นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
ตำนานนักดาบผู้ก่อกำเนิดสำนักนิเท็นอิจิริว และ คัมภีร์ห้าห่วง
บทประพันธ์ของ โยชิกาวะ เออิจิ (1892-1962)
-แปลและเรียบเรียงโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา
1
มูซาชินั่งผูกเชือกรองเท้าฟางที่สวมใส่อยู่ให้รัดกุมอยู่บนนอกชานหน้าร้านขายหอยปิ้งริมทะเล
“นาย ไปนั่งเรือชมเกาะกันเถอะ ยังว่างอยู่สองที่ ข้าจะออกเรือแล้วลงมาเลย”
นายเรืออุตส่าห์ขึ้นมาชวนเองถึงที่ ส่วนอามะ หญิงดำน้ำสองคนหิ้วตะกร้าคนละสองมือคะยั้นคะยอมาได้ครู่หนึ่งแล้ว
“นาย ไม่รับหอยไปฝากลูกเมียหน่อยรึ เราเพิ่งดำขึ้นมาสด ๆ เลยนะ”
“ซื้อหน่อยเถิดนะนาย เราจะได้ลงไปดำต่อ”
“ไม่เอา ไม่เอา ไปข้างหน้าเถิด”
มูซาชิสั่นหัวดิกด้วยความรำคาญ ร้องบอกไปอย่างไม่สนใจแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองนายเรือและหญิงดำน้ำที่มากลุ้มรุม เพราะกำลังสาละวนอยู่กับการแกะผ้าพันแผลที่เกรอะกรังไปด้วยเลือดและน้ำหนองออกจากเท้าที่บาดเจ็บ แผลที่ทำให้เจ้าหนุ่มต้องทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดมาหลายวันนั้นตอนนี้ทุเลาลงมาก อาการบวมเป่งและร้อนจัดเพราะอักเสบลดลง จนเท้าแบนราบเกือบจะเป็นปกติแล้วเหลือเป็นรอยย่นอยู่บนผิวหนังขาวซีด
เจ้าหนุ่มลุกขึ้นยืน เหยียบเท้าข้างนั้นลงบนพื้นทราย ค่อย ๆ เดินไปที่ชายหาดและแช่เท้าลงไปในเกลียวคลื่นที่ซัดสาดเข้ามาเป็นจังหวะ
เช้าวันนี้มูซาชิตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใส ร่างกายมีกำลังวังชาคึกคักเต็มที่จนลืมไปว่าเท้าเจ็บอยู่ เจ้าหนุ่มยินดียิ่งนักที่ความทุกข์ทรมานที่คุกคามขาข้างหนึ่งของตนทุเลาลงในสุด แต่ความปิติที่เหนือกว่านั้นก็คือความรู้สึกที่ว่าจิตใจของตนนั้นในวันนี้นั้นได้แข็งแกร่งขึ้นมากว่าเมื่อวานนี้หลายเท่านัก
เจ้าหนุ่มนักดาบกลับมาเช็ดเท้าทั้งคู่จนแห้ง ใส่ถุงเท้าหนังที่ไหว้วานให้สาวร้านหอยปิ้งไปซื้อมาให้ก่อนสวมรองเท้าฟางคู่ใหม่ที่ติดตัวมาและลองลุกขึ้นเดินดู แม้จะยังกะเผลกอยู่บ้างเพราะเดินอย่างนั้นมาหลายวันติดเป็นนิสัย และยังเจ็บนิด ๆ แต่ก็เกือบจะเรียกได้ว่าหายสนิท
“พ่อหนุ่มจะข้ามไปโอมินาโตะไม่ใช่รึ โน่นแน่ะ นายเรือข้ามฟากกำลังตะโกนเรียกผู้โดยสารใหญ่แล้ว”
ลุงเจ้าของร้านหอยปิ้งร้องเตือนมา
“จริงด้วย ที่โอมินาโตะมีเรือประจำทางไปเมืองสึ ใช่ไหมลุง”
“ใช่ มีหลายสายเลยละ เรือไปยคคาอิจิก็มี ไปคาวานะก็มี”
“นี่ลุง วันนี้มันวันอะไรแล้ว”
ลุงร้านหอยปิ้งหัวเราะชอบใจ
“เออแน่ะ พ่อหนุ่มเจ้าสำราญ ฉลองส่งท้ายปีเก่าเสียจนลืมวันลืมคืนเลยสิท่า วันนี้เป็นวันที่ยี่สิบสี่ของเดือนสิบสองแล้วนะ”
“อ้อ เพิ่งจะวันที่ยี่สิบสี่เองรึ”
“เฮ้อ น่าอิจฉาพวกหนุ่ม ๆ เสียจริง คงคิดว่ายังมีเวลาฉลองอีกหลายวันละซี”
มูซาชิเร่งฝีเท้าแทบเป็นวิ่งไปที่ท่าเรือข้ามฟากทากางิ ไม่ทันไรก็ถึงแต่พลังที่มีอยู่เหลือเฟือทำให้เจ้าหนุ่มอยากวิ่งเร็วขึ้นอีกและไกลออกไปอีก
เจ้าหนุ่มไปถึงทันเวลาที่นายเรือข้ามฟากกำลังจะพาผู้โดยสารเต็มลำข้ามไปยังโอมินาโตะฝั่งตรงข้าม...
