาพโซเวียต -ผู้แปล) ที่ไม่ใช่รัฐแถบบอลติก (สาธารณรัฐของโซเวียตที่เป็นรัฐแถบบอลติก ได้แก่ ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, และเอสโตเนีย -ผู้แปล) ยังคงรวมตัวเป็นสหพันธรัฐกันต่อไปด้วยความสมัครใจ ในวันที่ 1 สิงหาคม 1991 ประธานาธิบดีบุช ไปกล่าวปราศรัยที่รัฐสภาของยูเครน (สภา Verkhovna Rada) ซึ่งเขาให้การรับรองแผนการของกอร์บาชอฟ ในเรื่องการมีสหพันธรัฐอันหนึ่งขึ้นมาด้วยความสมัครใจ พร้อมกับเตือนว่าอย่าได้ถลำไปสู่ “ลัทธิชาตินิยมแบบฆ่าตัวตาย” (suicidal nationalism)
วลีนี้ มีแรงบันดาลใจจาก ซเวียด กัมซาคุร์เดีย (Zviad Gamsakurdia) ผู้นำของ จอร์เจีย ในตอนนั้น ที่ใช้วลีนี้มาประณามโจมตีพวกชนกลุ่มน้อยในโซเวียต จอร์เจีย (Soviet Georgia) ผมคิดว่ามันสามารถนำเอามาประยุกต์ใช้กับยูเครนในทุกวันนี้ได้ ด้วยเหตุผลซึ่งผมจะขออธิบายขยายความต่อไป
ส่วนที่สำคัญที่สุด: ถึงแม้มีความเชื่อกันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ทั้งในพวก “บล็อบ” (“blob” คำสะแลงหมายถึงพวกงี่เง่างุ่มง่าม -ผู้แปล) ในสหรัฐฯ และ ทั้งสาธารณชนชาวรัสเซียส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วสหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนให้สหภาพโซเวียตแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ หรอก ยิ่งบอกว่าสหรัฐฯเป็นตัวการในเรื่องนี้ก็ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ เรานั้นมีแต่สนับสนุนตลอดมาให้เอสโตเนีย, ลัตเวีย, และลิทัวเนีย เป็นเอกราช และหนึ่งในการปฏิบัติงานอันดับท้ายๆ ของรัฐสภาโซเวียต ก็คือการให้การรับรองทางกฎหมายแก่การประกาศตนเป็นเอกราชของพวกเขา
ควรต้องพูดเอาไว้ในที่นี้ด้วยว่า ถึงแม้มีการส่งเสียงแสดงความกลัวกันอยู่บ่อยๆ แต่ วลาดิมีร์ ปูติน นั้นไม่เคยเลยที่จะคุกคามแสดงความต้องการดูดซับเอาพวกประเทศบอลติกเหล่านี้กลับคืนไป หรือที่จะกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนใดๆ ของพวกเขา ถึงแม้เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์บางคนบางฝ่ายที่ปฏิเสธไม่ยอมให้คนชาติพันธุ์รัสเซียในประเทศเหล่านี้ ได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างสมบูรณ์ อันเป็นหลักการประการหนึ่งที่แม้กระทั่งสหภาพยุโรปก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบังคับใช้ให้เป็นจริง
แต่เอาล่ะ ขอให้เรากลับไปสู่เรื่องที่เป็นจุดสำคัญอันดับแรกของข้อเขียนชิ้นนี้กันดีกว่า
วิกฤตการณ์คราวนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ?
ได้ครับ เนื่องจากข้อเรียกร้องสำคัญของประธานาธิบดีปูติน คือ หลักประกันที่ นาโต้ จะไม่รับสมาชิกเพิ่มมากขึ้นอีก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่รับ ยูเครน หรือ จอร์เจีย เป็นสมาชิก จึงเห็นได้ชัดว่ามันจะไม่มีพื้นฐานใดๆ สำหรับการเกิดวิกฤตการณ์ในปัจจุบันขึ้นมาหรอก ถ้าหากภายหลังการสิ้นสุดสงครามเย็นแล้วไม่ได้มีการขยายกลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ออกไป หรือถ้าหากการขยายตัวเกิดขึ้นในลักษณะสอดประสานกับการสร้างโครงสร้างความมั่นคงขึ้นในยุโรป โดยที่จะครอบคลุมถึงรัสเซียด้วย
บางทีเราควรที่จะมองคำถามนี้ในมุมที่กว้างขวางมากขึ้น นั่นคือ ประเทศอื่นๆ เขาทำยังไงกันบ้าง เพื่อตอบโต้เมื่อมีกลุ่มพันธมิตรทางทหารต่างด้าวมาอยู่ใกล้ๆ พรมแดนของพวกเขา?
