xs
xsm
sm
md
lg

สึนามิทางเศรษฐกิจ...กำลังใกล้เข้ามา!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท



วันนี้...สงสัยคงต้องหันไปจับตา เพ่งมองที่เรื่อง “เศรษฐกิจ” กันอีกนั่นแหละทั่น!!! เพราะบรรดา “ผลกระทบ” ต่างๆ จากการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ยาวนาน มาเป็นปีๆ มันกำลังเริ่มปรากฏให้เห็นแบบจริงๆ-จังๆ แบบหนักหนา-สาหัสยิ่งเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะในระดับโลก หรือประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา ที่ไม่ว่าตัวเลข “ผู้ติดเชื้อ” จะยังปาเข้าไปเป็นหมื่นๆ ในแต่ละวัน แต่ยังไงๆ...ย่อมหนีไม่พ้นต้อง “เสี่ยง” ต้อง “วัดดวง” ต้องหาทางเปิดบ้าน เปิดเมือง “เปิดประเทศ” อย่างชนิดมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแว้วว์ว์ว์...

คือถ้าฟังจากข่าวคราวที่เริ่มระเบิดเถิดเทิง เริ่มตูมๆ ตามๆ ขึ้นมามั่งแล้ว...บรรดา “ผลกระทบ” ทางเศรษฐกิจที่กำลังก่อให้เกิด “ปัญหา” ในระดับโลก และกำลังแผ่ขยาย บานปลายลุกลามไปสู่ประเทศเล็ก ประเทศน้อย ในทั่วทุกภูมิภาค โดยหลักๆ น่าจะมีอยู่ประมาณ 5 เรื่อง 5 ประการ หรือ “5 ดอก” ด้วยกัน ถ้าไล่เรียงไปตั้งแต่ “ดอกแรก” ก็คงหนีไม่พ้นภาวะขาดแคลนพลังงาน ไม่ว่าน้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน ฯลฯ รวมทั้งเรื่อง “ระดับราคา” ที่พุ่งปรู๊ดๆ ปร๊าดๆ ชนิดรั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ คือจะด้วยเหตุเพราะความพยายามร่วมมือกันของโลกทั้งโลก ในการหันไปใช้ “พลังงานหมุนเวียน” แทน “พลังงานฟอสซิล” ที่ทำให้เกิดการลดแรงกระตุ้น ลดการลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานเหล่านี้ลงไปมิใช่น้อย หรือจะด้วยเพราะผู้คนหันไปสวมหน้ากาก หันไปเว้นระยะห่าง เลิกท่องเที่ยว เดินทาง เลิกไปโน่น มานี่ จนทำให้ความต้องการที่จะใช้พลังงานดังกล่าว ไม่ว่าในรถ ในเรือ ในเครื่องบินโดยสาร ฯลฯ ต่างๆ มันเลย “หยุดชะงัก” ไปสักพักใหญ่ๆ...

ดังนั้น...เมื่อบรรดามวลมนุษย์ทั้งหลายชักเริ่มไม่กลัว “โควิด” ขึ้นมามั่งแล้ว เริ่มพยายามหวนกลับไปใช้ “ชีวิตปกติ” กันไปเป็นรายๆ เป็นประเทศๆ “อุปสงค์” หรือ “ความต้องการ” ต่อพลังงานชนิดนี้ มันเลยระเบิดเถิดเทิงขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังย่างกรายมาถึง อันนี้นี่แหละ...เลยส่งผลให้ “ราคาน้ำมัน” เด้งดึ๋งขึ้นไปถึง 64 เปอร์เซ็นต์ภายในปีนี้ หรือพุ่งขึ้นไปแตะที่ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงวันจันทร์ (11 ต.ค.) ที่ผ่านมา ส่วน “ราคาแก๊สธรรมชาติ” ที่ช่วยให้ความอบอุ่นในบ้านเรือน บริษัทร้านค้า โรงงาน ฯลฯ ต่างๆ ก็แทบไม่ต้องเสียเวลาพูดถึง ระเบิดเถิดเทิงไปถึงขั้นเกือบ 1,200 ดอลลาร์ต่อ 1,000 คิวบิกเมตรไปแล้ว โดยเฉพาะในบรรดาประเทศหนาวๆ อย่างประเทศยุโรปทั้งหลาย ยิ่งประเทศที่ดันมาขาดแคลน “คนขับรถส่งน้ำมัน” ในจังหวะนี้พอดิบ พอดี อย่างประเทศผู้ดีอังกฤษ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปในระดับ 1.86 ดอลลาร์ หรือ 1.366 ปอนด์ต่อลิตรเท่านั้น แต่ยังเกิดรายการไล่ถีบ ไล่กระทืบ ระหว่างบรรดาพวกผู้ดีด้วยกันเอง เพื่อหาทางแย่งเติมน้ำมัน จนเป็นอะไรที่น่าสลดหดหู่เป็นอันมาก...

