xs
xsm
sm
md
lg

อย่ากลัวบัตรเลือกตั้งสองใบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเรากำลังกลับไปใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หลายคนกลัวว่า ระบอบทักษิณจะกลับมาอีก เพราะเชื่อกันว่า พรรคของทักษิณจะชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมาก แต่เราลืมไปว่า การเลือกตั้งแบบสัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น จริงๆ แล้วพรรคของทักษิณก็ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น ถ้าหากไม่มีเสียงของ ส.ว. 250 คนค้ำบัลลังก์ของ คสช.อยู่ พรรคของทักษิณก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงไม่ควรกลัวการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบเพราะว่าพรรคของทักษิณจะชนะ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า พรรคของทักษิณชนะมาตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

วิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของรัฐธรรมนูญ 2560 เดิมคิดตามคะแนนที่แต่ละพรรคได้แล้วแบ่งจำนวน ส.ส.ตามเปอร์เซ็นต์นั้น ก็ไม่ใช่วิธีที่เลวหรอกดูเหมือนมันจะถูกออกแบบให้เป็นธรรม เพื่อไม่ให้คะแนนตกน้ำพรรคที่ได้คะแนน 40% ก็ได้ ส.ส.ไป 40% ของจำนวนที่นั่ง พรรคที่ได้ 20% ก็ได้ 20% ของจำนวนที่นั่ง แต่วิธีคิดแบบ กกต.ต่างหากที่มีปัญหา

กกต.จะบอกว่าวิธีคิดแบบนี้ถูกต้องแล้วก็ตาม แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันขัดกับข้อเท็จจริง ทำให้หลายพรรคไม่ได้คะแนนตามสัดส่วน แต่ละพรรคมีคะแนนพึงมีต่อ 1ที่นั่งไม่เท่ากัน เราควรจะมีคะแนนพึงมีต่อ 1 ที่นั่งประมาณ 70,000 คะแนน แต่ กกต.ทำให้พรรคเล็กเข้าสภาฯ พรรคละ 1ที่นั่ง จำนวนหลายคนทั้งที่มีคะแนนประมาณ 30,000-40,000 คะแนนเท่านั้นเอง กลายเป็น ส.ส.ปัดเศษที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนพึงมีตามค่าเฉลี่ยมากเข้าไปนั่งในสภาฯ

จริงๆ แล้วมีคนหลายคนทั้งนักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ สื่อมวลชนหลายค่าย เอามาตรา 128 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาคิดคำนวณให้ดูว่าคิดอย่างไรจึงจะได้ผลตรงตามสัดส่วนของแต่ละพรรค และได้ผลลัพธ์ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) ที่บอกว่า ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้

ถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญ 2560 เดิมและกฎหมายลูก คำที่แตกต่างกันระหว่าง “ส.ส.พึงมี” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ ที่เขียนว่า “ส.ส.พึงมีเบื้องต้น” นั้น ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ชวนสงสัยเลยครับว่า ที่มาตรา 128 ต้องเขียนว่า “ส.ส.พึงมีเบื้องต้น” ใน(3) เพราะว่า ต้องเข้ากระบวนการคำนวณตามเศษส่วนในวงเล็บถัดมา เพื่อใช้สมการหาค่าให้ครบ 150 คนเท่านั้นเอง จึงต้องใส่คำว่า “เบื้องต้น” กำกับไว้

แถมสูตรคณิตศาสตร์ของ กกต.นั้นทำให้หลายพรรคคือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตรงตามค่าพึงมีของตัวเอง เหมือนกับว่า เอาคะแนนของพรรคเหล่านั้นไปให้พรรคเล็กที่ต่ำกว่าค่าพึงมี และเมื่อเอา ส.ส.ที่ได้ของพรรคเหล่านั้นกลับไปหารกลายเป็นว่า พรรคเหล่านั้นมีค่าเฉลี่ยต่อ 1 ที่นั้นสูงกว่าค่าพึงมีมากโดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งคิดอย่างไรก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

แต่ กกต.กลับคิดออกมาแบบที่มีผลลัพธ์มีพรรคเล็กที่คะแนนต่ำกว่า “พึงมี” นับสิบพรรคให้เข้าไปเป็น ส.ส. ดังนั้นแม้เจตนาของระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เดิม จะเป็นระบบการเลือกตั้งที่ยุติธรรม ทำให้ไม่มีคะแนนตกน้ำ พรรคที่ได้คะแนนร้อยละเท่าไหร่ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะได้เก้าอี้ในสภาฯ เท่านั้น แต่ผลลัพธ์และวิธีคิดของ กกต.เป็นอีกอย่างทำให้หลายคนคิดว่ามันเป็นระบบที่มีปัญหา