เนื่องจากเรากำลังพูดกันถึงนโยบายของอเมริกัน บางทีเราควรให้ความใส่ใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่สหรัฐฯแสดงปฏิกิริยาต่อความพยายามของประเทศภายนอกที่จะจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นในประเทศที่อยู่ใกล้ๆ กับอเมริกา
มีใครจำหลักการมอนโร (Monroe Doctrine) ได้ไหมครับ คำประกาศว่าด้วยเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ (ที่ห้ามไม่ให้ชาติอื่นๆ เข้ามาล่วงล้ำ) ซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งซีกโลกทั้งหมดเลยนั่นแหละครับ ? แล้วเราก็หมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ เสียด้วย! เมื่อเราทราบมาว่า เยอรมนีของจักรพรรดิไกเซอร์วิลเฮล์ม (Kaiser Wilhelm) กำลังพยายามที่จะตะล่อมเอา เม็กซิโก เข้าเป็นพันธมิตรของตนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นี่ก็กลายเป็นแรงจูงใจอันทรงพลังประการหนึ่งสำหรับให้เราประกาศสงครามกับเยอรมนีในเวลาต่อมา
ต่อจากนั้น แน่นอนครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผม นั่นคือ เราเผชิญกับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา นี่เป็นอะไรที่ผมจดจำได้อย่างแจ่มชัดมีชีวิตชีวามาก เนื่องจากในตอนนั้นผมทำงานอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงมอสโก และทำหน้าที่แปลข้อความบางส่วนของ นิกิตา ครุสชอฟ (ผู้นำของสหภาพโซเวียตในเวลานั้น) ที่ส่งไปถึง จอห์น เอฟ เคนเนดี (ประธานาธิบดีของสหรัฐฯในตอนนั้น)
เราควรต้องมองดูเหตุการณ์อย่างเรื่องวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา จากจุดยืนของหลักการบางประการทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ หรือว่าควรพิจารณาจากจุดยืนของพฤติกรรมที่พวกผู้นำประเทศหนึ่งๆ จะพึงกระทำ ถ้าหากพวกเขารู้สึกถูกคุกคาม? กฎหมายระหว่างประเทศในเวลานั้นบอกไว้ยังไงบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับการนำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์เข้าไปติดตั้งประจำการในคิวบา?
คิวบาเป็นรัฐอธิปไตย และย่อมมีสิทธิที่จะแสวงหาความสนับสนุนเพื่อความเป็นเอกราชของตนจากที่ไหนก็ได้ที่ตนเองเลือก คิวบานั้นถูกข่มขู่คุกคามจากสหรัฐฯเรื่อยมา กระทั่งพยายามที่จะเข้ารุกรานด้วยซ้ำ โดยใช้ชาวคิวบาที่เป็นพวกต่อต้าน (ระบอบปกครอง ฟิเดล) คาสโตร และ คิวบา จึงขอความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
เพราะทราบว่าสหรัฐฯได้ไปติดตั้งประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในตุรกี ผู้เป็นพันธมิตรรายหนึ่งของสหรัฐฯซึ่งในทางเป็นจริงแล้วมีพรมแดนติดต่อกับสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ จึงตัดสินใจที่จะนำเอาขีปนาวุธนิวเคลียร์มาประจำอยู่ในคิวบา สหรัฐฯมีความชอบธรรมอะไรหรือที่จะคัดค้าน ในเมื่อสหภาพโซเวียตกำลังติดตั้งประจำการอาวุธ ในทำนองเดียวกับอาวุธที่ถูกติดตั้งประจำการเพื่อจ้องเล่นงานเขา ?
แน่นอนทีเดียว มันเป็นความผิดพลาด เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ (เรากระทั่งอาจจะย้อนนึกถึงคำคมของ แตล์ลีรองด์ ที่ว่า “ ...เลวร้ายกว่าอาชญากรรม... ”)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://quotepark.com/quotes/1894062-charles-maurice-de-talleyrand-perigord-it-is-worse-than-a-crime-it-is-a-mistake/)
(แตล์ลีรองด์ หรือ ชาร์ลส์ มอริซ เดอ แตล์ลีรองด์-เปริกอร์ Charles Maurice de Talleyrand-Périgord เกิดปี 1754 เสียชีวิตปี 1838 เป็นบาทหลวงนักการทูตและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Maurice_de_Talleyrand-P%C3%A9rigord)
ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที มันไม่ได้วินิจฉัยตัดสินกันด้วยการอภิปรายถกเถียงกัน ด้วยการตีความและการประยุกต์ใช้ประเด็นรายละเอียดของ “กฎหมายระหว่างประเทศ” –ซึ่งถึงอย่างไรมันก็ไม่ได้เป็นอย่างเดียวกับกฎหมายของท้องถิ่นเทศบาล หรือเทศบัญญัติ อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ภายในเขตแดนของประเทศ
เคนเนดี จำเป็นที่จะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้เพื่อขจัดภัยคุกคามนี้ออกไป คณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯเสนอแนะให้กำจัดขีปนาวุธในคิวบานี้ด้วยการทิ้งระเบิดทำลาย บุญยังรักษาที่เคนเนดีไม่ได้ไปไกลถึงขนาดนั้น แต่ใช้วิธีประกาศปิดล้อมคิวบา พร้อมกับเรียกร้องให้ถอนขีปนาวุธออกไปเสีย
ในตอนท้ายของสัปดาห์แห่งการส่งข้อความโต้ตอบกันกลับไปกลับมา –ผมเป็นคนแปลข้อความชิ้นที่ยาวที่สุดของ ครุสชอฟ – ก็เป็นที่ตกลงกันว่า ครุสชอฟ จะเคลื่อนย้ายขีปนาวุธนิวเคลียร์ออกไปจากคิวบา สิ่งที่ไม่ได้มีการประกาศออกมาเป็นข่าวก็คือ เคนเนดี ก็ยินยอมที่จะเคลื่อนย้ายขีปนาวุธสหรัฐฯออกจากตุรกี แต่คำมั่นสัญญาในเรื่องนี้ต้องไม่มีการบอกกล่าวให้สาธารณชนทราบ
