xs
xsm
sm
md
lg

วัดเรี่ยไรมากเกินไป : ให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! พราหมณ์ คฤหบดีที่อุปัฏฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคกับเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดพร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์สิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้น กับนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก นี่แหละภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกัน เพื่อถอนกิเลส อันเปรียบเสมือนห้องน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ” นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 อิติวุตตกะ

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น มีเนื้อหาชัดเจนว่า ภิกษุและคฤหัสถ์อาศัยกันโดยคฤหัสถ์ให้ทานพระภิกษุให้ธรรม เพื่อช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบไป

แต่วันนี้พระภิกษุในประเทศไทยส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุฝ่ายคามวาสี ได้ทำการเรี่ยไรหรือชาวบ้านเรียกว่า บอกบุญเกินความจำเป็นของความเป็นนักบวช ซึ่งถ้ายึดถือตามพุทธานุญาตแล้ว จะมีเพียงบริขาร 8 ได้แก่ ไตรจีวร 3 ผืน บาตร กล่องเข็ม มีดโกน หินลับมีด และที่กรองน้ำ

ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นในการเรี่ยไรเกินความจำเป็นของนักบวช

แต่ในความเป็นจริงเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุสงฆ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะฝ่ายคามวาสีหรือพระบ้านมีความต้องการเกินความจำเป็น และความต้องการความจำเป็นนี้เอง ทำให้วัดต่างๆ ต้องเรี่ยไรโดยการจัดงานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทอดผ้าป่า ซึ่งจัดง่ายได้เงินเร็ว ด้วยเหตุนี้ในแต่ละปีเมื่อถึงหน้าเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ เราจะเห็นการประกาศโฆษณาและประชาสัมพันธ์บอกบุญกันดาษดื่น เห็นแล้วทำให้เกิดคำถามอย่างน้อย 2 ข้อคือ

1. พระภิกษุ ซึ่งเข้ามาบวชด้วยศรัทธา และมุ่งแสวงหาความสงบ ปฏิบัติเพื่อลด ละกิเลส ทำไมจึงยังต้องการเงินทองเกินกว่าความจำเป็นที่นักบวชจะพึงมี จะพึงเป็น

2. การเรี่ยไรเท่าที่เป็นอยู่ตามวัดต่างๆ ได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และสำนักพุทธได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

จากคำถาม 2 ข้อข้างต้น ถ้าท่านผู้อ่านลองคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ก็พอจะตอบได้ว่า

ถ้าภิกษุรูปใดเข้ามาบวชด้วยศรัทธา และต้องการแสวงหาความหลุดพ้นจริงๆ แล้ว จะไม่ข้องเกี่ยวกัน การแสวงหาเกินความจำเป็นที่นักบวชจะพึงทำ จะเห็นได้จากพระป่าหรืออรัญวาสี ซึ่งเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และใช้ชีวิตสันโดษเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใส พระภิกษุที่ปฏิบัติตนเยี่ยงนี้จะไม่ออกมาเดินเรี่ยไร ถ้าท่านผู้อ่านเห็นพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแบกกลด และเรี่ยไรขอโน่น ขอนี่จากชาวบ้าน พึงเข้าใจว่าเป็นพระป่าจอมปลอม

แต่เท่าที่เห็นพระที่ออกมาเรี่ยไร และโฆษณาบอกบุญ ล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายคามวาสีหรือพระบ้าน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวัตถุ สร้างโบสถ์วิหาร และศาลาการเปรียญ เป็นต้น แต่ไม่เน้นพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ตามแนวทางแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ ที่สอนให้ลด ละกิเลส และยกย่องการบูชาด้วยการปฏิบัติมากกว่าการบูชาด้วยอามิส


กำลังโหลดความคิดเห็น