xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยในสองฝั่งความคิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยนั้นอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน และการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกำหนดทิศทางสำคัญว่าประเทศจะเดินไปทางไหน

เราเห็นการเคลื่อนไหวของพวกไม่เอาระบอบกษัตริย์ประกาศตัวอย่างโจ่งแจ้งขึ้น แม้บางคนจะเรียกร้องปฏิรูปโดยอ้างว่าจะเป็นทางเดียวที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยได้ แต่เรามองเห็นว่าความมุ่งหมายที่แท้จริงของพวกเขาที่ซ่อนเร้นอยู่มีเป้าหมายที่ไปไกลกว่านั้น

เราเห็นว่าทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ถูกหล่อหลอมความคิดให้ไม่เชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์อีกแล้ว จากกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็นพรรคการเมืองและจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย

และหลายคนกำลังหวั่นไหวกับระบบการเลือกตั้งที่จะเปลี่ยนไปแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ก่อให้เกิดระบอบทักษิณขึ้นมาหลอกหลอนสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ

เลือกตั้งแบบบัตรสองใบนั้นสู้พรรคของทักษิณไม่ได้แน่ แต่เลือกตั้งแบบใบเดียวก็แพ้พรรคของทักษิณเหมือนกัน พูดจริงๆ แล้วมันก็สู้กันไม่ได้ในเชิงภูมิศาสตร์จำนวนประชากรในภูมิภาค ที่พรรคของทักษิณยังคงมัดใจคนอีสานและคนเหนือเอาไว้ได้

พรรคเพื่อไทยจึงเลือกบัตรสองใบ เพราะเชื่อมั่นว่านอกจากชนะ ส.ส.เขตแล้วจะทำให้สามารถได้รับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่ออีกมาก และครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะจัด ส.ส.ลงเต็มทุกพื้นที่ทุกเขตไม่แตกพรรคแบบการเลือกตั้ง 2562 และหวังว่าหากพรรคสามารถได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนแล้ว แม้ ส.ส.จะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่อีก 1 สมัย ส.ว.ก็จะไม่กล้าที่จะฝืนกระแสของประชาชน

แต่พรรคพลังประชารัฐเลือกบัตรสองใบอาจจะเพราะเชื่อมั่นว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะสามารถครองเสียงข้างมากได้ แต่ความคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นก่อนความบาดหมางระหว่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเชื่อมั่นที่การเลือกตั้ง 2562 นั้นพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนป็อบปูลาร์โหวตมากกว่าพรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นน่าเชื่อว่าตัวเองยังมีฐานมวลชนที่เหนียวแน่น แม้การเลือกตั้ง 2562 จะเหลือคะแนนเพียง 3.9 ล้านจากที่เคยได้ 11-12 ล้านเสียง ก็เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้นเป็นบัตรใบเดียว และประชาชนฝั่งที่ไม่เอาระบอบทักษิณจำเป็นต้องเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐเพราะกลัวว่าพรรคของทักษิณจะได้เป็นรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์คงเชื่อว่าแม้ครั้งที่แล้วจะสูญเสียที่นั่งในภาคใต้มากให้พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย แต่คนใต้ส่วนใหญ่ก็ยังผูกพันกับพรรค แต่การมีบัตรใบเดียวนั้นทำให้คนใต้ไม่มีทางเลือกเพราะอยากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จึงเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ และหากเป็นบัตรสองใบก็หวังว่าคนใต้จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์แม้จะเลือก ส.ส.เขตพรรคอื่น

เช่นเดียวกับ กทม.ที่พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์มีคะแนนลงไปเป็นอันดับสามอันดับสี่ในการเลือกตั้งทุกเขต ก็เพราะคนกรุงเทพฯ เลือกในเชิงยุทธศาสตร์คือต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เลยต้องทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นพรรคของคนเมืองหลวงไป นอกจากนั้นคนวัยทำงานคนรุ่นใหม่ซึ่งเคยเป็นฐานของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไปเลือกพรรคอนาคตใหม่กันหมด

แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องดูระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ พรรคพลังประชารัฐยังมีตัวชูโรงเป็นพล.อ.ประยุทธ์อีกมั้ย ถ้าไม่มีความเข้มแข็งของพรรคพลังประชารัฐจะลดลงอย่างมาก