และเป็นเวลาเดียวกันกับที่โอซือกับโจทะโรกำลังเดินข้ามสะพานศักดิ์สิทธิ์ หลังโบกมือร่ำลาอาลัยกับกลุ่มสาวแห่งเรือนสาวพรหมจรรย์แห่งศาลเจ้าอิเซะ
ช่างน่าเสียดายแท้ สายน้ำในแม่น้ำอิซูซุที่ไหลลงสู่ปากแม่น้ำที่โอมินาโตะน่าจะส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าหนุ่มรู้สักนิดว่า นางอันเป็นยอดดวงใจอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันในห้วงแห่งลำน้ำสายเดียวกันนี้ แต่สายน้ำทำได้เพียงกระทบพายของนายเรือเป็นจังหวะให้พอฟังเพลินเท่านั้นเอง
พอไปถึงโอมินาโตะ มูซาชิก็รีบเปลี่ยนไปขึ้นเรือประจำทางสายที่ไปโอวาริซึ่งผู้โดยสารบนเรือที่ส่วนใหญ่เป็นนักเดินทาง เรือชักใบติดลมแล่นผ่านตลาดเก่า ย่านยามาดะและถนนหลวงสายมัตสึซากะที่ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สองฟากทาง และแล่นเลียบแนวชายฝั่งทะเลของอิเซะให้ได้ชมทัศนียภาพอันงดงามกันอย่างอิ่มอกอิ่มใจ
ส่วนทางบก โอซือกับโจทาโรกำลังเดินมุ่งหน้าไปทางทิศเดียวกัน แต่ใครจะล่วงรู้เล่าว่าฝ่ายไหนจะเร็วกว่าหรือช้ากว่ากัน
2
รู้ทั้งรู้ว่าถ้าไปมัตสึซากะจะมีโอกาสพบกับ มิโกงามิ เท็นเซ็น ยอดนักดาบจากอิเซะผู้กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ แต่ก็เลิกคิดและขึ้นบกที่เมืองสึตามแผนเดิม
ขณะกำลังก้าวลงจากเรือที่ท่าเมืองสึนั้นเอง มูซาชิเหลือบไปเห็นสิ่งที่ชายคนข้างหน้าเหน็บไว้ที่ผ้าคาดเอวคู่กับมีดสั้นปลอกหนัง สิ่งที่สะดุดตาเจ้าหนุ่มคือท่อนไม้ยาวราวหนึ่งศอกมีโซ่พันอยู่และมีลูกตุ้มกลม ๆ ติดอยู่ที่ปลายสายโซ่
ชายผู้นั้นอายุราวสี่สิบสองหรือสี่สิบสาม ผิวดำไม่แพ้ผิวกร้านแดดของมูซาชิ หน้ามีรอยแผลเป็น สีผมออกแดงและหยิก หยอง
“นายขอรับ นาย”
ใครก็ตามที่ได้ยินเสียงเรียกนั้น คงคิดว่าคนที่ถูกเรียกเป็นซามูไรบ้านนอกสักคน แต่พอเห็นหน้าคนเรียกแล้วจึงรู้ว่าไม่ใช่
เด็กหนุ่มอายุราวสิบหกสิบเจ็ด หน้าตามอมแมมมีขี้เขม่าเปื้อนแก้ม แบกค้อนเหล็กวิ่งตามชายคนนั้นลงมาจากเรือ พลางร้องเรียกเสียงลั่นท่าเรือ
“นาย นาย รอข้าด้วย”
“เร็วเข้าซี”
“ก็ข้าลืมค้อนไว้บนเรือนี่”
“อะไรนะ ลืมเครื่องมือหากินรึ”
“ก็นึกขึ้นได้ และกลับขึ้นไปมาแล้วไง”
“แน่ละซี ขืนลืมละก็ ข้าฟาดหัวแบะแน่”
“นาย...”