แน่นอนละ พวกเรานักการทูตอเมริกันในสถานเอกอัครราชทูตที่มอสโกต่างดีอกดีใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาเช่นนี้ พวกเรากระทั่งไม่ได้รับแจ้งถึงข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับขีปนาวุธในตุรกีด้วยซ้ำไป เราไม่มีไอเดียเลยว่าเราเฉียดใกล้การตอบโต้กันด้วยนิวเคลียร์ถึงขนาดไหน เราทราบดีว่าสหรัฐฯมีความเหนือล้ำกว่าในทางการทหารในแถบทะเลแคริบเบียน และเราคงจะส่งเสียงเชียร์ด้วยซ้ำไป ถ้าหากกองทัพอากาศสหรัฐฯเข้าโจมตีสถานที่ตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบา เรานั้นผิดพลาดเสียแล้ว
ในการพบปะประชุมครั้งต่อๆ มากับพวกนักการทูตและพวกเจ้าหน้าที่ทางทหารของโซเวียต เราจึงได้ทราบว่าถ้าหากสถานที่ตั้งดังกล่าวถูกบอมบ์ พวกเจ้าหน้าที่ในจุดนั้นสามารถเปิดฉากยิงขีปนาวุธได้เลยโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากมอสโก
เราอาจจะต้องสูญเสีย ไมอามี ไป แล้วยังอาจจะมากกว่านั้นอีก ทั้งนี้เราก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันว่า เรือดำน้ำโซเวียตลำหนึ่งมาถึงจุดซึ่งใกล้ที่จะยิงตอร์ปิโดติดนิวเคลียร์เข้าใส่เรือพิฆาตลำหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเรือพิฆาตคอยขัดขวางไม่ให้มันลอยลำเพื่อเติมอากาศ
มันเฉียดใกล้ทีเดียว มันเป็นเรื่องอันตรายมากที่เข้าไปเกี่ยวข้องพันพัวอยู่ในการเผชิญหน้าทางทหารกับพวกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ คุณไม่จำเป็นที่จะต้องมีปริญญาบัตรชั้นสูงทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จึงจะสามารถทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ได้หรอก คุณจำเป็นที่จะต้องมีสามัญสำนึกเท่านั้นแหละ
มันเป็นสิ่งที่ทำนายได้ แต่ว่ามีการทำนายไว้หรือเปล่า?
“ความผิดพลาดด้วยความสะเพร่าอย่างร้ายแรงที่สุดในทางยุทธศาสตร์ซึ่งเคยเกิดขึ้นมานับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น” นี่เป็นคำพูดของผม และเสียงของผมก็ไม่ได้เป็นเสียงเดียวโดดๆ ด้วย
ในปี 1997 เมื่อเกิดคำถามขึ้นมาว่า ควรที่จะเพิ่มสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) หรือไม่ ผมถูกเรียกไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯด้วย ในช่วงของการเกริ่นนำก่อนการซักถาม ผมได้กล่าวคำแถลงด้วยข้อความดังต่อไปนี้:
“ผมพิจารณาเห็นว่า ข้อเสนอแนะของคณะบริหาร (ของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน) ที่ให้รับสมาชิกใหม่ๆ เข้า นาโต้ ในครั้งนี้นั้น เป็นข้อเสนอแนะที่ผิดพลาด ถ้าหากเรื่องนี้ได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาสหรัฐฯแล้ว มันก็อาจจะถูกจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็น ความผิดพลาดด้วยความสะเพร่าอย่างร้ายแรงที่สุดในทางยุทธศาสตร์ซึ่งเคยเกิดขึ้นมานับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น
“นอกจากห่างไกลนักที่มันจะทำให้ความมั่นคงของสหรัฐฯ, ของเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ, และของชาติต่างๆ ที่ปรารถนาเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ มีการกระเตื้องดีขึ้นแล้ว มันยังอาจจะเป็นการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่องกันเป็นชุด ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างสาหัสที่สุดต่อประเทศชาติแห่งนี้ นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตทีเดียว”
เหตุผลที่ผมหยิบยกมาสนับสนุนความเห็นดังกล่าว ได้แก่คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมองกันถึงประสิทธิผลในภาพรวมแล้ว ทัดเทียมกับของสหรัฐฯทีเดียว ถ้าหากไม่ถึงขั้นเหนือกว่าด้วยซ้ำ คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่าของสหรัฐฯหรือของรัสเซีย ถ้าหากถูกนำมาใช้ใน สงครามร้อน กันจริงๆ แล้ว ล้วนมีศักยภาพที่จะยุติปิดฉากความอยู่รอดและความเจริญงอกงามของอารยธรรมบนพื้นพิภพ กระทั่งเป็นไปได้ที่จะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ตลอดจนชีวิตอื่นๆ อีกมากมายบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ต้องสูญสลายไปเลย
ถึงแม้ผลจากข้อตกลงควบคุมอาวุธหลายๆ ฉบับที่ทำกันไว้โดยคณะบริหารโรนัลด์ เรแกน และคณะบริหารบุชชุดแรก ทำให้สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตยังคงมีการเจรจากันเพื่อการลดกำลังรบต่อไปอีกในระหว่างสมัยของคณะบริหารบิลล์ คลินตัน แต่การพูดจาเหล่านี้ก็อยู่ในอาการชะงักงัน นอกจากนั้น ยังไม่ได้มีความพยายามในการเจรจาหารือเพื่อเคลื่อนย้ายพวกอาวุธนิวเคลียร์พิสัยสั้นออกไปจากยุโรปอีกด้วย
นี่ไม่ได้เป็นเหตุผลเพียงประการเดียวที่ผมหยิบยกขึ้นมา เพื่อเสนอแนะให้นำเอารัสเซียเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่กีดกันพวกเขาออกไปจากเรื่องความมั่นคงของยุโรป ทั้งนี้ผมอธิบายเอาไว้ดังนี้:
