xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี “เสือลำบาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท



คงต้องยอมรับเอาจริงๆ นั่นแหละว่า...การเฉลิมฉลองปีใหม่ เพื่อแสดงออกถึงความปลาบปลื้มยินดี หรือความกระตือรือร้นในการต้อนรับปีคริสต์ศักราช 2022 หรือปีพุทธศักราช 2565 คราวนี้ โดยสีสันบรรยากาศ ต้องเรียกว่า...ในระดับทั่วทั้งโลกนั่นแหละทั่น!!! ไม่ใช่แต่เฉพาะบ้านเรา หรือเฉพาะสังคมไทย ดูๆ จะหนักไปทาง “ไก่หงอย” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ชนิดแม้จะถือว่าปีนี้เป็น “ปีเสือ” ที่น่าจะทั้งแกร่ง ทั้งห้าวหาญเพียงใดก็ตาม แต่โอกาสที่จะกลายสภาพไปเป็นเสือเผ่น-เสือร้องไห้ เสือลำบากหรือกระทั่งเสือกะบาก-สากกะเบือ ฯลฯ ท่าทางมันออกจะมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ...

ทั้งนั้น-ทั้งนี้...คงหนีไม่พ้นไปจากสาเหตุ เหตุปัจจัยหลักๆ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเอง ที่ลากยาวว์ว์ว์มาในระดับกว่า 2 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่ได้มีทีท่าว่าคิดจะเหี่ยวปลาย คิดจะหัวตกเอาง่ายๆ แม้จะดลบันดาลให้ผู้คนทั่วทั้งโลก “ติดเชื้อ” ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 288 ล้านราย หรือเกือบๆ 300 ล้าน เด๊ดสะมอเร่ย์ อิน เดอะ เท่งทึง ปาเข้าไปถึง 5.4 ล้าน เกือบๆ 6 ล้านราย ระดับน้องๆ “สงครามโลก” เอาเลยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่พยายามไล่ฉีด ไล่จิ้ม ไล่ทิ่มวัคซีนให้กับชาวโลกไปไม่น้อยไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกไปแล้วก็ว่าได้ แต่ระหว่างที่ “Delta” ทำท่าว่าอาจค่อยๆ จางหาย ดันต้องเจอกับ “Omicron” โผล่มาเขย่าขวัญ แพร่ระบาดและติดเชื้อวันละนับเป็นล้านๆ คน สร้างความขนหัวลุก ขนคอตั้ง ให้ใครต่อใครไปแทบจะทั่วทั้งโลก...

ด้วยเหตุนี้...จึงถือเป็นเรื่องไม่แปลก ที่โดยบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง การจุดพลุ จุดตะไล หรือจุดอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันเลย “แบบบ์บ์บ์แห้งง์ง์ง์” ไปแทบจะทั่วทั้งโลก ไม่ว่าในอเมริกาที่ผู้คนนับแสนๆ เคยออกมาแห่แหน แน่นขนัดไปทั่วทั้ง “ไทม์สแควร์” แต่คราวนี้...เห็นว่าต้องหดๆ ต้องลดขนาดเหลือแค่ประมาณ 15,000 คนเท่านั้นเอง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ หรือยุโรปแทบทั้งยุโรป ต้องยกเลิกการจุดพลุ จุดตะไลเพลิง ต้องยกเลิกการรวมตัว การแสดงออกถึงความสดชื่น รื่นเริง อย่างที่เคยเป็นมาเมื่อครั้งก่อนๆ ไม่ต่างไปจากออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ จนกระทั่งไทยแลนด์ แดนสยามของหมู่เฮา ที่หนีไม่พ้นต้องออกไปทาง “ยิ้มแห้งๆ” ไม่อาจ “ยิ้มสยาม” ได้เหมือนเคย โอกาสที่จะ “Back to work-Back to school-Back to joy” แบบที่ประมุขโลกอย่าง “ผู้เฒ่าโจ ซึมเซา” ท่านพยายามออกมาปลอบขวัญ ปลอบโยน ปลอบประโลมใครต่อใครในอเมริกา มันจะเป็นไปได้แบบไหน อย่างไร และเมื่อไหร่ ก็ยังคงต้องคาดหวัง คาดเดา ไปต่างๆ นานา...