“อะไรอีกล่ะ”
“คืนนี้เราค้างที่สึไม่ใช่หรือขอรับ”
“ไม่มั๊ง ยังไม่สายเท่าไร คิดว่าเดินกลับกันเลยดีกว่า”
“แต่ข้าอยากค้างนี่ เดินทางไกลมาทำงานทั้งที อยากเที่ยวสนุกบ้าง”
“เหลวไหล”
บนถนนจากท่าเรือเข้าเมืองสึ มีคนจากโรงเตี๊ยมและร้านขายของฝากออกมาดักหน้าดักหลังเรียกลูกค้ากันชุลมุนไปหมด เจ้าหนุ่มช่างตีเหล็กที่แบกค้อนเดินเร่อร่าหลงกับนาย ยืนเก้ ๆ กังกังอยู่กลางฝูงคนที่ยื้อยึดกันไปมา
ไม่นานผู้เป็นนายก็เดินถือกังหันลมของเล่นอันหนึ่งเดินเข้ามาหา
“อิวะ”
“ขอรับ”
“ถือไอ้นี่เอาไว้”
“กังหันหรือขอรับ”
“ใช่ แต่อย่าถือเลยเดี๋ยวจะถูกคนชนหักเสียเปล่า ๆ แกเอามันเสียบไว้ในอกเสื้อดีกว่า”
“ของฝากหรือขอรับ”
“เออ...”
มูซาชิฟังมาถึงตรงนี้จึงรู้ว่าคน ๆ นี้มีลูกด้วย คงจะคิดถึงลูกและอยากเห็นหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสให้ชื่นใจ หลังจากบ้านมาทำงานต่างถิ่นนานเต็มที
เจ้าหนุ่มอิวะมองกังหันที่หมุนตามแรงลมอยู่ที่อกเสื้ออย่างกังวล ขณะเดินตามนายที่นาน ๆ จะหันมามองที
นายกับบ่าวคู่นั้นบังเอิญเดินไปในทิศทางเดียวกับที่มูซาชิเองกำลังมุ่งหน้าไป
นักดาบหนุ่มเดินไปได้ครู่หนึ่งก็พยักหน้าและบอกกับตัวเองว่า...ใช่แล้ว ต้องเป็นชายคนนั้นแน่
แต่แล้วก็กลับไม่แน่ใจ เพราะช่างตีเหล็กมีอยู่ทั่วไป และคนที่พกเคียวโซ่ติดตัวก็มีอยู่ไม่น้อย จึงคิดว่าน่าจะดูลาดเลาไปอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่จำปักใจเชื่อเช่นนั้น
มูซาชิเดินตามไปบ้างแซงบ้างและระหว่างนั้นก็สังเกตดูท่าทีของอีกฝ่ายไปเรื่อย ๆ
เส้นทางสายนั้นตัดผ่านด้านล่างของปราสาทสึเข้าสู่ทางขึ้นเขาซูซูกะ เสียงสนทนาของนายบ่าวที่แว่วมาเป็นครั้งคราวทำให้เจ้าหนุ่มนักดาบมั่นใจขึ้นมาทุกทีว่าตนเข้าใจไม่ผิดแน่ จึงตัดสินใจทักขึ้นอย่างคนมีอัธยาศัย
“ท่านกำลังจะกลับขึ้นไปที่อูเมฮาตะรึ”
“ใช่ ทำไมรึ”
“ถ้าเข้าใจไม่ผิด ท่านคือชิชิโดะ ไบเก็นใช่ไหม”
“อืม ทักถูกคนแล้ว ข้านี่แหละไบเก็น แล้วเจ้าล่ะ”
3
