ท่านผู้อ่านที่เป็นชาวพุทธ และมีความรู้ มีความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมา ตามนัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ ทั้งในส่วนของพระธรรม และพระวินัย โดยเฉพาะในส่วนของพระวินัยหรือศีลของพระภิกษุ 227 ข้อ ก็จะรู้สึกห่วงใยอนาคตของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศที่เคยรุ่งเรืองในอดีตจนถึงขั้นเรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ว่าได้ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนับถือพุทธ และมีความเสื่อมใสศรัทธาในคำสอน จะเห็นได้จากการเข้าวัดทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา เช่น มาฆบูชา และวิสาขบูชา เป็นต้น
2. พระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะนิกายเถรวาทมีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง และนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แล้วทำการเผยแพร่คำสอนแก่ประชาชนผู้สนใจ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต จึงทำให้พุทธศาสนานิกายเถรวาทฝังรากหยั่งลึกในสังคมไทย จนกลายเป็นสถาบันหลักหนึ่งในสามของชนชาติไทย
3. พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นองค์ศาสนูปถัมภก ยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนา ทั้งทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในพระพุทธศาสนา
4. วัดในพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และศาสตร์ต่างๆ โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอนจนกลายเป็นประเพณีว่าลูกชายจะต้องบวชเรียนก่อนมีครอบครัว จึงทำให้คนไทยผูกพันกับพุทธศาสนา
ด้วยองค์ประกอบ 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้พุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในอดีตอย่างเห็นได้ชัดเจน
แต่ในปัจจุบัน องค์ประกอบบางประการที่เคยโดดเด่นในอดีตได้ลดน้อยถอยลง หรืออาจพูดได้ว่าเสื่อมก็คงไม่ผิด ทั้งนี้จะเห็นได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมดังต่อไปนี้
1. พระภิกษุส่วนหนึ่งบวชแล้วไม่ศึกษาพระธรรมวินัย หรือศึกษาแต่ไม่ปฏิบัติตามอย่างจริงจัง จะเห็นได้จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ เช่น พระบอกหวย พระเสพยาเสพติด มั่วสีกาไปจนถึงพระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับคฤหัสถ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุทำให้ศาสนาเสื่อม
2. ถึงแม้ประเทศไทยจะมีองค์กรทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนาคือ สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่ก็มิได้ทำให้พระภิกษุซึ่งมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นลดลง และหมดไปแต่อย่างใด และที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
2.1 เจ้าหน้าที่สำนักพุทธส่วนหนึ่ง และอาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ทั้งในด้านพยัญชนะ และในด้านอรรถะ หรือมีความรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะท่านที่เคยผ่านการบวชเป็นพระภิกษุมาก่อน แต่ก็เพิกเฉยละเลยไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถือสุภาษิตที่ว่า ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ หรือเป็นเพราะสมัยที่ตนเองเป็นพระก็เป็นพระที่ย่อหย่อนในการปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อเห็นพระปฏิบัติตนย่อหย่อน จึงปล่อยปละละเลยเพราะไม่เห็นความแตกต่างจากพฤติกรรมของพระที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้
2.2 สำนักพุทธเป็นองค์กรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนักการเมือง ถ้านักการเมืองที่กำกับดูแลองค์กรแห่งนี้ ไม่มีความรู้ ความเข้าใจคำสอนของพุทธศาสนาดีพอ ก็ยากที่จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาพระภิกษุให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัย
อีกประการหนึ่ง ถ้าพระภิกษุที่ประพฤตินอกลู่ นอกทางเป็นพระที่มีประชาชนนับถือศรัทธามาก ก็จะทำให้นักการเมืองไม่กล้าเข้าไปแก้ไข เนื่องจากกระทบคะแนนนิยมทางการเมือง จะเห็นได้จากกรณีของวัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่าง