xs
xsm
sm
md
lg

“พาน้องกลับมาเรียน” ช่วยเด็กหลุดจากระบบ!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปสู่ผู้คนถ้วนทั่ว ไม่เว้นแม้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเรียน ทำให้ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ปี 2563 มีนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส จำนวน1.8 ล้านคน ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และตัวเลขล่าสุด ปีการศึกษา 1/2564 มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษ ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน

ขณะที่สถิติของกระทรวงศึกษาธิการรายงานจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัด สพฐ. จำนวน 78,003 คน สังกัด สป. จำนวน 50,592 คน สังกัด สอศ.จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัด พม. จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน แต่สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 คน ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 คน

เป็นเหตุให้เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทาง “พาน้องกลับมาเรียน” ด้วยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ คือ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย 11 พันธมิตร ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด- 19 ที่ผ่านมา ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อดำเนินการติดตามนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็น 0!

กระทรวงศึกษาธิการมีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนด้วยแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “พาน้องกลับห้องเรียน” เบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้นจะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ให้ช่วยติดตาม เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาต่อไป

แม้ตัวเลขของเด็กที่ ‘หลุดจากระบบการศึกษา’ จะต่างจากตัวเลขของเด็ก ‘มีความเสี่ยง’ ที่จะหลุดจากระบบการศึกษา แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไข เพราะปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ปัญหาเรื่องการที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษามี 2 ปัญหาใหญ่ คือเรื่องสถานะทางการเงินในครอบครัว และเรื่องการเรียนออนไลน์

ดูผิวเผินน่าจะเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมองเห็นปัญหา และพยายามหาทางแก้ไข โดยให้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยการเซ็นต์ MOU เท่านั้น เพราะนอกจากความร่วมมือแล้วต้องมีแผนปฏิบัติการที่ทำได้จริง และมีระบบในการช่วยเหลือในทุกมิติเพื่อที่จะได้รับการแก้ไขได้จริง รวมไปถึงแนวทางการป้องกันในอนาคตด้วย
จะว่าไปแล้วปัญหานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กยากจนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงเด็กเล็ก ก็จะเลือกหนทางยังไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน หรือให้ลูกออกจากโรงเรียนกลางคัน และหันไปใช้วิธีการเรียนแบบโฮมสคูล

Home School หรือในชื่อภาษาไทย “บ้านเรียน” เป็นระบบการศึกษาทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ปกครอง หรือกลุ่มครอบครัวที่ต้องการจัดการรูปแบบการเรียนให้กับลูกด้วยตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ถึงความต้องการของเด็ก โดยไม่พึ่งพาระบบการเรียนการสอนกระแสหลัก เช่น โรงเรียน หรือระบบการศึกษาของรัฐบาล ระบบนี้ได้มีการรับรองให้เปิดสอนในไทยได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

และแนวโน้มของการเรียนแบบโฮมสคูลก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19

ในขณะที่เด็กโตบางคนก็จะเลือกดรอปการศึกษาในเทอมนั้น หรือปีนั้นไว้ก่อน แม้แต่เพื่อนของลูกชายดิฉันทั้ง 2 คนก็เลือกแนวทางนี้จำนวนไม่น้อย

นั่นหมายความว่าปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องแค่เด็กยากจน หรือเด็กที่ไม่พร้อมทางด้านเทคโนโลยีหรือเครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น เด็กที่มีความพร้อมทุกอย่างก็ประสบปัญหาเช่นกัน ด้วยปัจจัยที่การเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขาได้ เขาจึงเลือกที่จะหยุดเรียนไว้ก่อน และหันมาเรียนออนไลน์ในเรื่องที่ตนเองสนใจในช่วงเวลานั้น ๆ

เราต้องยอมรับว่ารูปแบบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไปแล้ว

ไหน ๆ ถ้าภาครัฐจะแก้ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ไม่อยากให้มีนโยบายเพียงแค่มองภาพรวมเท่านั้น ปัญหาเรื่องนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกันในระดับปัจเจกด้วย จึงจำเป็นต้องให้สถาบันการศึกษาได้ออกแบบการช่วยเหลือให้เหมาะกับเด็กๆ และมีระบบความร่วมมือระหว่างโรงเรียน บ้านและตัวเด็กด้วย

ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่ห่วงใยคนในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในสถานที่หรือมีภาวะเสี่ยง แต่ก็เป็นห่วงเรื่องการเรียนของลูก แม้จนถึงขณะนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกมากมาย

ส่วนภาครัฐก็ต้องพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือแบบทันท่วงที ไม่ใช่ต้องผ่านสารพัดขั้นตอนเหมือนเรื่องอื่น ๆ
ในเมื่อตั้งใจแก้ปัญหาแล้ว อยากให้เกิดมรรคเกิดผลให้เด็กในทุกระดับได้รับการแก้ไขและป้องกันจริง ๆ เพราะเราคงยังต้องอยู่กับปัญหาเรื่องนี้อีกยาว

อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟางก็แล้วกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น