เพราะโอกาสที่จะหวนกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แบบเดิม หรือเหมือนอย่างครั้งก่อนหน้าที่ท่านเชื้อไวรัสรายนี้ท่านจะเริ่มปรากฏตัว ดูๆ มันน่าจะ “ยากส์ส์ส์” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุเพราะท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 ท่านได้พลิกโฉมหน้า เปลี่ยนแปลงโฉมหน้า อะไรต่อมิอะไรไปเยอะแล้ว จนโอกาสที่จะหวนกลับมา “Back” อะไรต่างๆดังที่ “ผู้เฒ่าโจ ซึมเซา” ท่านว่าเอาไว้นั้นน่าจะลำบากยากเย็นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หรืออย่างที่ผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางรัสเซีย “นายKirill Tremasov” เขาต้องออกมาเตือนๆ เอาไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อช่วงวันพุธ (29 ธ.ค.) ของปีที่ผ่านมานั่นเอง ว่านับแต่นี้เป็นต้นไปบรรดาระบบเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ ประเทศที่เคยรวย หรือยังรวยอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ก็ตาม อาจต้องเจอกับ “ความเสี่ยง” ในระดับสูงสุด อันเนื่องมาจาก “ขีดความสามารถในการผลิต” ของแต่ละประเทศนั้น มีแนวโน้มที่จะลดลงๆ จนไม่อาจรักษาระดับอัตราความเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว!!!

นี่...จริง-ไม่จริง เชื่อ-ไม่เชื่อ ก็ลองเก็บไปนั่งคิด-นอนคิดเอาเองก็แล้วกัน แต่โดย “น้ำหนัก” ของเหตุและผล ที่เขาได้หยิบยกมาอธิบาย สาธยายเอาไว้นั้น ก็ออกจะน่าคิด น่าสะกิดใจ มิใช่น้อย คือโดยดูจากแนวโน้มภาวะการ “ขาดแคลนแรงงาน” ที่กำลังเกิดขึ้นในบรรดาประเทศใหญ่ๆ ไม่รู้กี่ต่อกี่ประเทศ ไม่ว่าอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย อียูทั้งอียู รวมทั้งรัสเซียเอง ไปจนถึงคุณพี่จีน ฯลฯ เอาเลยก็ว่าได้ ที่ต่างต้องเจอกับปัญหา “ความไม่ได้สัดส่วน” ของจำนวนประชากรมาโดยตลอด คือเต็มไปด้วย “คนแก่ง่าย-ตายช้า” หรือบรรดาประชากรผู้สูงวัย ผู้ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงานเพิ่มขึ้นๆ ในแทบทุกประเทศ ชนิดประเทศเสาหลักทางเศรษฐกิจอย่างคุณพี่จีนเอง ถึงกับต้องหันมายกเลิกนโยบาย “ลูกคนเดียว” ไปเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่อีกหลายต่อหลายประเทศ ต้องหันมาแบกรับภาระของบรรดาประชากรผู้สูงวัย จนกลายเป็น “ปัญหา” ของอนาคตเบื้องหน้ากันไปตามสภาพ...

และยิ่งเมื่อเจอกับการกระหน่ำซ้ำเติม โดยการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมากว่า 2 ปีซ้อนๆ ยิ่งส่งผลให้ภาวะดังกล่าว ยิ่งเป็นอะไรที่หนักหนา สาหัสยิ่งขึ้นไปอีก เพราะท่านเชื้อไวรัส ท่านได้เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนลักษณะการทำงานของใครต่อใคร จนไม่คิดจะกลับมาเหมือนเดิมกันอีกต่อไป อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาที่องค์กรอย่าง “Forbes Human Resources Council” เขาให้ตัวเลข สถิติ เอาไว้ประมาณว่า บรรดาผู้ที่เคยทำงาน เคยใช้แรงงานในด้านสาธารณสุขจำนวนถึง 1.7 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ที่ได้เปลี่ยนงาน ถูกเลิกงาน เลิกจ้าง ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด กลายเป็นผู้ที่ไม่คิดจะหวนกลับมาทำงานแบบเดิม หรือในสภาพเดิมๆ กันอีกต่อไปแล้ว บางรายหันไปหางานชนิดอื่น จนไม่คิดจะหวนกลับมาหางานเดิมๆ อีกต่อไป บางรายเปลี่ยนไปทำงานอยู่ที่บ้าน หรือ “เวิร์ก ฟอร์ม โฮม” จนแทบไม่มีใจจะกลับมาเข้าๆ-ออกๆ ในที่ทำงานได้อีก หรือบางรายที่ต้องเจอกับภาวะค่าใช้จ่าย หรือ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่ส่งผลให้บรรดาข้าว-ของชนิดต่างๆ มีแต่แพง...กับ...แพงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เลยจำต้องเปลี่ยนไปหาชนิดงานที่พอสร้างรายได้ให้กับตัวเองสามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรืออยู่รอดไปวันๆ....ฯลฯ...

อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่เอง...ที่ทำให้แม้ว่าตัวเลข “ตำแหน่งงาน” ในอเมริกา ที่เคยเพิ่มขึ้นไปถึง 33 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาส 4 ของปี ค.ศ. 2019 แต่กลับปรากฏว่าบรรดา “ผู้ว่างงาน” ในอเมริกา ยังกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 9 ล้านคน ยิ่งในช่วงที่ท่านเชื้อโควิดท่านแพร่ระบาดหนักๆ ภาวะ “ขาดแคลนแรงงาน” ในอเมริกา พุ่งขึ้นไปถึง 14.8 เปอร์เซ็นต์เอาเลยถึงขั้นนั้น ไม่ต่างไปจากบรรดาประเทศต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว รวมถึงประเทศรัสเซียของ “นายTremasov” เอง ที่แม้จำนวนประชากรจะสูงถึง 146 ล้านคน แต่ว่ากันว่ามี “ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน” เพียงแค่ 81 ล้านคนเท่านั้นเอง ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ทำให้บรรดาแรงงานอพยพในรัสเซีย เผ่นกลับบ้าน กลับเมืองกันไปเป็นแถวๆ ส่งผลให้แรงงานภายในประเทศลดฮวบๆ ฮาบๆ ลงไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จนตราบเท่าทุกวันนี้...

ดังนั้นโดยความคิดของผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงิน แห่งธนาคารกลางรัสเซียรายนี้ ค่อนเชื่อว่า...ด้วยภาวะขาดแคลนแรงงานที่ว่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวส่งผลไปถึง “ภาวะขาดแคลนสินค้าและอุปกรณ์” ซึ่งเคยมีที่มาจากธุรกิจ “Supply chains” ทั้งหลาย หรือกระทบต่อกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในระดับทั่วทั้งโลก รวมไปถึงกระทบต่อปัญหาความไม่ได้สัดส่วนของจำนวนประชากร กระทบต่อกระบวนการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่ต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เจอกับปัญหา “ช่องว่าง” ด้านความเชี่ยวชาญ หรือด้านฝีมือแรงงาน ไปจนปัญหาด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ฯลฯ อันทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้นี่เอง กลายเป็นตัว “ลดขีดความสามารถในการผลิต” ของประเทศต่างๆ หรือกลายเป็นตัวฉุดรั้ง หน่วงรั้ง ไม่ให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ มีโอกาสเหมือนเดิม หวนกลับมาสู่สภาพเดิมได้ง่ายๆ หรือกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ข้อจำกัดในระยะยาว” ที่ทำให้การคิด “Backโน่น-Backนี่” ของผู้นำโลกอย่าง “ผู้เฒ่าโจ” อาจต้อง “เหี่ยวปลาย” ลงไปเองจนได้ ไม่ว่าคิดจะอัดฉีด คิดจะปลุก คิดจะกระตุ้น กันด้วยเม็ดเงินระดับกี่ล้านล้านดอลลาร์ก็แล้วแต่...

พูดง่ายๆ ว่า...ยิ่งพยายามอัดฉีดเงินดอลลาร์เข้าใส่ระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งอาจกลายเป็นตัวก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงภาวะ “เสื่อมค่า” ของเงินดอลลาร์ ที่กำลังทำให้บรรดาธนาคารกลางของหลายต่อหลายประเทศ หันไปซื้อ “ทอง” หรือหันไปเปลี่ยนดอลลาร์มาเป็นการถือครองทองคำไปเป็นแถบๆ รวมทั้งประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาที่น่าจะรู้สึกเสียวๆ อยู่พอสมควร เลยเห็นว่า...ช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว หันไปซื้อทองคำมาเก็บ มาตุนเอาไว้ถึง 90 ตันเป็นอย่างน้อย ด้วยเหตุเพราะสิ่งที่เรียกว่า “อัตราเสี่ยง” ทั้งหลายภายในอนาคตเบื้องหน้า นับวันมีแต่จะสูงขึ้นยิ่งเข้าไปทุกที อันเนื่องมาจากโลกในปีนี้ หรือในวันพรุ่งนี้ มันคงไม่ได้มีอะไรเหมือนเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น