ทางที่ตัดข้ามภูเขาซูซูกะ ไปยังมินางูจิและโกชูคุซาสึ ตามลำดับนั้นสายนี้ เป็นทางที่คนทั่วไปใช้เดินทางไปยังเกียวโต ซึ่งมูซาชิก็เพิ่งเดินผ่านเมื่อไม่กี่วันมานี้ และครั้งนี้ก็ตั้งใจจะเดินตรงไปให้ถึงเกียวโตภายในสิ้นปีและดื่มสุราจอกแรกของปีใหม่ที่นั่น
ครั้งก่อนที่ขึ้นไปอูเมฮาตะแล้วคลาดกันกับ ชิชิโด ไบเก็นจนต้องตามไปถึงศาลเจ้าอิเซะ แต่ก็ไม่พบจนแล้วจนรอดจนต้องถอดใจคิดว่าคงต้องหาโอกาสทีหลัง แต่เมื่อโชคเข้าข้างให้ได้พบกันโดยบังเอิญกลางทางเช่นนี้ มูซาชิจึงตัดสินใจทันทีว่าจะต้องขอชมกลยุทธ์เคียวโซ่อันเลื่องลือของไบเก็นให้ได้สักครั้ง
“ข้าชื่อมิยาโมโตะ มูซาชิ นักดาบที่อยู่ระหว่างเดินทางฝึกฝนวิทยายุทธ์ ยินดีเหลือเกินที่ได้พบท่าน ไม่กี่วันมานี้ข้าไปบ้านท่านที่หมู่บ้านอูจิอิมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ท่านไม่อยู่จึงได้พบกับเมียท่าน”
“อ๋อ รู้แล้ว”
ไบเก็นทำหน้าว่าเข้าใจ
“เจ้าใช่ไหมที่ไปพักโรงเตี๊ยมยามาดะ และบอกว่าอยากประลองฝีมือกับข้า”
“ท่านรู้รึ”
“แล้วยังไปถามหาข้าที่บ้านท่านอารากิดะด้วย”
เจ้าหนุ่มนักดาบพยักหน้า
“ข้าไปทำงานให้ท่านอารากิดะก็จริงแต่ไม่ได้พักอยู่ที่นั่น แต่ไปยืมโรงตีเหล็กของพรรคพวกแถวศาลเจ้า และทำงานที่ข้าคนเดียวท่านั้นจึงจะทำได้จนเสร็จเรียบร้อย”
“แล้ว...”
“ข้าได้ยินเหมือนกันว่านักดาบฝึกหัดที่พักอยู่โรงเตี๊ยมยามาดะถามหาข้า แต่ไม่อยากยุ่งด้วยก็เลยเฉยเสีย เจ้าเองหรอกรึ”
“ใช่แล้วท่าน ข้าได้ยินเขาเล่าลือถึงฝีมือเคียวโซ่ของท่านมานาน”
“อะ ฮะ ฮะ ฮะ เจอเมียข้าหรือเปล่าล่ะ”
“พบสิ นางแสดงท่าเคียวโซ่สำนักยาเองากิให้ดูเป็นบุญตาด้วย”
“แค่นั้นพอแล้ว ไม่ถึงกับต้องตามหาข้าเพื่อประลองยุทธให้เปล่าประโยชน์เลย ถ้าจะแสดงให้ดูก็เหมือน ๆ กันนั่นแหละ หรือมากกว่านั้นก็ได้ แต่เกรงว่าเจ้าจะสิ้นชีพเสียก่อนที่จะได้เห็นเป็นบุญตาน่ะซี”
นางเมียที่ว่าผยองพอดูแล้วแต่เจ้าผัวนี่คือเทงงู เจ้าป่าจอมหยิ่งตัวจริง เท่าที่ผ่านโลกมามูซาชิพอจะรู้ว่าวิทยายุทธ์กับความยิ่งผยองเป็นของคู่กัน ซึ่งก็คงจะจริงสำหรับคนบางคนที่ไม่กล้าอยู่บนคมหอกคมดาบหากไม่หยิ่งผยองเข้าไว้ และไบเก็นก็อาจเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น แต่แน่ละมูซาชิไม่อาจปักใจเชื่อโดยไม่ได้ประจักษ์ด้วยสายตาตนเอง
