xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การใช้ภาษาจีนในไทย (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 คำว่า “การใช้ภาษาจีนในไทย” ในที่นี้มีประเด็นที่ต้องอธิบายเพื่อความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า หมายถึง “การใช้” จริงๆ ว่าสังคมไทยมีการใช้ภาษาจีนกันอย่างไร มิได้หมายถึงมีการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างไร


อย่างหลังนี้เป็นเรื่องในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งไม่อยู่ในกรอบการอธิบายในที่นี้

ถ้าเข้าใจตามนี้ก็จะเห็นได้ว่า คำว่า  “การใช้ภาษาจีน”  นี้เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า คนที่ใช้นั้นอาจไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาจีนก็ได้ แต่ใช้เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารระหว่างกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

 ยกตัวอย่างเช่น คนหิวโซคนหนึ่งเดินไปพูดว่า “ขอบะหมี่หมูแดงชาม” ไม่ได้หมายความว่า คนหิวโซคนนั้นจะรู้ว่า “บะหมี่” เขียนยังไงในคำจีน หรือเป็นคำจีนกลางหรือจีนถิ่น รู้แต่เพียงว่าเป็นของกินอย่างหนึ่งของจีน (หรืออาจไม่รู้ก็ได้) ที่จะทำให้ตนรอดตายไปอีกมื้อหนึ่งเท่านั้น 

เพราะฉะนั้น คำว่า  “การใช้ภาษาจีน”  ในที่นี้จึงครอบคลุมไปถึงประเด็นที่ว่า สังคมไทยใช้ภาษาจีนในแง่มุมที่หลากหลาย แล้วแต่สภาพแวดล้อมหรือบริบทหนึ่งๆ

เช่น ใช้เพื่ออ่านงานวรรณกรรมจีนที่แปลเป็นไทย ที่อย่างไรเสียก็ต้องมีคำจีนปรากฏอยู่ในงานไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละครหรือสถานที่ ใช้เรียกชื่อร้านค้าหรือเพื่อนที่มีชื่อเป็นภาษาจีน เป็นต้น

แง่มุมที่แตกต่างหลากหลายกันนี้ทำให้เห็นต่อไปอีกว่า คนที่ใช้ภาษาจีนเหล่านี้นอกจากจะไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาจีนแล้ว บางทีอาจเรียนรู้คำจีนไปได้จำนวนหนึ่งว่าหมายถึงอะไร โดยที่อ่านไม่ได้และเขียนไม่เป็น

ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการใช้ภาษาร่วมกันในการสื่อสาร แต่จะใช้อย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ว่าในแต่ละช่วงเวลาทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นใดด้วย

เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวจีนมีชุมชนเป็นของตนเอง แต่จำนวนคนคงไม่มากเท่าที่เราเห็นในชุมชนจีนปัจจุบัน และคงอยู่อาศัยแต่ในหมู่พวกตน ปฏิสัมพันธ์ที่มีกับคนไทยจึงไม่สู้จะเข้มข้นมากนัก ถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสที่จะใช้ภาษาร่วมกันก็จะมีน้อย

ที่ว่ามีน้อยนี้หมายความว่า มีให้เห็นเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าที่เห็นในปัจจุบัน

 ดังจะเห็นได้ว่า ในสมัยอยุธยาที่มีการค้าสำเภาไทย-จีนนั้น ไทยได้ใช้คำจีนเรียกทับศัพท์ระบุชื่อตำแหน่งพนักงานเรือสำเภาอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น คำว่า จุ่นจู๊ หรือ จุ้นจู๊ หมายถึง นายสำเภา ต้นหน หมายถึง คนดูทางสำเภา หรือ ไต้ก๋ง หมายถึง นายท้ายเรือ เป็นต้น 

ตัวอย่างข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันแล้ว การใช้ภาษาร่วมกันก็จะไม่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้ภาษาร่วมกันจะมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับว่าปฏิสัมพันธ์นั้นเข้มข้นมากน้อยเพียงใด

ถ้าเข้มข้นมาก การใช้ภาษาร่วมกันก็จะมีมาก ถ้าเข้มข้นน้อย การใช้ก็จะมีน้อย

และความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ที่ว่าก็ทำให้เราเห็นว่า ในสมัยอยุธยามีไม่มากเท่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ดังนั้น การใช้ภาษาจีนของคนอยุธยาน่าจะน้อยกว่าคนในสมัยรัตนโกสินทร์อย่างแน่นอน

แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องระลึกอยู่เสมอว่า การที่ปฏิสัมพันธ์ของคนไทยที่มีต่อคนจีนในสมัยรัตนโกสินทร์มีความเข้มข้นกว่าสมัยอยุธยานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการอพยพเข้ามาของคนจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีมากกว่าสมัยอยุธยา

แม้จำนวนคนจีนที่อพยพเข้ามา (มากหรือน้อย) มีผลต่อการใช้ภาษาจีนก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว หากยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญก็คือ นโยบายที่มีต่อคนจีนของประเทศปลายทางซึ่งคือไทยว่าเปิดรับและส่งเสริมคนจีน หรือกีดกันและต่อต้านคนจีน

ถ้าเป็นอย่างหลังโอกาสที่สังคมนั้นจะมีการใช้ภาษาจีนก็จะเจือจาง

 สรุปแล้ว การใช้ภาษาจีนในไทยจะขึ้นอยู่สองปัจจัยหลักๆ คือ จำนวนคนจีนที่อาศัยหรืออพยพเข้ามาในไทยว่ามีมากน้อยแค่ไหน กับนโยบายของรัฐไทยในแต่ละสมัย ประกอบกัน ยากที่จะแยกขาดจากกันได้ เพราะปัจจัยทั้งสองนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ปฏิสัมพันธ์ของคนจีนและคนไทย ว่ามีความเข้มข้นเพียงใด 

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า เรามีหลักฐานน้อยมากว่าในสมัยอยุธยานั้น คนไทยใช้ภาษาจีนมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นสมัยรัตนโกสินทร์แล้วแทบไม่ต้องพูดถึง หลักฐานนั้นมีมากมายและมีอยู่หลายแง่มุมให้ได้อ้างอิงกัน

แต่ก็ด้วยเหตุที่ว่า จึงทำให้การอธิบายการใช้ภาษาจีนในไทยเป็นไปค่อนข้างยาก และในที่นี้พยายามที่จะทำให้ได้ ถึงแม้อาจจะไม่ดีหรือสมบูรณ์มากนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงการใช้ภาษาจีนในไทยในเบื้องแรกสุดคงต้องกล่าวถึงตัวของคนจีนก่อน ว่าในฐานะผู้นำเข้าภาษาจีนมายังไทยนั้นคือคนจีนกลุ่มใด และที่พบกลับเป็นว่าไม่ใช่คนจีนที่มาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งในเมืองจีน หากมาจากหลายที่หลายแห่ง

 นั่นคือ จากเมืองซ่านโถว (ซัวเถา) เหมยเสี้ยน กว่างโจว (กวางเจา) ทั้งสามเมืองนี้ขึ้นต่อมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) และจากเมืองเซี่ยเหมิน (เอ้มึ้ง) ที่ขึ้นต่อมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และไห่หนัน (ไหหลำ) ที่ในสมัยก่อนขึ้นตรงต่อมณฑลกว่างตง แต่ปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็นมณฑลไปแล้ว 

จากเมืองต่างๆ ที่กล่าวมามีประเด็นที่ต้องชี้แจงด้วยว่า คนจีนจากห้าเมืองที่ว่าหมายถึงห้าเมืองนั้นเป็นห้าเมืองหลัก มิใช่คนจีนเฉพาะห้าเมืองนี้โดยไม่มีคนจีนจากรอบๆ เมืองนี้เข้ามาด้วย จริงๆ แล้วยังมีคนจีนที่อยู่ในเมืองที่ใกล้เคียงกับห้าเมืองนี้เข้ามายังไทยด้วย

ที่ต้องระบุเช่นนี้ก็เพราะว่า การมาจากเมืองที่ต่างกันถึงแม้จะพูดภาษาจีนท้องถิ่น (ที่ในที่นี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า ภาษาถิ่น) เหมือนกัน แต่สำเนียงที่พูดอาจมีความแตกต่างกันก็ได้

ความแตกต่างที่ว่าคนไทยเรียกว่า เหน่อ แต่ใครกันแน่ที่  “เหน่อ”  นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่ว่ายากก็เพราะมันขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนกำหนดสำเนียงมาตรฐาน เช่น คนภาคกลางอย่างกรุงเทพฯ บอกว่าสำเนียงไทยภาคกลางของตนเป็นสำเนียงมาตรฐาน ก็แสดงว่าคนที่อยู่รอบๆ กรุงเทพฯ เป็นคนพูดเหน่อ

เมื่อราวยี่สิบปีก่อนผมมีเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนสุพรรณบุรี พี่เธอก็พูดสำเนียงไทยภาคกลางแบบคนสุพรรณฯ แบบที่เราเรียกว่าเหน่อ แต่พี่เธอกลับเล่าว่า ตอนที่ได้ยินคนกรุงเทพฯ พูดนั้น พี่เธอเห็นว่าคนกรุงเทพฯ พูดเหน่อ

 ลงพูดกันแบบนี้ก็เลยมีประเด็นให้ถกเถียงกันจนได้... 




กำลังโหลดความคิดเห็น