ส่วน “ดอกที่สอง” คงหนีไม่พ้นไปจาก “ปัญหา” ว่าด้วยกรณีบรรดาบริษัท “ผลิตชิ้นส่วน” สินค้าต่างๆ หรือที่เรียกๆ กันว่าบริษัท “ห่วงโซ่อุปทาน” หรือ “Supply Chain” อะไรต่อมิอะไรทั้งหลาย ที่ไม่เพียงแต่ขาดแคลนพลังงาน ขาดถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส เอามาทำไฟฟ้า หรือเอามาเป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ แต่เผลอๆ...ยังขาดแคลน “แรงงาน” หรือบุคลากรที่เคยจ้างๆ เอาไว้ แต่ต้องโละออกไปในช่วงโควิด จนตกอยู่ในสภาพ “ไม่สมประกอบ” พอที่จะเดินหน้าสายพาน เดินหน้าการผลิตได้ดังเดิม อย่างบริษัท “Supply Chain” ในเมืองจีน ที่ถือเป็น “โรงงานของโลก” อะไรประมาณนั้น เจอเข้ากับ “ไฟฟ้าดับ” กันเป็นมณฑลๆ ชนิดต้องจุดเทียน จุดตะเกียง ผลิตชิ้นส่วนไปตามอัตภาพ โอกาสที่จะส่งสินค้าไปยังแหล่งประกอบต่างๆ มันเลยทำไม่ได้ถนัดถนี่สักเท่าไหร่ จนส่งผลให้เกิด “ความขาดแคลน” ลุกลามบานปลาย ไปยังโลกทั้งโลก และก่อให้เกิด “ปัญหาดอกที่สาม” ตามมา อย่างชนิดน่าตกตะลึงพรึงเพริด เอามากๆ...

นั่นคือ...ปัญหาราคาสินค้าอาหารและบริการ พุ่งขึ้นแบบปรู๊ดๆ ปร๊าดๆ หรือพุ่งขึ้นไปกว่า 27 เปอร์เซ็นต์เข้าไปแล้วสำหรับราคาอาหารทั่วโลก ถ้าว่ากันตามตัวเลข ข้อมูลดัชนีราคา ที่ “InfoLine” เขาออกมาแจกแจง เมื่อช่วงวันอาทิตย์ (10 ต.ค.) ที่ผ่านมา หรือถือเป็นระดับราคาสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ นม ขนมปัง น้ำมันพืช ซอสปรุงรสที่เป็นส่วนประกอบของอาหารแต่ละอย่าง ไปจนถึงอาหารสัตว์ และปุ๋ย ฯลฯ ฯลฯ ต่างเด้งดึ๋งไปตามๆ กัน จะด้วยเหตุเพราะผลผลิตที่ลดน้อยถอยลงมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด การขาดแคลนแรงงานผลิต หรือเพราะราคาขนส่งที่ต้องอาศัยน้ำมันและแก๊ส ฯลฯ ก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่บรรดาสิ่งเหล่านี้...ถ้าว่ากันตามคำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์อย่าง “Kathy Bostjancic” แห่ง “Oxford Economics” มันก็แทบไม่ต่างอะไรไปจาก “การขึ้นภาษี” ที่บรรดาผู้บริโภคทั้งหลายทั่วทั้งโลก หนีไม่พ้นต้องแบกรับกันชนิดหลังโก่ง หลังอาน ไปตามๆ กันนั่นแล...

การพุ่งขึ้นของราคาสินค้าอาหารและบริการเหล่านี้นี่แหละ...ที่ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องเอามากๆ กับ “ปัญหาดอกที่สี่” นั่นก็คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่พุ่งทะลุเพดาน พุ่งทะลุหลังคา ไม่ว่าสำหรับเศรษฐกิจอเมริกา เศรษฐกิจยุโรป จนทำให้ความพยายามที่จะ “ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ” ให้กลับมาเป็นเช่นเดิม ไม่ว่าจะด้วยการอัดๆ ฉีดๆ ใดๆ ก็แล้วแต่ ต้องออกอาการหัวทิ่ม หัวตำ หัวคะมำ กันไปแทบจะทั่วทั้งโลก ยุโรปนั้น...เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปในระดับเดียวกับช่วงเกิด “วิกฤตการเงินโลก” เมื่อปี ค.ศ. 2008-9 แถมยังเป็นภาวะที่น่าจะดำรง คงอยู่ ไปอีกตราบนานเท่านาน ไม่ใช่แค่ “ภาวะชั่วคราว” อย่างที่พยายามปลอบประโลมใจกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้า หรืออย่างที่นักวิเคราะห์ของ “The Wall Street Journal” เขาได้สรุปไว้เมื่อวันอังคาร (12 ต.ค.) ที่ผ่านมานั่นแหละว่า... “การสูงขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าอาหาร...ทำให้ภาวะเงินเฟ้อสูงตามไปด้วย และจะกลายเป็นตัวสร้างแรงกดดันต่อบรรดาผู้บริโภค รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง” หรือ “เราจะได้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่...ช้าลงในระยะยาว หรืออาจถึงขั้นหยุดชะงัก ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวได้อีก...”