“แผนการที่จะเพิ่มสมาชิกภาพของ นาโต้ มีข้อบกพร่องล้มเหลวตรงที่ไม่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศตามความเป็นจริง เป็นสถานการณ์ระหว่างประเทศซึ่งปรากฏออกมาหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น แต่กลับยังคงเดินหน้าไปตามหลักตรรกะซึ่งมีความสมเหตุสมผลเฉพาะในระหว่างสงครามเย็นเท่านั้น การแบ่งแยกยุโรปเป็นสิ่งที่จบสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีความคิดใดๆ เกี่ยวกับการนำเอาสมาชิกใหม่ๆ เข้าไปใน นาโต้
“ไม่มีใครเลยที่กำลังคุกคามจะแบ่งแยกยุโรปกันอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องไร้สาระที่จะกล่าวอ้าง อย่างที่บางคนบางฝ่ายกำลังกล่าวอ้างอยู่ ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ นาโต้ รับสมาชิกใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแบ่งแยกยุโรปในอนาคต ถ้าหาก นาโต้ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดสำหรับการทำให้ทวีปนี้เป็นเอกภาพกันแล้ว หนทางเดียวเท่านั้นซึ่งสมเหตุสมผลที่ นาโต้ สามารถกระทำได้ ก็คือ การขยายสมาชิกโดยรวมเอาประเทศยุโรปทุกๆ ประเทศเข้ามาร่วม
“แต่นี่ดูเหมือนไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของคณะบริหารนี้เลย และกระทั่งถ้าหากว่าคณะบริหารนี้มีจุดมุ่งหมายข้อนี้อยู่ หนทางวิธีการที่จะบรรลุถึงย่อมไม่ใช่ด้วยการรับสมาชิกใหม่ๆ กันเป็นคราวละเล็กละน้อยอย่างแน่แนอน”
จากนั้น ผมพูดต่อไปว่า “ทั้งหมดที่ระบุว่าเป็นเป้าหมายของการขยาย นาโต้ ซึ่งเสนอเอาไว้นี้ ล้วนเป็นเรื่องน่าหัวเราะ แน่นอนทีเดียว พวกประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกนั้น ในทางวัฒนธรรมถือเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป และสมควรที่จะได้หลักประกันให้มีที่ทางอยู่ในสถาบันต่างๆ ของยุโรป และแน่นอนทีเดียว เรามีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพขึ้นที่นั่น
“ทว่าการเข้าเป็นสมาชิก นาโต้ ย่อมไม่ใช่เป็นหนทางเดียวสำหรับการบรรลุจุดหมายปลายทางเหล่านี้ มันกระทั่งไม่ได้เป็นหนทางที่ดีสุดด้วยซ้ำไป ในสภาพที่ไม่ได้มีภัยคุกคามด้านความมั่นคงอย่างชัดเจนและอย่างสามารถจำแนกแยกแยะให้เห็นจริง”
แท้ที่จริงแล้ว การตัดสินที่จะขยาย นาโต้ แบบคราวละเล็กละน้อย คือการหันหัวเลี้ยวกลับจากพวกนโยบายของอเมริกันซึ่งผลิตออกมาเมื่อตอนสิ้นสุดสงครามเย็น และการปลดปล่อยยุโรปตะวันออก
ประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศเป้าหมายในการบรรลุถึง “ยุโรปที่เป็นองค์รวมและมีเสรี” ส่วนประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ของโซเวียต ได้พูดถึง “ยุโรปที่เป็นถิ่นกำเนิดร่วมของพวกเรา”, พร้อมกับแสดงความยินดีต้อนรับพวกตัวแทนของรัฐบาลต่างๆ ในยุโรปตะวันออกที่ได้โค่นล้มผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ของพวกเขา, รวมทั้งได้ออกคำสั่งให้ลดทอนความคิดเห็นหัวรุนแรงภายในกองกำลังอาวุธโซเวียต ด้วยการอธิบายว่า การที่ประเทศหนึ่งๆ จะมีความมั่นคงได้นั้น จำเป็นต้องมีความมั่นคงสำหรับทุกๆ ประเทศขึ้นมา
บุชยังให้ความมั่นใจแก่ กอร์บาชอฟ ระหว่างการพบปะหารือของพวกเขาที่มอลตา ในเดือนธันวาคม 1989 ว่า ถ้าหากพวกประเทศในยุโรปตะวันออกได้รับอนุญาตให้สามารถเลือกทิศทางความเชื่อในอนาคตของพวกเขาเองได้โดยผ่านกระบวนการแบบประชาธิปไตยแล้ว สหรัฐฯก็จะ “ไม่ฉวยประโยชน์” จากกระบวนการดังกล่าว (เห็นได้ชัดเจนว่า การนำเอาประเทศต่างๆ ที่ตอนนั้นยังอยู่ในกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ Warsaw Pact เข้ามาอยู่ใน นาโต้ จะต้องถูกถือว่าเป็น “การฉวยประโยชน์”)
ในปีรุ่งขึ้น กอร์บาชอฟได้รับหลักประกัน ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในรูปสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการก็ตามที ว่า ถ้าหากเยอรมนีที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว (ระหว่างเยอรมันตะวันตก กับ เยอรมันตะวันออก) ได้รับอนุญาตให้ยังคงอยู่ใน นาโต้ แล้ว ก็จะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพื่อขยายเขตอำนาจของ นาโต้ ไปทางตะวันออกอีก “ไม่มีแม้กระทั่งนิ้วเดียว”
ความคิดเห็นเหล่านี้เสนอต่อ กอร์บาชอฟ ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในทันทีที่เกิดการแตกสลาย สหพันธรัฐรัสเซียก็เหลือประชากรอยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่เคยมีอยู่ในสหภาพโซเวียต ขณะที่สถาบันทางการทหารอยู่ในอาการขวัญหนีดีฝ่อ และอยู่ในความยุ่งเหยิงปั่นป่วนอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยสำหรับการขยาย นาโต้ ภายหลังสหภาพโซเวียตยอมรับรองและเคารพในความเป็นเอกราชของพวกประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกแล้ว มันก็ยิ่งมีเหตุผลน้อยลงไปใหญ่ที่จะหวาดกลัวว่าสหพันธรัฐรัสเซียจะกลายเป็นภัยคุกคามขึ้นมา
การเร่งรัดให้เกิดขึ้นมาอย่างจงใจ?
