xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights:จีนยุคใหม่กับเรื่องของแรงกดดันในตลาดแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร. ร่มฉัตร จันทรานุกูล


การ์ตูนกราฟฟิกแสดงคนสามคนกำลังเผชิญการตกงาน หางานและถูกไล่ออก (ที่มา Sougou)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง


วันนี้ผู้เขียนอยากจะบอกเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องของทางฝั่งจีนที่พูดกันมากอีกประเด็นหนึ่งคือ ความกดดันของตลาดแรงงานในประเทศที่ก่อนโควิด-19 ที่มีสัญญาณไม่ค่อยจะดี แล้วก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซ้ำเติมมาอีกสองปีกว่า

ตัวเลขจำนวนคนจบปริญญาตรีใหม่แต่ละปีที่พุ่งสูงขึ้น จากสถิติของกระทรวงศึกษาจีนรายงานว่า ในปีหน้าจะมีผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ทะลุ 10 ล้านคน นอกจากนี้นักศึกษาจบจากต่างประเทศและคนจีนที่ทำงานอยู่ต่างประเทศเริ่มจะกลับมาประเทศตัวเองหางานมากขึ้น สร้างความแข็งขันที่มีมากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก

จากสถิติล่าสุดของปีนี้อัตราการว่างงานของจีนอยู่ที่ประมาณ 5% โดยสถิตินี้เก็บมาจากการลงทะเบียนว่างงานของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่พื้นที่เขตเมืองไม่ใช่ชนบท นั่นหมายถึงว่ายังมีคนที่ว่างงานอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ถูกรวมเข้าไปใน 5% นี้

จริง ๆ แล้วรัฐบาลจีนก็มองเห็นปัญหาของความกดดันของตลาดแรงงานมาสักพักแล้ว ถึงเริ่มออกนโยบายเป้าหมายหลักในช่วงเกือบห้าปีที่ผ่านมาว่า “稳就业” (อ่านว่า เหวิ่นจิ้วเย้) หมายถึงการประคองอัตราการจ้างงาน

ความกดดันด้านตลาดแรงงานจีนเริ่มมีมาตั้งแต่เศรษฐกิจโลกเริ่มโตแบบชะลอตัวตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจจีน อาจารย์หลี่หยางได้เคยให้ความเห็นถึงตลาดแรงงานในประเทศว่า
“ตอนนี้ความกดดันมาจากสามด้านด้วยกันคือ หนึ่งจากโครงสร้างประชากรวัยทำงานที่เปลี่ยนไป ความต้องการของตลาดแรงงานปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะตั้งแต่หลังโควิด-19 สองคือธุรกิจเกิดขึ้นใหม่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ความต้องการแรงงานในตลาดลดน้อยลงด้วย สามคือในปัจจุบันตลาดแรงงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน”

มาขยายความกันในประเด็นนี้ อย่างที่ผู้เขียนได้เคยดูข่าวผ่านตาเกี่ยวกับตลาดแรงงานจีนในโรงงานปัจจุบันต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น ไม่ใช่แค่แรงงานที่ใช้แรงงานอย่างเดียวอีกต่อไป โรงงานต่าง ๆ ต้องการแรงงานที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี บางตำแหน่งก็ไม่มีการรับพนักงานแล้ว แต่ใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่แรงงานคน และทั้งหมดนี้จะเป็นแนวโน้มของโรงงานในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น มีโรงงานผลิตถ่านหินแห่งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ในหนึ่งสายการผลิตต้องการพนักงาน 30 คน แต่ในปัจจุบันต้องการเพียง 6 คนเท่านั้น หลัก ๆ เพียงแค่ควบคุมหุ่นยนต์การผลิต และนี่ก็เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ยังมีโรงงานแบบนี้อีกมากมายในจีนที่กำลังปรับตัวกัน

มีอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นคือ อัตราการสอบเข้าปริญญาโทในสองปีนี้ของจีนพุ่งกระฉูด และหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศก็ออกนโยบายการ “扩招” (อ่านว่า คั่วเจา) หมายถึงการขยายโควต้ารับนักศึกษาปริญญาโท ผู้เขียนมองว่านโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลจีนใหม่ตั้งแต่ปีที่แล้วด้วย เพราะโควิด-19 เป็นต้นมา นักศึกษาเรียนจบปริญญาตรีใหม่หางานกันยากขึ้นก็ให้ทางเลือกผู้ที่รอหางานอยู่สอบเรียนต่อปริญญาโทไปได้

