ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีอาญามาตรา 112 ให้กับพนักงานสอบสวนของตำรวจและได้เดินทางไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลอีกนับร้อยคดี ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมพนักงานสอบสวนทั่วประเทศหลายร้อยคนในการทำคดีมาตรา 112 เพราะผมมีความตั้งใจส่วนตัวที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มแข็ง
เมื่อวันที่คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดีจะโต้วาทีกับปิยบุตร แสงกนกกุลในประเด็นมาตรา 112 อาญา ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ให้คนโทรหาผมและกล่าวว่าให้ไปช่วยอรรถวิชช์ให้เต็มที่ด้วย ท่านผู้ใหญ่มีความเห็นว่าการดีเบตในคราวนั้นจะพลาดพลั้งใด ๆ ไม่ได้เลย เพราะจะเกิดความเสียหายถึงสถาบัน ซึ่งผมก็เห็นด้วยเต็มที่
ผมตัดสินใจโทรหาอาจารย์โตหรืออาจารย์ศาสตรา โตอ่อน ในทันทีเพราะทราบว่าอาจารย์โตเป็นเพื่อนเรียนที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับอรรถวิชช์ อาจารย์โตบอกกับผมว่าทางปลายสายว่าไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วงหรอก เพราะอรรถวิชช์นั้นเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบฉับไว อาจารย์โตรับรองว่าอรรถวิชช์สามารถจัดการกับปิยะบุตรได้อย่างอยู่หมัด ไม่มีอะไรที่ผมจะต้องเป็นห่วงเลยแม้แต่น้อย และผมก็เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากได้เจอตัวอรรถวิชช์มาก็หลายครั้งแล้วได้เคยคุยกัน จึงมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น
ผมส่งข้อความไปที่ณชเลขานุการของ คุณกรณ์ จาติกวณิชว่ามีความเป็นห่วงที่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดีอาจจะพลาดพลั้งได้ในการดีเบตกับปิยบุตร สักพักอรรถวิชช์ก็โทรมาหาผม ซึ่งก็ได้คุยกันเป็นเวลานานพอสมควรและทำให้รู้ว่าอรรถวิชช์เตรียมตัวมาดีมาก เก่ง มีข้อมูลมาดีพอสมควร ผมเองก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปอีกหลายประเด็นเพื่อให้มีอาวุธติดตัวไปต่อสู้กับปิยบุตร ในการสนทนานั้นมีประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกะอรรถวิชช์ก็คือประเด็นเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่อรรถวิชช์บอกว่าเป็นหลักปฏิบัตินิยมที่จะเป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองไทย
ผมไม่โต้เถียงอะไรมาก แต่ได้อธิบายเหตุผลของผมที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว หลักการของผมก็คือการแสวงจุดร่วมและการสงวนจุดต่าง แม้ว่าผมอาจจะไม่ได้เห็นด้วยไปเสียทั้งหมดแต่ผมก็เห็นด้วยกะอรรถวิชช์เป็นส่วนใหญ่ในหลายประเด็น และตั้งใจจะช่วยให้อรรถวิชช์ไปดีเบตชนะปิยบุตรให้จงได้ ดังนั้นผมก็ปล่อยให้อรรถวิชช์เขามีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้คัดค้านในสิ่งที่เป็นความคิดของเขาไปเสียทั้งหมด แต่ก็อธิบายในส่วนที่ผมเห็นต่าง และผมก็ดีใจที่อรรถวิชช์ทำหน้าที่ในการดีเบตได้เป็นอย่างดีและได้ใช้ข้อมูลในหลายส่วนที่ผมได้แลกเปลี่ยนไปเป็นอาวุธยิงตรงใส่ปิยบุตร จนกระทั่งปิยบุตรต้องออกมายอมรับว่าพ่ายแพ้ในการดีเบตครั้งนั้น
เมื่อผมเห็นข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนายสมศักดิ์เทพสุทินออกมา ตอบรับ เรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ผมจึงได้อ่านรายละเอียดและมีความไม่สบายใจที่จำเป็นต้องทักท้วงในหลายประการเพราะผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่เมื่ออรรถวิชช์ได้คุยกับผมก่อนไปออกรายการดีเบตที่มีคุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์เป็นพิธีกรในประเด็นคณะกรรมการชุดนี้
ประการแรก แนวคิดในการตั้งคณะกรรมการชุดนี้คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงในเชิงปฏิบัติโดยมองว่าคดีมาตรา 112 นั้นส่วนหนึ่งเป็นคดีทางการเมือง
แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่นักการเมืองนำเอาสถาบันมาโจมตีและล้มล้าง ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยลงมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอันเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยกเลิกพฤติกรรมดังกล่าว ห้ามห้ามจำเลยและเครือข่ายกระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีกต่อไป
เพราะฉะนั้นเรามีความจำเป็นต้องพูดให้เห็นได้ชัดว่าคดี มาตรา112 นั้นไม่ใช่คดีทางการเมือง เป็นคดีความมั่นคง จึงไม่เป็นการสมควรที่จะใช้วิธีการแก้ไขด้วยวิถีแห่งการเมืองที่ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีเพราะเป็นการกระทำที่ผิดฝาผิดตัวและจะดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยไม่จำเป็น
