xs
xsm
sm
md
lg

โลกกับ“จุดสมดุล”ที่แทบหาไม่เจอ!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท



เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตแวะไปดูเรื่องราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส ถ่านหิน หรือราคาพลังงานประเภท “ฟอสซิล” ทั้งหลาย ที่นับวันจะขึ้นเอาๆ แพงเอาๆ เล่นเอาโลกทั้งโลกที่ออกจะกรอบเป็นข้าวเกรียบอยู่แล้วในแง่เศรษฐกิจ ยิ่งกรอบๆ เกรียบๆหนักยิ่งขึ้นไปใหญ่ แม้แต่ประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาก็เถอะ ถึงคิดจะเปิดบ้าน เปิดเมือง เพื่อฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจให้กลับคืนมาดังเดิมให้จงได้ แต่อาจมิวายต้องเจอกับพวก “สิงห์รถบรรทุก” ที่แห่ออกมาปิดบ้าน-ปิดเมือง เรียกร้องให้ลดราคาค่าน้ำมันดีเซล อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธ...

คืออย่างที่คุณ “Tsvetana Paraskova” ท่านเขียนเอาไว้ในรายงานชิ้นล่าสุด ใน “Oilprice.com” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั่นแหละว่า ภาวะราคาพลังงานที่สุดจะแพงแสนแพง มันกำลังเป็นภาวะที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย น้ำมันนั้น...แค่ปีเดียว ราคาเพิ่มขึ้นมาถึง 64 เปอร์เซ็นต์ พุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนแก๊สในยุโรป ปาเข้าไปถึง 1,200 ดอลลาร์ต่อ 1,000 คิวบิกเมตร หรือแทบจะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ต่างไปจากราคาถ่านหิน ที่กระโดดพรวดๆ พราดๆ เพิ่มขึ้นไปถึง 4 เท่าตัว จากระดับราคาเท่าที่เคยเป็นมา...

และเหตุที่ต้องเป็นไปในรูปนี้...ก็คงไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มากมายเกินไปนัก หรือมันเป็นเรื่องระหว่าง “Demand” กับ “Supply”เรื่องระหว่าง “อุปสงค์” กับ “อุปทาน”ตามหลักเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานนั่นแหละทั่น!!! คือขณะที่โลกทั้งโลกต่างเห็นพ้องต้องกัน ที่จะหันไปใช้ “พลังงานสะอาด”หรือ “พลังงานหมุนเวียน” เพื่อจำกัดหรือกำจัดความสกปรก รกรุงรัง ในชั้นบรรยากาศ อันเนื่องมาจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลของบรรดามวลมนุษยชาติ จนโลกทั้งโลกมีแต่ร้อนขึ้นๆ เจอกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงอากาศ ที่ย้อนกลับมาทำลายมนุษยชาติในทุกๆ หนทาง บรรดาสิ่งเหล่านี้นี่เอง...ที่กลายแรงกดดันให้แต่ละชาติ แต่ละประเทศ พยายามลด-ละ-เลิก การใช้น้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน กันอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ และทำให้ “การลงทุน” ในกิจการน้ำมัน ในพลังงานประเภทฟอสซิลทั้งหลาย จำต้องเหี่ยวปลาย หรือต้องลดลงๆ ไปตามลำดับ หรือลดลงไปกว่าเมื่อช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ อันนี้...ถ้าว่ากันตามตัวเลขสถิติของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อย่าง “Wood Mackenzie”ที่ได้คาดคำนวณเอาไว้ก่อนหน้านี้...