นี่...เจอเข้าไปแล้วถึง 4 ดอกซ้อนๆ แต่อาจยังมี “ดอกที่ห้า” ตามมาอีก!!! อันนี้...ถ้าหากว่ากันตามความคิด ความเห็นของศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย “South-Eastern Norway” อย่าง “Glenn Diesen” ที่พยายามมองลึกเข้าไปถึงไส้ในของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก อย่างคุณพ่ออเมริกา จนเกิดความคิด ความเชื่อ ขึ้นมาว่า ด้วยเหตุเพราะ 1. ปัญหาเงินเฟ้อ และ 2. ปัญหาราคาพลังงานที่ควบคุมแทบไม่ได้ จะทำให้ปัญหาที่ 3 ของอเมริกา นั่นก็คือ “ปัญหาหนี้สิน” กลายสภาพเป็น “ระเบิดเวลา” หรือเป็น “ฟองสบู่ที่กำลังใกล้แตก” โดยที่บรรดา “เครื่องมือ” ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวเหลืออยู่น้อยเอามากๆ!!!

จริง-ไม่จริง...ก็คงต้องคอยจ้อง คอยเพ่ง อย่างชนิดมิอาจกะพริบตา เพราะการเพิ่มพรวดๆ พราดๆ ของ “หนี้สินอเมริกา” เท่าที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า...ออกจะน่าขนลุก ขนพอง เอาจริงๆ คือจากประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2001 เพียงแค่ 6 ปี 7 ปีพอๆ กับช่วงระยะ “อยู่ยาวว์ว์ว์” ของ “บิ๊กตู่” บ้านเราเท่านั้น กลับเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว คือขึ้นไปถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2008 และต่อมาอีกแค่สิบกว่าปีเท่านั้นเอง หลังยุค “โอมาบ้า” ยุค “ทรัมป์บ้า” จนมาถึงยุค “ผู้เฒ่าโจ ซึมเซา” มันดันปาเข้าไปถึง 28.5 หรือเกือบ 29 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่สภาพการณ์ต่างๆ กลับไม่ได้ “กระเตื้อง” ขึ้นมาเอาเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่า...การสูญเสียส่วนแบ่งตลาด หรือสูญเสียอิทธิพลทางการค้าในระดับโลก ความถดถอย เสื่อมโทรมในด้านเทคโนโลยีและการประดิษฐ์คิดค้น อย่างที่ศาสตราจารย์ “อัลเฟรด แมคคอย” (Alfred McCoy) เคยชี้ให้เห็นว่าเป็น “เงื่อนไข” สำคัญอันจะนำไปสู่ “ความล่มสลาย” ของอเมริกา...

สิ่งที่ “Glenn Diesen” เลยต้องออกมา “เตือน” ไว้ก่อนล่วงหน้า...ก็คือ ภายใต้ภาวะที่ “ผลผลิตมีแต่ลดลงๆ” แม้ว่า “ปริมาณเงินภายในระบบจะเพิ่มขึ้นๆ” เพราะการพิมพ์เพิ่ม การอัดฉีดเยียวยาใดๆ ก็แล้วแต่ อาจนำไปสู่ภาวะ “ฟองสบู่แตก” ภายในระบบเศรษฐกิจอเมริกา หรือการระเบิดของ “ฟองสบู่เงินดอลลาร์” ชนิดประเทศใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เตรียมตัว เตรียมใจ เอาไว้ก่อนล่วงหน้าให้รัดกุมจริงๆ อย่างเช่นประเทศ รัสเซีย ที่หันไปซื้อทองกักตุนไว้จนมีทองคำสำรองเป็นอันดับต้นๆ ไปแล้วทุกวันนี้ หรือจีน ที่หันไปเทขายพันธบัตรอเมริกัน ไปเป็นช่วงๆ เป็นระยะๆ โดยไม่คิดจะซื้อเพิ่มโดยเด็ดขาด อาจหนีไม่พ้นต้อง “เจ๊ง...กับ...เจ๊ง” ไปด้วยกันทั่วทั้งโลกเอาเลยก็ไม่แน่!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น