ประการที่สอง องค์ประกอบความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีความชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความต้องอ้างอิงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดล่วงละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ย่อมกระทำมิได้ อันเป็นแม่บทของมาตรา 112 ป. อาญา
เมื่อการกระทำผิดใดพิจารณาว่าเข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 โดยอาศัยหลักของกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ประกอบกันก็ย่อมทำให้การตีความกฎหมาย มาตรา 112 อาญามีความชัดเจนมากเพียงพออยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องจำเป็นแต่ประการใดเลยที่ต้องให้มีคณะกรรมการมาใช้ดุลพินิจในกรณีนี้ ในทางตรงกันข้ามการตั้งกรรมการขึ้นมาใช้ดุลพินิจนั้นแทนที่จะเป็นประโยชน์อาจจะทำให้เกิดการบิดเบือนไปไหนอีกทางหนึ่งทางใดซึ่งไม่พึงปรารถนาก็ได้
ประการที่สาม นับตั้งแต่ผมได้เกิดมา ได้รู้เห็นก็ เพิ่งเคยได้พบเห็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้าย จ้วงจาบหยาบช้า บังอาจหยาบคายมากขนาดนี้ ต่อสถาบัน ผมยอมรับว่าไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อนจริง ๆ
ในทางปฏิบัตินั้นมีคดีมาตรา 112 มากมายที่มิได้มีการดำเนินคดีต่อหรือไม่มีผู้ไปแจ้งความ กลายเป็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเสมือนดั่งสุสานคดีมาตรา 112 ก็ว่าได้ เพราะไม่อาจดำเนินการต่อได้โดยเฉพาะการกระทำความผิดบนระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และพิสูจน์สัญญาณจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมจะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดังกล่าวเป็นอันขาด ประกอบกับผู้กระทำความผิดสามารถปลอมอัตลักษณ์บุคคลเช่นการใช้ avatar เป็นต้น ทำให้คดีมาตรา 112 จำนวนมากไม่ได้รับการดำเนินคดีแต่อย่างใดเพราะไม่สามารถพิสูจน์ว่าผู้กระทำผิดเป็นใครได้ซึ่งมีคดีลักษณะนี้จำนวนมากมาย
ประการที่สี่ โดยปกติคดีมาตรา 112 113 116 อันเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้น แม้จะมีผู้ไปร้องหรือแจ้งความที่สถานีตำรวจแต่พนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจต่าง ๆ ก็ไม่สามารถตัดสินใจดำเนินคดีได้ตามอำนาจหน้าที่เพราะต้องมีการกลั่นกรองอยู่แล้วโดยคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทุกคดีต้องเข้ามาที่ปทุมวันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนจะตัดสินว่าจะรับดำเนินคดีหรือไม่ดังนั้นการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 เสนอโดย สมศักดิ์ เทพสุทินจึงซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีอยู่แล้ว
ประการที่ห้า เมื่อผมพิจารณาถึงที่มาของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 พบว่ามาจากผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์และสายนิติศาสตร์อย่างละ 2 คน ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 คนตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 1 คนและตัวแทนจากศาลฎีกา 1 คน
ถ้าหากกรรมการที่แต่งตั้งหรือสรรหามาไปในทางปฏิกษัตริย์นิยม anti-royalist โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อย่างละ 2 คนนั้นใครจะเป็นผู้สรรหามา และหากสรรหามาแล้วได้กลุ่มล้มเจ้าหรือสมาทานลัทธิล้มเจ้ามาเป็นกรรมการชุดนี้จะเกิดอะไรขึ้น? ก็เป็นสิ่งที่ฉันควรตั้งคำถามได้และหากเป็นเช่นนั้น คดีมาตรา 112 ก็อาจจะไม่ได้รับการดำเนินคดีต่อไปเลย
ในช่วงปีที่ผ่านมาผมตั้งข้อสังเกตเห็นว่ามีการไม่สั่งฟ้องหรือไม่ดำเนินคดีสำคัญมากมายหลายคดี โดยอ้างว่าขาดเจตนา ในช่วงแรกแรกผมสังเกตว่าทางอัยการเป็นผู้ชี้ว่าขาดเจตนา และต่อมาผมก็เริ่มเห็นว่าตำรวจไม่ทำคดีและชี้ว่าขาดเจตนาอีกเช่นเดียวกัน ตามกฎหมายนั้นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานและร่างสำนวนส่งฟ้องไม่ได้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยพิพากษาเจตนา ในขณะที่อัยการก็มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าสำนวนคดีมีหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องได้หรือไม่ ไม่น่าจะเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการในการชี้ขาดเจตนาเช่นเดียวกัน
การชี้ขาดเจตนานั้นเป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะพิพากษาวินิจฉัย แต่เหตุใดเล่าจึงนำประเด็นเรื่องการขาดเจตนามาใช้ไม่ดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการเสียแล้ว ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าไม่สบายใจว่าคดีจะถูกละเลยและประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมจะถูกกัดกร่อนขาดวิ่นไปจากหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐหรือไม่
ถ้าเราได้มีการเก็บสถิติเช่นสถิติการลงรายวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดี มาตรา 112 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับคดีที่มีการสั่งฟ้องและศาลประทับรับฟ้องนั้นคงจะได้ตัวเลขที่มีค่าต่ำมาก ไม่แน่ใจว่าจะถึงร้อยละ 5 หรือไม่