อย่างไรก็ดี การนำเอาประเทศในยุโรปตะวันออกเพิ่มเข้าไปใน นาโต้ ยังคงดำเนินต่อไปในสมัยของคณะบริหาร จอร์จ ดับเบิลยู บุช (ปี 2001 – 2009) ทว่านั่นยังไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่กระตุ้นให้รัสเซียคัดค้าน
ทั้งนี้ในเวลาเดียวกันนั้นเอง สหรัฐฯได้เริ่มถอนตัวออกจากพวกสนธิสัญญาควบคุมอาวุธทั้งหลาย ที่เคยช่วยบรรเทาการแข่งขันกันทางด้านอาวุธอย่างไร้เหตุผลและอันตรายลงได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และถือเป็นข้อตกลงพื้นฐานสำหรับการยุติสงครามเย็น
เรื่องที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าเพื่อน ได้แก่การที่สหรัฐฯตัดสินใจถอนตัวออกจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธทิ้งตัว (Anti-Ballistic Missile Treaty หรือ ABM Treaty) ซึ่งเคยเป็นเสาหลักของบรรดาข้อตกลงชุดต่างๆ เหล่านี้ ที่ได้ระงับการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์มาระยะหนึ่ง
หลังจากเกิดเหตุการณ์การโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่อาคารแฝด เวิลด์เทรดเซนเตอร์ ในนครนิวยอร์ก และอาคารเพนตากอน ในตอนเหนือของรัฐเวอร์จิเนีย ขึ้นมา ประธานาธิบดีปูติน คือผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้โทรศัพท์ไปหาประธานาธิบดีบุช -ประธานาธิบดีของสหรัฐฯในตอนนั้น และเสนอให้ความสนับสนุน
เขากระทำตามคำพูดของเขาด้วยการอำนวยความสะดวกใหแก่การโจมตีเล่นงานระบอบปกครองตอลิบานในอัฟกานิสถาน ซึ่งให้ที่พำนักพักพิงแก่ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำของเครือข่ายอัลกออิดะห์ ที่เป็นแรงบันดาลใจของการโจมตีเหล่านี้
เป็นที่ชัดเจนในเวลานั้นว่า ปูติน มุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ พวกผู้ก่อการร้ายลัทธิญิฮาดซึ่งเล็งเป้าเล่นงานสหรัฐฯเหล่านี้ ก็กำลังเล็งเป้าเล่นงานรัสเซียด้วยเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม สหรัฐฯยังคงเดินไปตามเส้นทางของการละเลยมองข้ามผลประโยชน์ของรัสเซียต่อไป –และก็รวมถึงผลประโยชน์ของพวกพันธมิตรของสหรัฐ ด้วยการเข้ารุกรานอิรัก ซึ่งเป็นพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกรานที่ไม่เพียงถูกคัดค้านจากรัสเซียเท่านั้น แม้แต่ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็คัดค้านเช่นกัน
ขณะที่ ปูติน ดึงลากรัสเซียออกมาจากภาวะล้มละลายซึ่งบังเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990, ทำให้เศรษฐกิจกลับมีเสถียรภาพ, ชำระคืนหนี้สินต่างประเทศของรัสเซีย, ลดกิจกรรมความเคลื่อนไหวของพวกแก๊งอาชญากรรม, และกระทั่งเริ่มต้นสร้างรังวางไข่ทางการเงินเพื่อรับมือกับพายุทางการเงินต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต เขาก็ตกเป็นเป้าหมายของสิ่งที่เขามีความรับรู้ความเข้าใจว่า คือการดูหมิ่นเหยียดหยามครั้งแล้วครั้งเล่าต่อเกียรติศักดิ์ศรีและความมั่นคงของรัสเซีย
เขาแจกแจงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ในคำปราศรัยที่ไปพูดในเมืองมิวนิก, เยอรมนี เมื่อปี 2007
โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯในตอนนั้น ตอบคำปราศรัยนี้ด้วยการบอกว่าเราไม่ได้ต้องการสงครามเย็นครั้งใหม่ แน่ล่ะ มันก็เป็นความจริง ทว่าทั้งตัวเขาตลอดจนผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือของเขาดูไม่ได้ใส่ใจพิจารณาคำเตือนของ ปูติน อย่างจริงจังเลย
โจเซฟ ไบเดน ที่เวลานั้นเป็นวุฒิสมาชิก ให้คำมั่นสัญญาในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้เป็นผู้แข่งขันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ว่า เขาจะ “ยืนหยัดต่อสู้กับ วลาดิมีร์ ปูติน” โอ๊ะโอ๋? แล้ว ปูติน ไปทำอะไรให้เขา หรือให้สหรัฐฯ เจ็บช้ำน้ำใจล่ะ?