อย่างเช่น มหาวิทยาลัยของผู้เขียนเองก็เพิ่มโควต้ารับนักศึกษาปริญญาโทตั้งแต่ปีที่แล้ว จากตัวเลขของผู้สมัครลงทะเบียนสอบปริญญาโททั่วประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ (ดูกราฟ)

ตัวเลขของผู้สมัครลงทะเบียนสอบปริญญาโททั่วประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ (ที่มา กระทรวงศึกษาธิการจีน)
ในจำนวนผู้สมัครสอบในปี 2021 เกือบครึ่งคือผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีในปีการศึกษา 2021 ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกดดันของการหางานทำในปัจจุบัน ทำให้ผู้จบใหม่จำนวนหนึ่งเลือกที่จะเรียนต่อไปก่อน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของตนเองและค่อยออกมาหางานทำ

การสอบเข้าปริญญาโทของมหาวิทยาลัยก็จะเหมือนกับตอนสอบเอ็นทรานซ์เข้าปริญญาตรี เป็นการสอบพร้อมกันทั่วประเทศควบคุมโดยกระทรวงศึกษาธิการจีน แต่จะมีบางรายวิชาสาขาที่มหาลัยเฉพาะด้านอาจจะเป็นผู้ออกข้อสอบเพิ่มเติมเองด้วย ผู้เขียนขอบอกเลยว่าการสอบเข้าปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชั้นนำจีน การแข่งขันและความเข้มข้นไม่ด้อยไปกว่าตอนสอบเอ็นทรานซ์เข้าปริญญาตรี

จากความกดดันและความไม่แน่นอนของตลาดแรงงาน คนรุ่นใหม่เริ่มที่อยากจะหางานที่มีความมั่นคงและประกันการมีงานทำตลอดไป ทำให้คนรุ่นใหม่จีนหันมาสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก โดยในบางมณฑลบางหน่วยงานอัตราการแข่งขันสูงถึง 20,000 : 1 คนเลยทีเดียว หมายความว่าจากจำนวนผู้แข่งขันสอบทุก 20,000 คนจะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่สอบผ่านเข้ารับราชการได้

อย่างในปักกิ่งอัตราการแข่งขันของตำแหน่งงานราชการก็ 1,000 : 1 ไปแล้ว สำหรับอัตราการแข่งขันนี้ก็สะท้อนการแข่งขันในตลาดแรงงานจีนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เหมือนกันว่าค่อนข้างรุนแรงและเข้มข้นกันมาก

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน ที่คนจบปริญญาตรีจำนวนมาก บริษัทต่าง ๆ ไม่ขาดพนักงานออฟฟิศ แต่ขาดพนักงานแรงงานที่มีทักษะ

ในจีนนั้น จำนวนคนขายแรงงานจากชนบทก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่แรงงานออฟฟิศกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา ภาคบริการจีนเช่น การบิน การท่องเที่ยว ภาคบริการกับต่างประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างสูง นอกจากนั้นเพราะนโยบายการควบคุมการศึกษานอกโรงเรียนทำให้โรงเรียนกวดวิชาประเภทต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบด้วย

ภาคบริการเหล่านี้ใช้จำนวนคนและพนักงานเป็นจำนวนมาก หากว่าปิดตัวไปก็จะลดตำแหน่งความต้องการแรงงานในตลาดลงไปอีก ในสังคมการทำงานจีนในทุกที่จึงเริ่มเกิดปัญหาการแข่งขันกันเองที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น กรณีใกล้ตัวของผู้เขียน เพื่อน ๆ หลายคนที่ทำงานอยู่มีงานมั่นคงไม่มีใครอยากที่จะโยกย้ายเปลี่ยนงานในช่วงนี้ อีกทั้งการแข่งขันกันในที่ทำงานก็เพิ่มสูงขึ้น ตัวเองต้องเพิ่มทักษะให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายแล้วผู้เขียนมองว่าความกดดันจากปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับตลาดแรงงานก็ส่วนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในวัยทำงานคือทักษะของตนเอง ที่ต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่ตลอด การศึกษาและพัฒนาตนเองก็เหมือนการลับมีด ลับให้คมเท่าไหรเราก็จะมีเกราะป้องกันตนเอง

สังคมการแข่งขันที่สูงในปัจจุบันทุกด้านแบบนี้ หากว่าจะเลือกนอนราบก็ไม่น่าจะใช่ทางเลือกที่ดีนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น