xs
xsm
sm
md
lg

“โอไมครอน” ทำ ศก.โลกเสี่ยงแรงงานปี 65 ภาวะเปราะบาง แนะทุกฝ่ายรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ เผยแนวโน้มตลาดแรงงานปี 2565 แม้จะขยายตัวจากปีนี้แต่ยังเปราะบางสูง เหตุ ศก.โลกผันผวนจากภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และยุโรป การมาของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ขณะที่กลไกขับเคลื่อน ศก.ไทยพึ่งพิงตลาดโลก ทั้งส่งออก ท่องเที่ยวและบริการ แนะลูกจ้างปรับตัว รัฐเร่งหามาตรการรับมือรอบด้าน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
เปิดเผยถึงภาวะการจ้างงานในปี 2565 ว่ามีแนวโน้มเติบโตจากปี 2564 แต่ยังคงเปราะบางเพราะปัจจัยเสี่ยงที่มีเพิ่มเข้ามาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยวและบริการ แม้แต่ภาคการเกษตรก็ยังเป็นเกษตรแปรรูปเพื่อการส่งออกที่ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงตลาดโลกเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตบางส่วนกำลังปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จึงทำให้การจ้างงานใหม่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง

“เศรษฐกิจโลกเวลานี้มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปบางประเทศที่สูง ซึ่งอาจทำให้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์กลายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใดแน่ แต่เริ่มกระจายไปหลายประเทศและอย่างน้อยสุดก็กระทบต่อความเชื่อมั่นไปแล้ว และคาดว่าจะคลุมเครือไปจนถึงต้นปี 2565 จึงทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงตลาดโลกค่อนข้ามากตลอดห่วงโซ่อุปทานเราคือการส่งออก แม้แต่เกษตรแท้ๆ ก็ต้องพึ่งการส่งออก เช่น ข้าว น้ำตาลทราย ฯลฯ” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยปี 2564 คาดว่าจะเติบโตได้ 16-17% จากปีก่อนซึ่งนับเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 12 ปีทำให้การจ้างงานในกลุ่มนี้ได้เร่งตัวมาตลอดปี 2564 และคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2565 จะเติบโตได้ไม่เกิน 5% เพราะฐานของปี 2564 ค่อนข้างสูงทำให้ภาพรวมการจ้างงานของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยถึงระดับทรงตัวเท่านั้นยกเว้นบางสาขาที่มีการเติบโตสูงเช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่การผลิตเพื่อส่งออกบางกลุ่มแนวโน้มอาจลดลง เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ

สำหรับภาคบริการและการท่องเที่ยว มีแนวโน้มจะชะลอตัวต่อเนื่องแม้ว่าไทยได้ดำเนินการเปิดประเทศนับตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ให้ต่างชาติเช้ามาได้ 63 ประเทศแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้าไทยในอดีตก่อนโควิด-19 ระบาดมีสูงถึง 40 ล้านคน แต่คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีเข้ามาเพียง 5 ล้านคนเท่านั้นเพราะจีนยังคงไม่ปล่อยให้ประชาชนออกนอกประเทศภาพรวมของแรงงานกลุ่มนี้จึงยังคงมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ค้าปลีกและค้าส่ง และภาคเกษตรยังมีทิศทางทรงตัวเว้นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของการส่งออก ดังนั้น ลูกจ้างจำเป็นต้องปรับตัวโดยการเพิ่มทักษะฝีมือ ใฝ่หาความรู้มากขึ้น และไม่เลือกงาน

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าแรงงานของไทยมีทั้งการขาดแคลนแรงงานพื้นฐานที่ไม่ต้องการทักษะอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันแรงงานที่เป็นกลุ่มจบปริญญาตรีที่มีอยู่ราว 2.5 แสนคนส่วนใหญ่เรียนในสาขาของยุคแอนะล็อก 2.0 ซึ่งตลาดอิ่มตัวมานานแล้วทำให้เป็นกลุ่มที่หางานยากจึงทำให้ว่างงานสูง อีกทั้งจำนวนคนรุ่นหนุ่ม-สาวเข้าสู่ตลาดแรงงานลดน้อยลง เห็นได้จากกำลังแรงงานที่จบใหม่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงตลอดและสังคมสูงวัยมาเยือนไทยเร็วกว่าที่คาด ขณะเดียวกันช่วงรอยต่อของการผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอาจมีช่วงต่อที่ยาวเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งแรงงาน อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังเป็นธงหลักของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลจะแก้อย่างไรต้องเร่งทำเป็นวาระแห่งชาติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือในปี 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น