ถึงแม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (โอบามาคือผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งในปี 2008 -ผู้แปล) ในตอนแรกๆ ให้สัญญาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลของเขาก็ยังคงเพิกเฉยมองข้ามความกังวลสนใจข้อฉกาจฉกรรจ์ที่สุดของรัสเซียต่อไปอีก แถมยิ่งเพิ่มทวีความพยายามของอเมริกันที่ได้กระทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ในการแยกห่างพวกอดีตสาธารณรัฐโซเวียตทั้งหลายออกจากอิทธิพลของรัสเซีย และอันที่จริงแล้ว กระทั่งพยายามกระตุ้นส่งเสริมให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ขึ้นในรัสเซียเองด้วยซ้ำ
การปฏิบัติการต่างๆ ของฝ่ายอเมริกันในซีเรีย และ ยูเครน ถูกประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ ตลอดจนชาวรัสเซียจำนวนมาก มองว่าเป็นการโจมตีใส่พวกเขาอย่างอ้อมๆ
ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัซซาด (Bashar al-Assad) แห่งซีเรีย เป็นจอมเผด็จการผู้โหดเหี้ยม แต่เขาก็เป็นป้อมปราการทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับพวกรัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS รวมทั้งยังนิยมเรียกกันด้วยชื่อย่อจากชื่อเดิมๆ ของกลุ่มนี้ว่า ISIS ตลอดจน ISIL -ผู้แปล) ซึ่งเป็นขบวนการที่เคยเติบโตขยายตัวในอิรักภายหลังจากการรุกรานของสหรัฐฯ และแผ่ขยายเข้าไปในซีเรีย
ความช่วยเหลือทางทหารที่ถูกทึกทักเอาว่าเป็นการส่งมอบไปให้แก่ “ฝ่ายค้านนิยมประชาธิปไตย” แต่แล้วในเวลาอันรวดเร็ว มันกลับตกไปอยู่มือของพวกนักรบญิฮาด ซึ่งจับมือเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายอัลกออิดะห์ ที่เป็นผู้ดำเนินการโจมตี 9/11 เล่นงานสหรัฐฯนั่นเอง
แต่ภัยคุกคามของพวกนักรบญิฮาดในซีเรีย-อิรัก ที่มีต่อรัสเซียซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างออกไปนั้น ใหญ่โตมโหฬารกว่าที่สหรัฐฯต้องเผชิญมากมายนัก เนื่องจากพวกนักรบญิฮาดเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวมาจากพื้นที่ต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งจากดินแดนของรัสเซียเองด้วย นอกจากนี้ซีเรียยังเป็นเพื่อนบ้านผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของรัสเซีย ดังนั้น จากความพยายามอย่างผิดพลาดของสหรัฐฯในการเด็ดหัวรัฐบาลซีเรีย สหรัฐฯจึงถูกมองว่ากำลังสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่พวกที่เป็นศัตรูของทั้งสหรัฐฯและรัสเซีย
สำหรับในส่วนของยูเครนเท่าที่เห็นกันอยู่จนถึงตอนนี้ สหรัฐฯล่วงล้ำเข้าไปในการเมืองภายในประเทศของยูเครนอย่างลึกซึ้งเหลือเกิน –ไปถึงจุดที่ดูเหมือนเข้าทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของยูเครนด้วยซ้ำไป นอกจากนั้น ในทางพฤตินัยแล้ว สหรัฐฯได้สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลยูเครนในปี 2014 อันเป็นกระบวนวิธีที่โดยปกติแล้วไม่สามารถพิจารณาได้ว่าสอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือการปกครองแบบประชาธิปไตย
ความรุนแรงที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในยูเครนนั้น เริ่มต้นขึ้นในภาคตะวันตกของ “นิยมฝ่ายตะวันตก” ของประเทศ ไม่ใช่ในดินแดนดอนบาส ที่ซึ่งบังเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามมุ่งเล่นงานชาวยูเครนที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์รัสเซียอย่างร้ายแรง
ระหว่างสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของโอบามา คำพูดคำจาของเขาอยู่ในลักษณะมุ่งโจมตีส่วนบุคคลมากขึ้น โดยเข้าร่วมการประสานเสียงที่ดังขึ้นทุกทีในสื่อมวลชนอเมริกันและสื่อมวลชนสหราชอาณาจักร ซึ่งมุ่งใส่ร้ายป้ายสีประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้ โอบามาพูดว่าการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจที่ใช้เล่นงานชาวรัสเซียนั้น คือ “ค่าใช้จ่าย” ที่ปูตินจะต้องจ่ายสำหรับ “ความประพฤติที่ไม่สมควร” ของเขาในยูเครน โดยทำเป็นลืมเอาดื้อๆ ว่าการกระทำของปูตินนั้นเป็นที่นิยมชมชื่นมากในรัสเซีย และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนหน้าโอบามา สามารถที่จะถูกกล่าวหาได้อย่างน่าเชื่อถือว่า มีพฤติการณ์เป็นอาชญากรสงคราม