บทเรียนแรกที่มูซาชิได้เรียนรู้จากหลวงพี่ทากูอันก่อนที่จะก้าวออกมาเผชิญชีวิตก็คือ...เหนือฟ้ายังมีฟ้า เมื่อคิดว่าตนเก่งก็ขอให้คิดว่าเหนือกว่าขึ้นยังมีคนเก่งขึ้นไปอีกหลายระดับนัก ซึ่งเจ้าหนุ่มก็ได้ประจักษ์ด้วยตนเองมาแล้วทั้งที่โฮโซอินและที่ปราสาทโคยากิว
ดังนั้นก่อนที่จะลงมือต่อสู้กันจริง มูซาชิจะประเมินปรปักษ์อย่างละเอียดในทุกมุมมอง ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่และความเชื่อมั่นในตนเอง และบางครั้งอาจถึงกับลดตนลงตั้งรับในระดับที่อาจถูกมองว่าขี้ขลาดหรือด้อยฝีมือ เพื่อหลอกล่อดูแนวการต่อสู้
ไม่มีครั้งใดที่เจ้าหนุ่มจะแสดงความรู้สึกไม่พอใจกับคำพูดและท่าทียกตนข่มท่านของอีกฝ่ายจนกว่าจะประจักษ์ชัดว่า
โธ่เอ๋ย ที่แท้ก็แค่นี้เอง
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เจ้าหนุ่มนักดาบก้มศีรษะคำนับอย่างที่คนหนุ่มพึงแสดงความเคารพผู้มีอาวุโส
“ข้าได้เรียนรู้วิทยายุทธ์เคียวโซ่อย่างพอเพียงแล้วจากที่เมียท่านแสดงให้ดู แต่วันนี้นับเป็นบุญของข้ายิ่งนักที่ได้พบท่านโดยไม่ได้คาดหมายเช่นนี้ จึงอยากฟังความคิดของท่านเกี่ยวกับเคียวโซ่ ถ้าท่านจะช่วยคุยให้ฟังบ้างก็จะยินดียิ่ง”
“ถ้าแค่คุยให้ฟังละก็ได้สิ คืนนี้เจ้าจะพักโรงเตี๊ยมที่ด่านรึ”
“คิดว่าอย่างนั้น แต่ถ้าท่านมารังเกียจก็อยากจะขอตามขึ้นไปที่บ้าน และขอพักอีกสักคืนจะได้ไหม”
“บ้านข้าไม่ใช่โรงเตี๊ยม ไม่มีฟูกไม่มีผ้าห่มไว้รับแขกหรอก ถ้านอนกับเจ้าอิวะนั่นได้ ก็ตามใจ”
4
ชายต่างวัยทั้งสามถึงบ้านของชิชิโด ไบเก็นเมื่อพลบค่ำ
แสงอาทิตย์สุดท้ายสีแดงเรื่อลำสะท้อนหมู่เมฆลงไปให้หมู่บ้านเชิงเขาซูซิกะดูเรื่อเรืองรำไร
เจ้าอิวะวิ่งนำหน้าเข้าไปก่อน และพอนางเมียจึงอุ้มลูกออกมาเจ้าหนุ่มก็ยื่นกังหันของฝากจากพ่อไปให้
“พ่อกลับมาแล้ว นั่นไง พ่อเดินมาโน่นแล้ว เห็นไหมเจ้าหนู พ่อกลับมาแล้ว”
ชิชิโด ไบเก็นจอมหยิ่งที่เดินเชิดคออย่างผยองมาตลอดทาง แทบจะละลายเป็นน้ำตาลเมื่อเห็นลูกน้อยแต่ไกล
“ลูก ลูก เจ้าหนูลูกพ่อ”
