พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) พระภิกษุนิกายเซน กวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวเวียดนามผู้มีชื่อเสียง มรณภาพอย่างสงบในวัย 95 ปี ที่วัดในเมืองเว้ อันเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางธรรม ท่ามกลางศิษยานุศิษย์
บัญชีทวิตเตอร์ทางการของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ประกาศว่า หลวงปู่ได้สิ้นลมอย่างสงบที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu Temple) ในเมืองเว้ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเริ่มบวชเณร เมื่อเวลา 00.00 น.ของวันที่ 22 ม.ค. สิริรวมอายุได้ 95 ปี
ติช นัท ฮันห์ ถือเป็นหนึ่งในพระภิกษุที่บุกเบิกการเผยแผ่พุทธศาสนาในโลกตะวันตก โดยเป็นผู้ก่อตั้ง “หมู่บ้านพลัม” (Plum Village) ขึ้นในฝรั่งเศส และได้เทศนาสั่งสอนหลักปฏิบัติว่าด้วย “การดำรงสติตื่นรู้” (mindfulness) ให้แก่องค์กรต่างๆ และบรรดาสานุศิษย์ที่มีอยู่ทั่วโลก
ติช นัท ฮันห์ มีชื่อโดยกำเนิดว่า เหวียน ซวน เบ่า (Nguyen Xuan Bao) เกิดเมื่อปี 1926 และเริ่มบวชเป็นพระในช่วงที่ โฮ จิ มินห์ เป็นผู้นำการปฏิวัติปลดปล่อยเวียดนามจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
ท่านสามารถพูดได้ถึง 7 ภาษา เคยได้รับเชิญไปบรรยายธรรมที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1960 ก่อนจะเดินทางกลับไปเวียดนามในปี 1963 เพื่อเข้าร่วมกับขบวนการชาวพุทธต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งมีพระภิกษุหลายรูปออกมาประท้วงโดยการสละชีวิตตนเอง
ติช นัท ฮันห์ เคยเขียนเล่าเอาไว้เมื่อปี 1975 ว่า “ข้าพเจ้าเห็นคอมมิวนิสต์และผู้ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน เพราะต่างเชื่อมั่นว่าเป็นผู้ที่ผูกขาดความจริงเพียงหนึ่งเดียว เสียงของข้าพเจ้าถูกกลบด้วยเสียงระเบิด เสียงปืนครก และเสียงตะโกนของคนเหล่านั้น”
ในทศวรรษ 1960 ที่สงครามเวียดนามกำลังร้อนระอุ ท่านได้มีโอกาสพบกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่ง คิง ได้ยกย่องหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ว่าเป็น “นักบวชเพื่อสันติภาพและการต่อต้านความรุนแรง” ทั้งยังเสนอชื่อท่านให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย
“ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักใครเป็นการส่วนตัวที่คู่ควรแก่รางวัลโนเบลมากเท่าพระภิกษุชาวเวียดนามผู้อ่อนโยนรูปนี้” คิง ระบุในจดหมายของเขาเมื่อปี 1967
อย่างไรก็ดี การเทศนาสั่งสอนเรื่องสันติภาพ และปฏิเสธที่จะเลือกข้างในสงครามกลางเมือง ทำให้ ติช นัท ฮันห์ ถูกแบนทั้งจากรัฐบาลฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านต้านคอมมิวนิสต์ และต้องลี้ภัยในต่างประเทศนานกว่า 40 ปี
ติช นัท ฮันห์ เริ่มอาพาธด้วยโรคเลือดออกในสมองเมื่อปี 2014 ซึ่งทำให้ท่านพูดไม่ได้ และเดินทางกลับเวียดนามเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองเว้อันเป็นบ้านเกิดของท่าน
ที่มา : รอยเตอร์