xs
xsm
sm
md
lg

คนกทม.จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



เริ่มมีการเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันแล้ว ทั้งจากพรรคการเมืองและอิสระ แต่คำถามแรกก็คือเมื่อไหร่รัฐบาลจะยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เสียที เพราะมองไม่เห็นเหตุผลอะไรเลยที่รัฐบาลจะยื้อออกไปเช่นนี้

การรัฐประหารและสภาพของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจบลงไปแล้ว แต่กทม.ยังอยู่กับผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งจากอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหารอยู่ ยังไม่ปล่อยมือให้ประชาชนชาว กทม.ตัดสินอนาคตของตัวเอง

กทม.อยู่ใต้การบริหารของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ส้มหล่นที่มีวาสนาได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.มาแล้วกว่า 5 ปียาวนานกว่า 1 สมัยของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมาก แม้ผลงานของผู้ว่าฯ อัศวินจะพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ที่เคยชินกับการเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองมานานก็อยากจะตัดสินอนาคตของเมืองนี้ด้วยตัวเอง และรอคอยวันนั้นกันอย่างใจจดใจจ่อ

การที่ถูกพรากอำนาจของประชาชนไปยาวนานกว่า 7 ปี ทำให้ซึมซับบรรยากาศได้ว่าคนกรุงเทพฯ มีความต้องการที่จะเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองสูงมาก และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้น่าจะคึกคักกว่าทุกครั้ง เมื่อเห็นถึงกระแสขานรับสำหรับคนที่เปิดตัวมาในตอนนี้

ตอนนี้เราเห็นแล้วอย่างน้อย 3 คนที่ประกาศตัวลงมาคือ นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม.ที่ได้รับการเลือกตั้งคะแนนสูงมากเป็นอันดับ 1 มาแล้ว ตามด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และล่าสุดที่ประกาศตัวสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์คือนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ที่คาดว่าจะเปิดตัวตามมาก็คือ ผู้สมัครของพรรคก้าวไกล และพล.ต.อ.อัศวินที่มีข่าวว่ายังอยากจะกลับมานั่งตำแหน่งนี้อีก แม้จะมีวาสนาได้เก้าอี้มาง่ายๆ และนั่งในตำแหน่งมาแล้วกว่า 5 ปี

แม้โดยส่วนตัวผมคิดว่าคุณรสนาจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ถ้ามองถึงผลงานที่ผ่านมา จุดยืนอุดมการณ์ทางการเมือง การทำงานหนักในหลายด้าน แต่ผมก็คิดว่า การแข่งขันครั้งนี้น่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดสูสีระหว่างชัชชาติและสุชัชวีร์ นี่พูดในโอกาสที่เรายังไม่รู้ว่าตัวผู้สมัครของพรรคก้าวไกลเป็นใคร

ชัชชาตินั้นลงสมัครในนามอิสระ แต่เป็นที่รู้กันว่า ชัชชาติเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ แต่มีข่าวว่าไปขอทักษิณเพื่อลงในนามอิสระ แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า มีคนไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.ในกทม.หลายคน มี ส.ก.และ ส.ข.ของพรรค ดังนั้นควรจะส่งคนลงผู้ว่าฯ ในนามของพรรค ถ้าชัชชาติไม่ลงในนามพรรคก็ควรจะเฟ้นหาบุคคลลงสมัคร แต่ทักษิณไม่เห็นด้วย เพราะจะไปตัดคะแนนของชัชชาติ สุดท้ายฝั่งที่ไม่เห็นด้วยเช่นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ต้องแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่

การลงสมัครในนามอิสระของชัชชาติก็คือ การพรางตัวเพื่อให้เจือจางจากสีเสื้อทางการเมืองนั่นเอง ในการสำรวจโพลก่อนที่สุชัชวีร์จะเปิดตัว ชัชชาติมาแรงมากเมื่อเทียบกับหลายคนที่มีข่าวว่าจะลงสมัคร จนมีเสียงพูดกันว่า ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้น่าจะแบเบอร์

ส่วนสุชัชวีร์ ตอนแรกมีข่าวออกมาว่าได้รับการทาบทามจากหลายพรรค แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ โดยสุชัชวีร์อ้างเหตุผลว่า เห็นกระแสพลังการเปลี่ยนแปลงของพรรคประชาธิปัตย์ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เลือดใหม่ได้เสนอตัวเข้ามาทำงาน และผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถทำงานคนเดียวตามลำพังได้ เพราะฉะนั้นต้องทำงานเป็นทีม