เรียกพลางยกมือขึ้นกระดิกนิ้วทั้งห้าเหมือนเต้นรำให้ลูกดู เป็นธรรมดาของผัวเมียที่เมื่อจากกันไปนานก็จะต้องคิดถึงกัน ไบเก็นเย้าหยอกลูกน้อยพลางเกี่ยวก้อยนางเมียเข้าไปนั่งแอบอิงกันในบ้าน คุยกันกระจุ๋งกระจิ๋งพลางเล่นกับลูกน้อย ไม่มี มูซาชิที่เดินทางมาด้วยกันและออกปากขอค้างคืนด้วย อยู่ในสายตา
จนกระทั่งถึงเวลากินข้าว
“ใช่ ๆ หาอะไรให้เจ้าหนุ่มนักดาบฝึกหัดคนนั้นกินด้วย”
ไบเก็นออกมาเห็นมูซาที่นั่งผิงไฟอยู่ที่เตาตีเหล็ก จึงนึกขึ้นได้และสั่งนางเมีย
“อ๋อ เจ้าหนุ่มคนนี้เอง เคยมานอนค้างทีหนึ่งแล้วตอนที่พี่ไม่อยู่”
นางปรายตามาดูและพูดห้วน ๆ
“ให้นอนกับเจ้าอิวะก็แล้วกัน”
“นอนข้างเตาตีเหล็กอย่างคืนนั้นก็ได้นี่”
“เอ้า เจ้าหนุ่ม”
ไบเก็นนั่งอยู่หน้าเตาผิง รินสาเกอุ่น ๆ ใส่จอกยื่นมาให้มูซาชิที่ห้องดิน
“ดื่มหน่อยไหม”
“ก็ไม่รังเกียจ”
“งั้นก็จอกหนึ่งแล้วกัน”
“ขอบใจท่านมาก”
มูซาชิเลื่อนตัวขึ้นมานั่งบนชานแคบ ๆ ระหว่างห้องดินกับตัวเรือน แล้วยกจอกสาเกขึ้นจิบ รสออกเปรี้ยวแบบเหล้าบ้านนอกทั่วไป
เจ้าหนุ่มนักดาบส่งจอกคืน แต่ไบเก็นส่ายหน้าบอกว่า
“ไม่เป็นไร ข้ามีจอกอยู่แล้ว...เจ้าออกเดินทางร่ำเรียนวิชาดาบเสมอรึ”
“ข้าเดินทางตลอด”
“ดูยังหนุ่มแน่น อายุเท่าไรแล้วล่ะ”
“ย่างยี่สิบสองปีใหม่นี้”
“เป็นคนที่ไหนล่ะ”
“ข้าเกิดที่มิมาซากะ”
พอได้ยินไบเก็นก็อึ้งไป และจ้องมองมูซาชิอย่างเข้มงวดตรวจตรา
“เมื่อกี้ เจ้าบอกว่าชื่ออะไรนะ ชื่อน่ะ ชื่อของเจ้า”
“มินาโมโตะ มูซาชิ”
“มูซาชิ เขียนยังไง”
“เขียนด้วยตัวที่อ่านว่า ทาเกโซ”
พอดีกับที่นางเมียเข้ามาขัดจังหวะ เอาถ้วยซุป ผักดอง ตะเกียบ และถ้วยใส่ข้าวออกมาวางให้บนผืนเสื่อเล็ก ๆ ตรงหน้ามูซาชิแล้วบอกให้กินเสีย ไบเก็นจึงนิ่งไปสองสามอึดใจก่อนพยักหน้าและพึมพำออกมาว่า...อ้อ
“เอ้า อุ่นได้ที่พอดี”
ว่าแล้วก็รินสาเกใส่จอกให้เจ้าหนุ่ม ก่อนโพล่งออกมาว่า
“งั้นตอนเด็ก ๆ เจ้าก็ชื่อทาเกโซน่ะซี”
“ใช่”
“ตอนที่อายุราวสิบเจ็ดล่ะ ยังใช้ชื่อนั้นอยู่หรือเปล่า”
“ก็ยังเรียกกันอยู่”
“ตอนอายุสิบเจ็ด เจ้ากับผู้ชายชื่อมาตาฮาชิ ไปรบในสงครามที่เซกิงาฮาระใช่ไหม”
มูซาชิแปลกใจไม่น้อย
“ทำไมท่านถึงรู้ดีอย่างนี้ล่ะ”