แต่ระหว่างที่กำลังพยายามลด-ละ-เลิก การใช้น้ำมัน ถ่านหิน และแก๊สนี่เอง ปริมาณความต้องการ หรือ “Demand” ต่อพลังงานในรูปแบบต่างๆ มันกลับขยายตัว เพิ่มกับเพิ่ม ไม่ได้คิดจะลดลงเอาเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าช่วงการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 จะพอช่วยให้เกิดการลดๆ ลงไปมั่ง แต่หลังจากที่ใครต่อใครเลิกสวมหน้ากาก เลิกคิดเว้นระยะห่าง หันมาเปิดบ้าน-เปิดเมือง เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของตัวเอง ให้กลับมาฟื้นคืนดังเดิมให้จงได้ “Demand”หรือความต้องการพลังงาน มันเลยย่อมพุ่งพรวดๆ พราดๆ กลับมาในรูปเดิม ความต้องการที่จะให้ “ไฟฟ้า” ไม่ปิดๆ-เปิดๆ หรือไม่ดับกันไปเป็นเมืองๆ เป็นมณฑลๆ ไม่ว่าในจีน ในอินตะระเดีย ไปจนความไม่อยากจะหนาวสั่นงั่กๆๆ ในช่วงฤดูหนาว ของชาวยุโรป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องหันมาอาศัย น้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน กันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...

อันนี้นี่แหละ...ที่ทำให้กระบวนการผลิตพลังงานฟอสซิลในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังถูกลด-ละ-เลิก หรือไม่ได้คิดลงทุนเพิ่มเติมดังเท่าที่เคยเป็นมา มันเลยนำไปสู่ “ความขาดแคลน” หรือนำไปสู่การเพิ่มระดับราคาให้พุ่งทะลุเพดาน ทะลุหลังคา อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือถ้าว่ากันตามความคิด ความเห็น ของหัวหน้าคณะบริหารด้านพลังงานแห่งบริษัท “Total Energies” ของฝรั่งเศส อย่าง “นายPatrick Pouyanne”ความขาดแคลนทำนองนี้ มันจะยาวไกลไปถึงปี ค.ศ. 2030 เป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะถ้าหากยังไม่มีการลงทุนเพิ่ม เพื่อเร่งกระบวนการผลิตของพลังงานในรูปนี้ และนั่นอาจทำให้ราคาพลังงานอย่างน้ำมันนับจากนี้ต่อไป หรือจากประมาณเดือนกันยายนปีหน้า (ค.ศ. 2022) หนีไม่พ้นต้องพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไม่พึงต้องสงสัย ตามการคาดการณ์ของ “นายFrancisco Blanch” ผู้บริหารและนักวิจัยของ “Bank of America”ที่ได้สรุปเอาไว้กับสำนักข่าว “Bloomberg” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว...

และภายใต้ภาวะเช่นนี้นี่เอง...ที่ทำให้ประเทศ หรือผู้นำ ที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ มาโดยตลอด ว่าพยายามปฏิเสธต่อการหันไปใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่นประธานาธิบดี “วลาดิมีร์ ปูติน” แห่งรัสเซีย กลับสามารถนอนกระดิกขา แบเบอร์ รับทรัพย์ กันอย่างชนิดไม่หวาด-ไม่ไหว เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศอย่างจีน อินตะระเดีย และยุโรป ต่างหนีไม่พ้นต้องผวาเข้าสู่อ้อมอกหมีขาว เพื่อรับไออุ่นกันไปเป็นแถบๆ จีนนั้น...ต้องขอสั่งเพิ่มปริมาณแก๊สธรรมชาติ จากบริษัท “Gazprom” ของรัสเซีย ขึ้นไปอีกถึง 10,000 ล้านคิวบิกเมตร หรือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของปีที่แล้ว ส่วนอินตะระเดียนั้นเพิ่งเซ็นสัญญาเมื่อช่วงเดือนตุลาคมนี่เอง ในอันที่จะสั่งซื้อถ่านหินจากรัสเซียประมาณ 40 ล้านตันในแต่ละปี ส่วนยุโรปที่กำลังหนาวสั่นไปทั่วทั้งอียู ยังไงๆ...ย่อมหนีไม่พ้นต้องหันไปซบอกหมี หรือต้องหันไปซื้อแก๊สธรรมชาติ จากอภิมหาโครงการ “Nord Stream2” โดยจะต้องยอมสูญเสียอิทธิพลด้านอื่นๆ ตามไปด้วยหรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ต้องไปจับตากันเอาเอง...