ต่อจากนั้น โอบามาก็เริ่มต้นใช้ถ้อยคำโจมตีแสดงความดูหมิ่นเหยียดหยามชาติรัสเซียกันโดยองค์รวมกันเลยทีเดียว ด้วยข้อกล่าวหาอย่างเช่นว่า “รัสเซียไม่ได้ทำอะไรที่ผู้คนเขาต้องการกันเลย” ซึ่งเท่ากับเป็นการละเลยมองข้ามแบบพล่อยๆ ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หนทางเดียวที่เราสามารถนำเอามนุษย์อวกาศอเมริกันขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้ในตอนนั้น ก็คือต้องไปกับจรวดรัสเซีย ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลของโอบามายังใช้ความพยายามอย่างสุดตัวเพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้อิหร่านและตุรกี ซื้อหาระบบขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานของรัสเซีย
ผมแน่ใจว่าต้องมีใครบางคนโต้แย้งว่า “มันจะอะไรกันนักหนา? เรแกนก็เคยเรียกสหภาพโซเวียตว่าเป็นจักรวรรดิแห่งปีศาจ แต่ต่อจากนั้นก็เจรจาหารือเพื่อยุติสงครามเย็นกันจนได้” ถูกต้องครับ เรแกนประณามจักรวรรดิโซเวียตเก่า –และต่อจากนั้นยังให้เครดิตแก่กอร์บาชอฟสำหรับการเปลี่ยนแปลงจักรวรรดิแห่งนั้น ทว่าเขาไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อพวกผู้นำโซเวียต ในลักษณะโจมตีส่วนตัวต่อหน้าสาธารณชนเลย
เขาปฏิบัติต่อพวกผู้นำโซเวียตด้วยความเคารพในระดับส่วนบุคคล และถือว่าเป็นผู้มีฐานะเท่าเทียมกันด้วย กระทั่งจัดงานเลี้ยงดินเนอร์แบบเป็นพิธีการให้แก่รัฐมนตรีต่างประเทศโซเวียต อันเดร โกรมิโก (Andrei Gromyko) ในระดับที่ปกติแล้วสงวนไว้ต้อนรับพวกหัวหน้าของรัฐหรือหัวหน้าของรัฐบาลเท่านั้น คำพูดคำแรกๆ ของเขาในเวลาพบปะเจรจาเป็นส่วนบุคคลกับพวกผู้นำประเทศอื่นๆ มักจะเป็นอะไรทำนองนี้ครับ: “พวกเราถือสันติภาพของโลกเอาไว้ในมือของพวกเรา พวกเราต้องประพฤติตนอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อที่ว่าโลกจะได้สามารถอยู่กันอย่างมีสันติภาพได้”
สิ่งต่างๆ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกระหว่างช่วง 4 ปีแห่งการเป็นประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากการที่ ทรัมป์ ถูกกล่าวหาอย่างปราศจากหลักฐานว่า เป็นคนโง่ที่ตกเป็นเหยื่อของฝ่ายรัสเซีย เขาก็เลยพรักพร้อมต้อนรับมาตรการต่อต้านรัสเซียทุกๆ อย่างที่เฉียดเข้ามาใกล้ แต่ขณะเดียวกันนั้นเองเขาก็ประจบป้อยอปูตินว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่
การตอบโต้ขับไล่นักการทูตของกันและกันไปมา ที่เริ่มต้นขึ้นโดยสหรัฐฯในช่วงวันท้ายๆ แห่งการครองอำนาจของโอบามา กลายเป็นการสืบต่อวงจรอุบาทว์ซึ่งส่งผลให้จำนวนเจ้าหน้าที่ทางการทูตอยู่ในสภาพตึงตัวเต็มที จนกระทั่งสหรัฐฯไม่มีเจ้าหน้าที่ในมอสโกอย่างเพียงพออยู่หลายเดือน สำหรับการปฏิบัติงานด้านการออกวีซาให้แก่ชาวรัสเซียที่ต้องการเดินทางไปสหรัฐฯ
เหมือนๆ กับพัฒนาการอย่างอื่นๆ อีกจำนวนมากในระยะหลังๆ มานี้ การที่ต่างฝ่ายต่างบีบคอหน่วยงานทางการทูตของกันและกัน ทำให้ผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่สุดประการหนึ่งของการทูตอเมริกันในระยะปีท้ายๆ ของสงครามเย็น เมื่อเราทำงานกันอย่างขยันขันแข็งและอย่างประสบความสำเร็จในการเปิดประตูของสังคมปิดอย่างสหภาพโซเวียต และยังเป็นการปลดม่านเหล็กที่แบ่งแยกระหว่าง “ตะวันออก” กับ “ตะวันตก” ต้องมีอันหันหลังกลับไปเป็นตรงกันข้าม
เราประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือของผู้นำโซเวียตคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีความเข้าอกเข้าใจว่า ประเทศของเขาจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องเข้าร่วมกับโลก
เอาล่ะครับ ผมเสนอข้อโต้แย้งของผมว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็น “การเร่งรัดให้เกิดขึ้นมาอย่างจงใจ” แต่ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมผมจึงกล้าบอกว่า มันสามารถที่จะ ...
