การระบาดของโควิด-19รอบใหม่มีโอมิครอนเป็นตัวหลัก และออกฤทธิ์ออกเดชอย่างเต็มที่ไปเกือบทุกทวีป เหมือนทำให้โลกหมุนย้อนกลับไปสู่ช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของวิกฤตสำหรับชาวโลก จากอู่ฮั่นไปทั่วโลกด้วยสายพันธุ์ต่างๆ
แต่ละสายพันธุ์ทำให้ต้องเร่งผลิตวัคซีน ประเทศที่มีทรัพยากรต่างแก่งแย่งเป็นเจ้าของวัคซีน จองกันท่าชาติอื่นๆ กลุ่มประเทศที่มั่งคั่งเช่น สหรัฐฯ ยุโรป จองล่วงหน้า ผลสุดท้าย ได้เป็นแหล่งของการระบาด ซ้ำร้ายประชาชนไม่ยอมฉีดวัคซีน
ครบรอบ 2 ปี เริ่มต้นกับโอมิครอน ซึ่งระบาด แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว นับจากการค้นพบในแอฟริกาใต้ รายงานถึงองค์การอนามัยโลกวันที่ 24 พฤศจิกายน เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ระบาดไปกว่า 80 ประเทศ นำไปสู่มาตรการควบคุมเคร่งครัดอีกครั้ง
ช่วง 2 ปี เศรษฐกิจเสียหายอย่างมาก ผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับได้รับผลกระทบ มีจำนวนมากไม่สามารถอยู่รอดได้ ต้องปิดตัวลง แม้ธุรกิจขนาดใหญ่ ทุนมหาศาลต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด
มีคนติดเชื้อไปแล้วกว่า 276 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตแล้ว 5.3 ล้านราย ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีตัวเลขติดเชื้อรายวัน ขึ้นลงตามสภาวะการระบาดและความรุนแรงของสายพันธุ์ จากอัลฟา ถึงเดลตา และล่าสุดเป็นโอมิครอน
มีการรณรงค์ให้ควบคุมสถานการณ์ และให้ประชาชนรับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน แม้จะมีหลักฐานพิสูจน์ว่าป้องกันไม่ได้ เพียงไม่ป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต
อิสราเอลได้เริ่มให้ประชาชนเริ่มฉีดเข็มที่ 4 ทำให้น่าสงสัยว่าจะต้องฉีดทุกครั้งเมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่หรืออย่างไร จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ มีผลกระทบอย่างไร
ที่แน่ชัดก็คือบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและยารักษาต่างโกยเงินมหาศาล จนมีเสียงค่อนแคะจากพวกขี้สงสัยว่ามีบางพวกสร้างสายพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์หรือไม่
ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป พบแรงต้านจากประชาชน ไม่ยอมฉีดวัคซีน ไม่ยอมรับมาตรการควบคุม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนก่อนเข้าไปในสถานบันเทิง ร้านอาหาร เดินทางโดยสายการบิน มีมาตรการปิดประเทศด้วย
การไม่ยอมรับมาจากความไม่ไว้ใจข้อมูลเรื่องวัคซีนว่าส่งผลระยะยาวต่อร่างกายหรือไม่ สร้างปัญหาสุขภาพ กลายเป็นว่ายารักษามีผลร้ายมากกว่าเชื้อโรค
ผลจากการระบาดอย่างหนักในอังกฤษและยุโรปของโอมิครอน ทำให้มีมาตรการควบคุม ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส และชาติอื่นต่างงดงานรื่นเริงในการฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สถานบันเทิงต้องปิด
โอมิครอนได้เป็นสายพันธุ์หลักในยุโรปไปแล้ว สร้างความกังวลว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขต้องรับงานหนักถึงขั้นล่มได้ อย่างเช่นอังกฤษที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 9 หมื่นรายแต่ละวัน ถ้ามีคนต้องเข้าโรงพยาบาลวันละ 3 พันก็เป็นวิกฤต
องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกงานช่วงปีใหม่ เพื่อควบคุมการระบาดเมื่อเห็นโอมิครอนส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสภาวะเศรษฐกิจซึ่งกำลังอยู่ระหว่างฟื้นตัว ก่อนที่โอมิครอนจะเริ่มระบาด
ฮันส์ คลูจ เจ้าหน้าที่ขององค์การประจำภาคพื้นยุโรปได้เตือนถึงความรุนแรง เปรียบเทียบให้เห็นโอมิครอนที่เป็นเหมือน “พายุร้าย” ที่กำลังจะถล่มยุโรป และให้เตรียมรับมือกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มอย่างรวดเร็ว
ฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้อวันอังคารมากกว่า 7 หมื่นราย ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขสูงมาก เมื่อเทียบกับการระบาดอย่างรุนแรงในยุโรปในช่วงปี 2563 ที่มีคนเสียชีวิตมาก
เยอรมนีประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 28 จะมีการจำกัดจำนวนคนชุมนุม รวมตัวกันเพื่อการสังสรรค์ไม่ให้เกิน 10 ราย บาร์และไนต์คลับถูกสั่งให้ปิด การแข่งขันฟุตบอลจัดได้ในพื้นที่ปิด ประชาชนไม่สามารถเข้าชมได้ เหมือนช่วงการระบาดหนักครั้งก่อน
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ประกาศ “โคโรนาไวรัสไม่หยุดทำงานช่วงคริสต์มาส เราจะต้องปิดหูปิดตา ไม่ยอมรับรู้การระบาดระลอกใหม่ที่กำลังจะมา”
นายกฯ บอริส จอห์นสัน บอกว่าจะไม่มีมาตรการคุมเข้มในอังกฤษก่อนคริสต์มาส ทั้งๆ ที่ตัวเลขการติดเชื้อมากกว่า 9 หมื่นรายวันอังคารที่ผ่านมา ส่วนสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ประกาศการควบคุมและสังสรรค์ทางสังคม
ในสวีเดน บาร์ คาเฟ่ และร้านอาหารจะให้บริการสำหรับลูกค้าที่นั่งโต๊ะเท่านั้น นับจากวันพุธ และมีมาตรการทำงานที่บ้านถ้าจำเป็น สำหรับพนักงานองค์กรต่างๆ รัฐมนตรีสาธารณสุข เลนา ฮาลเลนเกรน ชี้ให้เห็นภาระหนักสำหรับงานสาธารณสุข
เนเธอร์แลนด์ประกาศล็อกดาวน์เข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดของโอมิครอนให้ได้ แต่ผู้นำยุโรปอื่นๆ จะเริ่มมาตรการควบคุมหลังจากเทศกาลคริสต์มาส
ในยุโรปมีตัวเลขคนติดเชื้อสะสม 89 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 1.5 ล้านคน
ไม่มีใครกำหนดได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตาเมื่อไหร่ หรือว่าจะมี 2 สายพันธุ์ควบกันไป นอกจากนั้น ยังมีคำถามอีกว่าจะมีเชื้อตัวใหม่กลายพันธุ์อีกกี่ราย มีความรุนแรงระดับไหน เพราะโอมิครอนคงไม่ใช่ตัวสุดท้าย
ผลกระทบต่อธุรกิจจะเป็นวงกว้าง ตัวเลขคนขาดรายได้ การดำรงชีวิตลำบาก รัฐบาลต่างๆ ต้องรับภาระด้านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีน ยารักษา และค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาลในการดูแลประชาชน เป็นสภาวะที่ยังไร้ทางออกอย่างยั่งยืน