ต้องยอมรับนะครับว่า วันนี้คะแนนสวิงโหวตแทบจะไม่มีแล้ว ประชาชนสองฝ่ายแบ่งข้างกันชัดเจนไม่ข้ามไปเลือกอีกฝั่ง แม้ฝ่ายหนึ่งจะเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย คือ ฝั่งของเพื่อไทย และก้าวไกล แต่ผมไม่อยากเรียกอย่างนั้น จะเรียกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายเสรีนิยมก็ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด จากฐานมวลชนของทั้งสองฝั่งอยากจะเรียกว่าฝ่ายเอาระบอบทักษิณกับไม่เอาระบอบทักษิณมากกว่า หรือในอนาคตอาจจะพัฒนาไปเป็นฝั่งไม่เอาระบอบสาธารณรัฐกับฝั่งเอาระบอบสาธารณรัฐที่บางคนกำลังวาดฝัน

และเมื่อดูคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งครั้งผ่านมาต้องยอมรับนะครับว่า พลังประชาชนของสองฝั่งความคิดนั้นมีปริมาณที่ไม่ต่างกันนัก

แต่การที่คนส่วนใหญ่ไม่สวิงโหวตข้ามขั้วไปเลือกอีกฝ่าย ทำให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นการสู้กันระหว่างพรรคการเมืองฟากเดียวกันคือ พรรคพลังประชารัฐจะสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ และทั้งสองพรรคจะสู้กับพรรคภูมิใจไทยในบางเขต แม้จริงแล้วภูมิใจไทยจะเป็นพรรคจังหวัดนิยมเช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา แต่พรรคภูมิใจไทยสามารถขยายฐานเสียงได้มากในการเลือกตั้ง 2562 จนสามารถช่วงชิง ส.ส.ใต้ได้หลายที่นั่ง

จะเห็นว่าฝั่งไม่เอาระบอบทักษิณนั้นมีตัวแปรมาก นอกจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยแล้ว ยังมีพรรคเกิดใหม่ของนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม คือ พรรคไทยภักดี กับพรรคกล้าของกรณ์ จาติกวณิช แต่คิดว่าสองพรรคนี้คงไม่ได้ ส.ส.มากนัก คงอยู่ในสภาพเดียวกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของกำนันสุเทพในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ทำให้พรรคฝั่งนี้มีคะแนนตัดกันเองและต้องจัดสรรปันส่วนในฐานคะแนนเดียวกัน

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยจะต่อสู้ชิงมวลชนในฟากเดียวกับพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคไทยสร้างไทยของสุดารัตน์และพรรคของจาตุรนต์ไม่น่าจะได้มากนัก น่าจะอยู่ในสภาพเดียวกับพรรคกล้าและไทยภักดีของอีกฝั่ง และพรรคเล็กๆ ของฝั่งนี้คงไปรวมกับพรรคใหญ่กันหมดเพราะไม่มี ส.ส.ปัดเศษด้วยวิธีคิดคะแนนแบบประหลาดของ กกต.อีกแล้ว

ส่วน ส.ส.ใน 3 จังหวัดใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสในการเลือกตั้งครั้งหน้าน่าจะเป็นการสู้กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคประชาธิปัตย์จะได้คนที่เคยออกไปร่วมกับพรรคของกำนันสุเทพกลับมา ในขณะที่มีข่าวว่าพรรคประชาชาติของวันมูหะมัดนอร์ มะทา จะยุบไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ

แม้ ส.ว.จะยังมีอิทธิฤทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ประสิทธิผลก็ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเดิม การเคลื่อนไหวของประชาชนอีกฝั่งที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจที่ซัดกระหน่ำสั่นคลอนประเทศอยู่นั้น ทำให้ ส.ว.หลายคนเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้นไม่ง่ายนักที่จะกดปุ่มเหมือนกับการบังคับหุ่นยนต์แบบเดิม

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการวัดอนาคตของประเทศที่สำคัญว่าจะเดินไปทางไหน รวมถึงทางออกที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า สุดท้ายแล้วพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยอาจจะจับมือกันเป็นรัฐบาลก็ได้ ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในพรรคแล้ว เพราะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่ก็คือคนกันเองของระบอบทักษิณทั้งสิ้น

พูดกันว่าบางทีนี่อาจเป็นทางออกที่ทำให้ประชาชนที่แบ่งฝ่ายกันหันกลับมาปรองดองกันได้ไปชั่วขณะ และเป็นการโดดเดี่ยวพรรคอย่างก้าวไกลที่มีบทบาทท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา นอกเหนือจากจะได้รับผลกระทบจากบัตรเลือกตั้งแบบสองใบที่เชื่อว่าจะทำให้ได้ ส.ส.น้อยลงอย่างมาก

แต่ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ประชาชนนั่นแหละจะเป็นคนกำหนดชะตากรรมของประเทศนี้ แน่นอนย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น