ถ้าหากคดีทุกคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ถูกเอาไปดำน้ำเสียหมดและกรรมการชุดนี้มีวินิจฉัยว่าไม่เข้าองค์ประกอบหรือขาดเจตนาไปทั้งหมดแล้ว ก็จะกลายเป็นว่าคณะกรรมการกลั่นกรองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม/ล่าช้าหรือไม่ และทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือไม่ หรือทำให้เกิดการกระทำความผิดมาตรา 12 เพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่สังคมอาจจะถามได้เช่นเดียวกัน
ประการที่หก ผมเห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ซึ่งมีผู้แทนจากศาลฎีกานั้นเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยฝ่ายบริหาร
อำนาจอธิปไตยของไทยนั้นประกอบด้วย หนึ่ง นิติบัญญัติ สอง บริหาร และสาม ตุลาการ หลักการสำคัญก็คือว่าอำนาจตุลาการจะต้องเป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารโดยเด็ดขาดเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 นั้นเมื่อกำหนดให้มีผู้แทนจากศาลฎีกามา 1 ท่านเป็นการทำลายหลักการในข้อนี้หรือไม่ และน่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ แม้ว่าจะระบุว่าให้ใช้ดุลพินิจสำหรับประกอบความเห็นของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วถ้าส่งสำนวนคดีไปฟ้องศาลต่อ แล้วตุลาการที่มีหน้าที่พิพากษาคดีจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รู้สึกใด ๆ เลยหรือไม่ได้รับอิทธิพลความคิดใด ๆ เลยหรือ ในเมื่อมีความเห็นของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 แต่งตั้งมาจากองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนของศาลฎีกาซึ่งน่าจะมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องเป็นผู้พิพากษาอาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเป็นครูบาอาจารย์ของตุลาการศาลชั้นต้นเสียด้วยซ้ำ แล้วจะพิพากษากันโดยเป็นอิสระได้อย่างไร
ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญมากและถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่นำเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่าถ้าหากกระทรวงยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยใช้อำนาจบริหารได้แล้วนั้น ซึ่งในที่นี้เป็นการแทรกแซงได้ทั้งในชั้นตำรวจและชั้นอัยการ ในขณะที่เมื่อองค์ประกอบออกคณะกรรมการชุดนี้มาจากศาลฎีกาด้วยแต่เลือกมาโดยฝ่ายบริหารจะเป็นการแทรกแซงหรือไม่นั้นก็เป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงถามได้ แล้วเราคงไม่ต้องไปพูดถึงเมื่อศาลพิพากษาคดีและมีการตัดสินจำคุกแล้วกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษก็อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมอีกเช่นกัน จะกลายเป็นว่ากระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจชั้นอัยการชั้นศาลจนถึงชั้นราชทัณฑ์หรือไม่ และจะเป็นการดีต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศชาติหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่สังคมพึงถามได้อีกเช่นเดียวกัน
โดยส่วนตัวเมื่อผมวิเคราะห์แล้วผมเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี มาตรา 112 นี้ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น และจะเป็นผลเสียมากกว่าจะส่งผลดี เช่น จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า เกิดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีอยู่แล้ว หากการสรรหาได้องค์ประกอบมาจากคนซึ่งเป็นกลุ่มปฏิกษัตริย์นิยมย่อมทำให้คดีถูกตัดตอนออกไป นอกจากนี้ยังเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เป็นการสมควรแต่อย่างใด
ในทางการเมืองคณะกรรมการชุดนี้เหมือนจะทำให้รัฐบาลและพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงนิยมจากฝั่งปฏิกษัตริย์นิยมหรือฝั่งล้มเจ้าพอสมควร เพราะพยายามประนีประนอม แต่ผมมีความเห็นในทางตรงกันข้าม
กล่าวคือการที่พยายามช่วยให้คนเหล่านั้นหลุดพ้นคดีหรือพยายามหาทางออก แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการสร้างคะแนนนิยมแต่อย่างใด เพราะถึงจะช่วยแค่ไหนเขาก็ยังไม่ชอบหรือไม่คิดจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอยู่ดี กลุ่มคนที่สมาทานลัทธิล้มเจ้าก็ยังคงจะต้องการเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดล้มเจ้าซึ่งพวกเขาสนับสนุนต่อไป
ดังนั้นกรรมการชุดนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยแม้ในทางการเมืองก็ไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดไม่ แต่กลับจะทำให้ประชาชนที่จงรักภักดีเกิดความคลางแคลงใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม