xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ลี้ภัยเป็นเบี้ยการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส
อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำของสาธารณรัฐเบลารุส ถูกมองว่าเป็น “ตัวแสบ” สำหรับกลุ่มประเทศในประชาคมยุโรป กำลังก่อวิกฤตตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีโปแลนด์ ลัตเวีย และลิทัวเนีย

ปัญหาคือ ลูกาเชนโก ได้เปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศ และใช้เบลารุสเป็นประตูเข้าสู่ยุโรปตะวันตก สร้างปัญหาผู้ลี้ภัยและภาระทางสังคม

เยอรมนี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเปิดรับผู้ลี้ภัยมากถึงกว่าล้านคน เรียกร้องให้หลายประเทศช่วยเหลือโปแลนด์ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน เผชิญกับคลื่นของผู้ลี้ภัยที่อยากเข้าไปในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

ที่ผ่านมาผู้ลี้ภัยมาจากอิรัก อัฟกานิสถาน ซีเรีย ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง และแอฟริกา เข้ามาแล้วหลายระลอก ล่าสุดมีประมาณกว่า 2 พันคนชุมนุมที่ชายแดนระหว่างเบลารุสกับโปแลนด์ แต่ติดรั้วลวดหนามตลอดแนวชายแดน

โปแลนด์เสริมกำลังทหารและตำรวจป้องกันแนวชายแดนมากกว่า 2 หมื่นนายเพื่อไม่ให้ผู้ลี้ภัยใช้คีมตัดลวดหนามทะลักเข้าไปในโปแลนด์ได้

ทั้งลิทัวเนียและลัตเวียก็เสริมกำลังป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยเข้าประเทศเช่นกัน ผู้นำโปแลนด์กล่าวหาว่าลูกาเชนโกใช้ผู้ลี้ภัยเป็นเบี้ยเพื่อสร้างปัญหาให้กลุ่มประเทศยุโรป เป็นการล้างแค้นหลังจากการที่โดนกลุ่มประชาคมยุโรปและสหรัฐฯ คว่ำบาตร

ลูกาเชนโกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1994 หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ และสภาพโซเวียตได้แตกเป็นหลายประเทศ เบลารุสก็เป็นหนึ่งให้รัฐของสหภาพโซเวียต

แต่ลูกาเชนโกเป็นผู้นำในระบบเผด็จการ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ นักข่าวตะวันตกบางคนได้ขนานนามเบลารุสว่าเป็น “เผด็จการสุดท้ายของยุโรป” เนื่องมาจากรูปแบบรัฐบาลซึ่งลูกาเชนโกได้นิยามเองว่าเป็นอำนาจนิยม

ทุกวันนี้ประชาชนเบลารุสเดินขบวนประท้วง ขับไล่ลูกาเชนโกซึ่งยื้ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด การเลือกตั้งครั้งล่าสุดก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการโกงอย่างเป็นระบบ ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นสตรี และชนะการเลือกตั้ง ต้องหนีตายลี้ภัยไปอยู่ในลิทัวเนีย

ลูกาเชนโกจับกุมคุมขังฝ่ายต่อต้าน มีระบบหน่วยสืบราชการลับและตำรวจลับเหมือนเคจีบีของรัสเซียก่อนเปลี่ยนเป็นทุนนิยม แต่ในเบลารุส ทุกอย่างด้านโครงสร้าง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การกดขี่ ขาดสิทธิเสรีภาพ

การปล่อยให้ผู้ลี้ภัยเข้าประเทศโดยให้วีซ่าพิเศษ เพื่อล้างแค้นการโดนคว่ำบาตร ก่อนหน้านี้ลูกาเชนโกบังคับให้เครื่องบินที่มีผู้ต่อต้านรัฐบาลลงจอดในเบลารุส ลากตัวผู้ต่อต้านออกไปคุมขัง ก่อนปล่อยเครื่องบินให้ไปต่อยังลิทัวเนีย

พฤติกรรมของลูกาเชนโกถูกประณามทั่วโลก ตามมาด้วยการคว่ำบาตร ประชาคมยุโรปห้ามสายการบินไปเบลารุส ยิ่งทำให้ลูกาเชนโกแค้นยิ่งขึ้น

ลูกาเชนโกกร่างเพราะถูกมองว่าลูกพี่ใหญ่คือรัสเซียสนับสนุนให้ป่วนยุโรปตะวันตก ข้อกล่าวหานี้ถูกปฏิเสธโดยผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน แต่ไม่มีใครเชื่อเพราะลูกาเชนโกยังยอมอยู่ภายใต้การอารักขาของรัสเซียหลังจากได้อิสรภาพในปี 2534

สภาวะเช่นนี้ทำให้โปแลนด์รับภาระหนัก เพราะเป็นทั้งเมืองหน้าด่านของประชาคมยุโรปและสมาชิกกลุ่มประเทศนาโต การเผชิญหน้ากับเบลารุสด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยมีความสุ่มเสี่ยงด้านการปะทะกันด้วยกำลังซึ่งลูกาเชนโกต้องการ

มีความพยายามยั่วยุให้กลุ่มผู้ลี้ภัยพยายามเจาะกำแพงรั้วลวดหนามให้เข้าไปให้ได้ ที่ผ่านมาลูกาเชนโกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำรัฐที่เป็นสปอนเซอร์ให้มีผู้ลี้ภัยเดินทางจากประเทศต่างๆ เข้ายุโรปตะวันตก

ผู้เผชิญชะตากรรมและความทุกข์ยากคือผู้ลี้ภัยชาติต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 2 พันรายรออยู่ที่ชายแดน ท่ามกลางอากาศหนาวจัด อุณหภูมิลดต่ำกว่าศูนย์องศา และความหนาวเย็นทำให้มีผู้ลี้ภัยเสียชีวิต ทั้งยังขาดอาหารและที่พัก

อย่างดีที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยก็คือการอาศัยอยู่ในเต็นท์ผ้าใบ แต่ไม่สามารถกันอากาศเย็นได้ สภาพที่เป็นอยู่คือผู้ลี้ภัยจะอยู่ในเบลารุสไม่ได้ จะเข้าโปแลนด์ก็ไม่ได้

ทางการโปแลนด์ก็ห้ามไม่ให้องค์กรความช่วยเหลือต่างๆ เข้าถึงบริเวณชายแดน ผู้สื่อข่าวก็ถูกห้ามเช่นกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อเรียกร้องโดยผู้ลี้ภัย

รัฐบาลของลูกาเชนโกไม่ได้ให้การสนับสนุนผู้ลี้ภัย ปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม องค์กรต่างๆ ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เพราะลูกาเชนโกต้องการใช้ผู้ลี้ภัยเป็นเบี้ยในการต่อรองเพื่อให้ยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตร ซึ่งทำให้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ

รัฐบาลโปแลนด์มองว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่เปรียบเสมือนเป็นสงครามรูปแบบใหม่โดยการใช้มนุษย์เป็นโล่ และโปแลนด์กำลังเผชิญกับการจัดฉากเพื่อให้ยุโรปประสบปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ถ้ากลุ่มนี้ถูกปล่อยให้เข้าไป ต้องมีกลุ่มอื่นๆ มาอีก

ลิทัวเนียก็ประกาศสภาวะฉุกเฉินเพื่อรับกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัย เพราะมีพรมแดนติดกับเบลารุส ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปะทะกันด้วยอาวุธเช่นเดียวกัน ลูกาเชนโกก็ได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้เช่นนี้

ในการให้สัมภาษณ์สื่อของรัฐ ลูกาเชนโก อ้างว่าตัวเองไม่ใช่ “คนเสียสติ” ที่จะทำให้สถานการณ์ลุกลามจนกลายเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธ และนั่นอาจจะลากเอารัสเซียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนเบลารุส

ประชาคมยุโรปจะจัดการวิกฤตครั้งนี้กับเบลารุสอย่างไร ยังไม่มีคำตอบง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น