เมื่อวิธีคิดของ กกต.เป็นแบบนี้ ผมจึงเห็นด้วยที่การแก้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก คิดกันง่ายๆ ด้วยคะแนนพรรคในบัตรอีกใบว่าใครจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ สมมติผู้มีสิทธิ์ 50 ล้านคน มีคนมาใช้สิทธิ์ 70% เอาเก้าอี้ 100 ที่นั่งหารก็จะได้คะแนนประมาณ 350,000 คะแนนต่อ 1 ที่นั่ง อันนี้ง่ายดีไม่ต้องถอดสมการคณิตศาสตร์แบบรัฐธรรมนูญ 2560 เดิม

มีคนบอกว่า การเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคใหญ่ได้ประโยชน์ คำถามว่าพรรคใหญ่ในนิยามแบบไหน ถ้าพรรคใหญ่หมายถึงพรรคที่มีคนเลือกสมาชิกของพรรคเข้ามาเป็น ส.ส.จำนวนมาก มันก็สมควรเป็นสิทธิ์ของพรรคใหญ่ไม่ใช่หรือ เพราะเมื่อประชาชนเลือกแล้วเราก็ต้องยอมรับพรรคนั้น เพราะการเลือกตั้งเป็นอำนาจของประชาชนไม่ใช่หรือ

เราอาจจะบอกว่าพรรคใหญ่ในนิยามที่หมายถึงพรรคที่มีเงินทุนจำนวนมาก ย่อมจะได้เปรียบคู่แข่ง เพราะพรรคที่มีทุนน้อยก็ย่อมเสียเปรียบ ผมคิดว่านั่นเป็นปัจจัยภายนอก กฎหมายเปิดทางให้แต่ละกลุ่มคนทั้งพรรคการเมืองมาด้วยกติกาที่เท่าเทียมกัน ความสามารถในการหาทุนนั้นไม่น่าจะใช่ปัจจัยที่มากำหนดกติกาแข่งขันว่าควรจะต้องออกแบบระบบที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคที่มีทุนน้อยด้วย เพราะนั่นยิ่งจะหาความเป็นธรรมไม่เจอ แต่ต้องออกแบบโดยความเชื่อว่าแต่ละพรรคการเมืองนั้นมีสถานะที่เท่าเทียมกัน

ผมเองก็เคยกลัวรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกผีทักษิณหลอน เพราะมันสร้าง Strong Prime Minister ขึ้นมา จนเกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ ทักษิณหยิบฉวยประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีอย่างมากล้นมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจถูกทำลายไปหมดสิ้น แต่ผมมาคิดใหม่ว่า ปัญหามันเกิดที่ความเหิมเกริมต่ออำนาจของทักษิณมากกว่าความผิดของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ความผิดของประชาชนที่เลือกพรรคของทักษิณเข้ามาสภาฯ จำนวนมาก

ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ถ้าวันหนึ่งพรรคการเมืองไหนจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทลายอีก เราคงไม่สามารถคาดการณ์ไปก่อนว่า ถ้าได้รับการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเข้ามาเช่นอดีตแล้วคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจแบบทักษิณอีก มันอาจจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งย่อมจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลไม่ใช่ระบบไม่ใช่หรือ

แน่นอนว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ต่างคิดว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งแบบนี้เพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นพรรคที่มีฐานคะแนนเสียงกว้างขวาง แต่เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าพรรคอื่นสามารถคัดผู้สมัครที่ดีและสามารถเอาชนะใจประชาชนได้พรรคนั้นก็มีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน

ต้องยอมรับนะครับว่า ตอนนี้ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนแทบจะไม่มีสวิงโหวต คนที่มีความคิดทางการเมืองฝั่งหนึ่งจะไม่ข้ามฝั่งไปเลือกพรรคการเมืองอีกฝั่งหนึ่งอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นจนเรามองสิ่งเดียวกันด้วยสายตาที่ต่างกัน ฝั่งหนึ่งมองนักการเมืองคนหนึ่งว่าเป็นคนเลว แต่อีกฝั่งมองว่าเป็นคนดีเป็นอย่างนี้ทั้งสองฟากความคิดจนเหมือนเป็นเส้นขนานในสังคมไทย แต่ส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองนั้นมีความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน

ถ้าเราทำกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรมและประชาชนเขาเลือกพรรคไหนเป็นพรรคเสียงข้างมากก็ต้องยอมให้เขาเป็นรัฐบาลไป แม้ว่าเราจะไม่ชอบพรรคการเมืองพรรคนั้นก็ตาม

และหากเป็นเช่นนั้นความขัดแย้งในชาติบ้านเมืองของเราอาจจะคลี่คลายลงเสียที ดังนั้นอย่าไปกลัวบัตรสองใบเลย เพราะประชาชนนั่นแหละที่จะตัดสินอนาคตของตัวเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น