แก้ไขได้อย่างง่ายดายด้วยสามัญสำนึก?
คำตอบอย่างสั้นๆ ก็คือ เนื่องจากมันสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ประธานาธิบดีปูตินกำลังเรียกร้องต้องการอะไรหรือ การให้นาโต้ยุติการขยายตัว และการสร้างโครงสร้างด้านความมั่นคงในยุโรปขึ้นมาโดยรับประกันความมั่นคงของรัสเซียไปพร้อมๆ กับของประเทศอื่นๆ นี่เป็นความเรียกร้องต้องการที่สมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง
เขาไม่ได้เรียกร้องให้สมาชิกนาโต้ใดๆ ต้องถอนตัวออกไป และเขาก็ไม่ได้ข่มขู่คุกคามสมาชิกนาโต้รายไหนด้วย ไม่ว่าจะวัดกันด้วยมาตรฐานสามัญสำนึกที่มุ่งผลทางปฏิบัติอันไหนก็ตามที มันก็อยู่ในขอบเขตแห่งผลประโยชน์ของสหรัฐฯที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ ไม่ใช่การขัดแย้งสู้รบกัน
การพยายามตัดแยกยูเครนออกมาจากอิทธิพลของรัสเซีย –จุดมุ่งหมายที่ปฏิญาณไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ของพวกซึ่งยุยงปลุกปั้นให้เกิด “การปฏิวัติสี” ขึ้นมา— เป็นกิจการของคนโง่เขลา และก็เป็นกิจการที่มีอันตรายมากอีกด้วย พวกเราลืมบทเรียนของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบากันไปได้รวดเร็วถึงขนาดนี้เชียวหรือ?
คราวนี้ การพูดว่าการเห็นพ้องยอมรับข้อเรียกร้องต้องการของปูติน อยู่ในขอบเขตแห่งผลประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นเรื่องที่ทำกันให้สำเร็จได้ง่ายๆ เวลานี้พวกผู้นำทั้งของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ต่างพัฒนาจุดยืนแบบพวกหวาดระแวงรัสเซีย (นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องศึกษาแยกต่างหากออกไป) ขึ้นมา ถึงขนาดที่จะต้องใช้ทักษะความชำนาญทางการเมืองอย่างมหาศาล ในการแล่นเรือไปในน่านน้ำทางการเมืองที่เต็มไปด้วยเล่ห์กลเพทุบายนี้ และบรรลุถึงผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล
ประธานาธิบดีไบเดนพูดออกมาอย่างแจ่มชัดแล้วว่า สหรัฐฯจะไม่เข้าแทรกแซงโดยใช้กองทหารของตนเอง ถ้าหากรัสเซียรุกรานยูเครน แล้วทำไมต้องเคลื่อนกองทหารสหรัฐฯเข้าไปในยุโรปตะวันออกด้วยล่ะ? เพียงเพื่อเอาไว้โชว์ให้พวกสายเหยี่ยวในรัฐสภาเห็นว่าเขากำลังยืนหยัดอย่างมั่นคงหนักแน่นกระนั้นหรือ? เพื่ออะไรกัน?
ไม่มีใครสักหน่อยที่กำลังคุกคามโปแลนด์หรือบัลแกเรีย ยกเว้นแต่คลื่นของผู้ลี้ภัยที่กำลังหลบหนีจากซีเรีย, อัฟกานิสถาน, และพวกพื้นที่แห้งแล้งของเขตที่ราบซาวันนาห์แอฟริกา ดังนั้น จะให้กองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 82 (82nd Airborne) ไปทำอะไรที่นั่นหรือ?
ครับ อย่างที่ผมเสนอแนะเอาไว้ก่อนหน้านี้ บางทีเรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงการเสแสร้งจัดฉากราคาแพงเท่านั้นเอง บางทีการเจรจาที่ติดตามมาระหว่างรัฐบาลไบเดนกับรัฐบาลปูติน อาจจะสามารถค้นพบวิธีการที่จะตอบสนองความกังวลของฝ่ายรัสเซียได้
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เรื่องเสแสร้งจัดฉากนี้ก็อาจจะบรรลุจุดประสงค์ของการสร้างมันขึ้นมา และต่อจากนั้นบางทีพวกสมาชิกรัฐสภาของเราจะได้เริ่มต้นจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เรามีอยู่ในบ้านของเราเอง ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาเพิ่มทวีขึ้นทุกขณะ แทนที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้เลวร้ายลงไปอีก
เราสามารถที่จะใฝ่ฝันกันได้ ไม่ใช่หรือ?
บทความนี้ผลิตขึ้น โกลบทร็อตเทอร์ (Globetrotter https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) โดยร่วมมือกับ คณะกรรมการอเมริกันเพื่อพันธไมตรีสหรัฐฯ-รัสเซีย (American Committee for US-Russia Accord หรือ ACURA)
แจ็ค เอฟ แมตล็อก จูเนียร์ เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย (ระหว่างปี 1987–1991) เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในบอร์ดบริหารของ คณะกรรมการอเมริกันเพื่อพันธไมตรีสหรัฐฯ-รัสเซีย (ACURA) และเขียนบทความนี้จาก ซิงเกอร์ไอแลนด์ (Singer Island) รัฐฟลอริดา