แต่โดยสรุปรวมความแล้ว...ความไม่ได้ “สมดุล”กันระหว่าง “Demand”กับ “Supply”นั่นแหละ ที่กลายเป็นตัวทำให้ราคาพลังงาน มันพุ่งระเบิดเถิดเทิง ชนิดทะลุเพดาน ทะลุหลังคา ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลกเอาเลยก็ว่าได้ และการพุ่งขึ้นๆ ของราคาพลังงานนี่เอง ที่มันกลายเป็นตัวทำให้ “ภาวะเงินเฟ้อ” ถูกเร่งสปีด อันเนื่องมาจากราคาสินค้าต่างๆ ไม่ว่าสินค้าอุปโภคหรือบริโภคก็แล้วแต่ หนีไม่พ้นต้องอาศัยการขนส่ง ลำเลียง โดยบรรดา “สิงห์รถบรรทุก”ในประเทศต่างๆ การขึ้นราคาน้ำมันไปถึง 64 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงเวลาปีเดียว จึงทำให้ราคาสินค้าทุกชนิด ย่อมพุ่งระเบิดเถิดเทิงตามไปด้วย อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงไปเป็นอื่น และนั่นก็เลยส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ พุ่งขึ้นในระดับใกล้ๆ จะถึงจุดที่เรียกๆ กันว่า “The wage-price spiral” ยิ่งเข้าไปทุกที คือระดับที่ก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าจ้าง ค่าแรง ให้สมน้ำ-สมเนื้อ กับราคาสินค้าแทบทุกชนิดที่ขึ้นแล้ว ขึ้นเล่า และทำให้การขึ้นค่าจ้าง ค่าแรง ถูกนำไปบวกไว้ในราคาสินค้าแต่ละตัว จนเกิดวัฏจักร-วงจร อันนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่แทบ “ควบคุมไม่ได้”อีกต่อไป...

อันนี้นี่แหละ...ที่อาจนำมาซึ่งความ “ฉิบหาย...กับ...ฉิบหาย” อย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ หรือเป็นไปในระดับโลกทั้งโลกเอาเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะบรรดาประเทศเล็ก ประเทศน้อย หรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่หวังจะฟื้นตัว หวังจะเปิดบ้าน-เปิดเมือง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเอง ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้จงได้ แต่เมื่ออาจต้องเจอเข้ากับ “ภาวะเงินเฟ้อ” ในแบบที่ “ควบคุมไม่ได้” โอกาสที่จะ “ตาย...กับ...ตาย” หรือ “ไม่ตาย...ก็เลี้ยงไม่โต”ย่อมมีความเป็นไปได้สูงยิ่งเข้าไปทุกที...

หรือพูดง่ายๆ...ปัญหาการขาดแคลนพลังงานทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่อง “ล้อเหล้นน์น์น์” หรือเรื่องที่จะแก้กันได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้วเพราะโดยลักษณะอาการมันแทบไม่ต่างอะไรไปจากการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นแหละทั่น คือโอกาสที่จะหา “จุดสมดุล”ระหว่างการ “ป่วยตาย” กับการ “อดตาย” มันค่อนข้างหายาก หาเย็น เต็มที การเพิ่มการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 11.8 ล้านล้านดอลลาร์ ไปจนถึงปี ค.ศ. 2045 เพื่อให้กระบวนการผลิตพลังงานชนิดนี้ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ย่อมอาจนำมาซึ่งการกระตุ้นให้โลกใบนี้มีแต่ร้อนขึ้นๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย การหา “จุดสมดุล” ระหว่างการใช้พลังงานฟอสซิลหรือการหันไปหาพลังงานสะอาด จึงแทบไม่ต่างไปจากการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นเอง คือถ้าหากยังไม่คิดจะลด-ละ-เลิก “กิเลส”ต่างๆ ลงไปมั่ง ยังไงๆ...ก็หา “จุดสมดุล” แทบไม่เจอ!!!




กำลังโหลดความคิดเห็น