“โชคดีที่พรรคมีคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ส.ก. 50 เขตเตรียมพร้อมแล้ว กรุงเทพฯ มีประมาณ 1 ล้าน 6 แสนตารางเมตร จะเดินให้ได้ 1 ล้าน 6 แสนก้าว กับตัวแทนทุกเขต” นายสุชัชวีร์ กล่าว

การเปิดตัวของสุชัชวีร์ได้รับกระแสพอสมควรแม้จะพลาดไปเรื่องความเข้าใจผิดว่า อาจารย์ของตัวเองที่เอ็มไอทีเป็นหลานของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จนเสียรังวัดไปบ้าง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ กระแสในโพลน่าจะเปลี่ยนไป แม้ว่าชัชชาติจะยังมาแรงเพราะทำคะแนนนำไปก่อนหลายยก แต่สุชัชวีร์ก็น่าจะทำให้สถานะแบเบอร์ของชัชชาติลำบากมากขึ้น

และต้องไม่ลืมว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลายครั้ง ตรงข้ามกับผลลัพธ์ของโพล

ทั้งสองคนมีคุณสมบัติไม่แตกต่างกันนักเป็นวิศวกรที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งคู่ ต่างเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาก่อน แม้สุชัชวีร์อาจจะโดดเด่นกว่าในการเป็นอธิการบดีที่ได้รับการกล่าวขวัญมากในหมู่คนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่ชัชชาติมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า แม้ในสมัยแรกที่เป็น รมช.คมนาคมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะถูกมองว่า เป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม แต่เมื่อได้โอกาสเป็นรัฐมนตรีว่าการก็มีความโดดเด่นขึ้นในฐานะรัฐมนตรีที่สนใจในการพัฒนาระบบราง

แม้ชัชชาติจะลงสมัครในนามอิสระ แต่เชื่อว่า ทักษิณต้องสั่งให้ทีมงานของพรรคเพื่อไทยใน กทม.หนุนช่วยชัชชาติอย่างเต็มที่ แต่ถ้าพรรคก้าวไกลส่งสมัครและเปิดตัวบุคคลที่มีน้ำหนักโดดเด่นพอสมควร ก็เชื่อว่าทั้งชัชชาติและตัวแทนของพรรคก้าวไกลจะตัดคะแนนกันเองในหมู่คนเสื้อแดง

ส่วนสุชัชวีร์นั้นก็คงเป็นอย่างที่พูดคือ หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลไกของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม. แม้เลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในกทม. แต่ก็ไม่อาจประมาทฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในระดับท้องถิ่นผูกพันกับคน กทม.มาอย่างยาวนานได้

และต้องไม่ลืมว่า การพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เพราะคนกรุงเทพฯ ฝั่งหนึ่งเลือกเชิงยุทธศาสตร์เพราะกลัวว่าจะพ่ายแพ้พรรคของอีกฝั่งจึงยอมทิ้งพรรคประชาธิปัตย์แล้วเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คราวนี้มีแนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งใครหลังจากผู้ว่าฯ หมูป่านายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ประกาศที่จะไม่ลงสมัคร ดังนั้นเชื่อว่าในเชิงยุทธศาสตร์คน กทม.ฝั่งเหลืองก็อาจจะเทคะแนนให้สุชัชวีร์

ส่วนพล.ต.อ.อัศวินที่มีข่าวว่าจะลงสมัครอีกครั้ง ผมไม่คิดว่าจะได้คะแนนมากนัก เพราะคน กทม.เห็นว่า พล.ต.อ.อัศวินมีวาสนาในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มาแล้วกว่า 5 ปี ส่วนคนอื่นๆ หลังจากนี้นอกจากคุณรสนาที่บอกแล้วว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเหมือนกัน ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีใครมาสู้กันสนุกเหมือนกับคู่ของชัชชาติกับสุชัชวีร์ที่เปรียบเหมือนตัวแทนของสองฝั่งสีเสื้อความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนาน

และน่าสนใจว่าคนกลางๆ ที่มีพลังอยู่ไม่น้อยจะเทเสียงให้ใคร ฝั่งเพื่อไทยจะมาถึงฟากฝันในเก้าอี้ กทม.ได้มั้ย แม้จะส่งลงในนามอิสระ หรือพรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่าจะยังคงรักษาเก้าอี้ไว้ได้ หรือว่าสุดท้ายแล้วคน กทม.จะเลือกคนกลางๆ ที่เป็นอิสระจากพรรคการเมือง

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วคน กทม.จะเลือกใครมาดูแลเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะประกาศให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้คน กทม.ออกจากอำนาจรัฐประหารเสียที

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น