xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.ส่อแท้ง “โทนี่” สัมภเวสีตลอดกาล !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุด คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ได้ยอมถอย โดยเสนอถอนการแก้ไขเพิ่มเติมออก 4 มาตรา ที่มีเสียงทักท้วงโดยเฉพาะจากกรรมาธิการฝ่ายเสียงข้างน้อย คือ มาตรา 85 มาตรา 92 มาตรา 94 มาตรา 105 และบทเฉพาะกาล เรื่อง การให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศการจัดเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งระหว่างการทำกฎหมายลูกไม่แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

ทำให้มีมาตราที่เสนอรัฐสภาหารือ 3 มาตรา คือ มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามร่างที่รัฐสภารับหลักการกับ มาตรา 86 เรื่องการกำหนดการเฉลี่ยประชากรตามเขตเลือกตั้ง 400 เขต ให้สอดคล้องร่างที่เสนอ และบทเฉพาะกาล ให้ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก

“เชื่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาใช้เวลาลดลง การถกเถียงก็จะน้อยลง เพราะแก้ไขตามความจำเป็น ซึ่งการแก้ไขไปแตะอำนาจ กกต. ซึ่งอาจทำให้ต้องทำประชามติด้วย และมั่นใจว่า กฎหมายลูกจะสามารถจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยเชื่อว่า จะไม่มีเหตุทางการเมืองทำให้ต้องยุบสภา หรือเหตุสุญญากาศทางการเมือง” นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการอย่างเร่งด่วน เมื่อตอนเช้าวันที่ 24 สิงหาคม ก่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วในที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระ 1 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และ มาตรา 91 ที่มีเนื้อหาสำคัญ ก็คือ เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขตเป็น 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน อย่างไรก็ดี การแก้ไขในครั้งนี้ เริ่มมีปัญหาข้อท้วงติงในเรื่องของการแก้ไขที่ถูกระบุว่า “แก้ไขเกินหลักการ” ที่มติที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระแรก เช่น การเพิ่มบทเฉพาะกาล ที่ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งออกข้อกำหนดสำหรับใช้ในการเลือกตั้งไปพลางก่อน หากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องยังไม่แล้วเสร็จ

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว เป็นร่างแก้ไขที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพียงร่างเดียว ส่วนร่างแก้ไขฉบับอื่นที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย รวมทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านฉบับอื่นถูกตีตกหมด

อย่างไรก็ดี ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว กลับได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ นอกเหนือจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเจ้าของร่างแก้ไข ขณะที่พรรคการเมืองอื่น เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล รวมไปถึงพรรคขนาดเล็กอื่นๆ กลับไม่เห็นด้วย

ที่สำคัญ จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ กลับทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนระหว่างพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน คือ ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล เนื่องจากเชื่อว่า หากการแก้ไขสำเร็จ และเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบ “สองใบ” ดังกล่า วทำให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคใหญ่ได้เปรียบ ขณะที่พรรคขนาดกลาง และเล็ก อย่างพรรคก้าวไกล มีความเสี่ยงสูญพันธุ์หรือกลายเป็น “พรรคต่ำสิบ” เป็นไปได้สูง

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งลึกๆ ยังส่งผลไปยังพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย เช่น ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน และล่าสุด พรรคภูมิใจไทย ก็แถลงยืนยันล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ว่า พวกเขาจะ “ไม่มีเสียง และงดออกเสียง” ความหมายก็คือ ไม่สนับสนุนนั่นเอง โดยอ้างว่า การแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นหลักเท่านั้น

นอกเหนือจากนี้ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ก็คือ ท่าทีของบรรดาวุฒิสมาชิกที่ส่วนใหญ่ออกมาในลักษณะ “วางเฉย” และมีแนวโน้มที่จะ “โหวตคว่ำ” เมื่อพิจารณาจากข้อกังวลที่อาจทำให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา” เหมือนกับบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมไปถึงได้เห็น “เงา” ของ นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริตที่หลบหนีในต่างประเทศปรากฏชัดเจนขึ้น ในเรื่องของการ “นิรโทษกรรม” หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และกลับมากุมอำนาจรัฐอีกรอบ

เมื่อได้เห็นท่าทีและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นล่าสุด มันก็ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ก่อนหน้านี้ หลายคนมีความเชื่อว่า น่าจะผ่านไปได้ หากพิจารณาจากเสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาที่โหวตให้ในวาระแรก แต่มาวันนี้เมื่อได้เห็นมติชัดเจนจากพรรคภูมิใจไทย ที่เชื่อว่า ตนเองไม่ได้ประโยชน์ และเสียเปรียบ หากแก้ไขระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ และไม่ต้องพูดถึงการคัดค้านสุดตัวของพรรคก้าวไกล เพื่อดิ้นหนีสภาพสูญพันธุ์ให้ได้ รวมไปถึงท่าที “เฉยเมย” ของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าว

เนื่องจากการโหวตในวาระที่ 3 จะต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา ที่ถูกกำหนดล็อกเอาไว้ว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าจำนวน 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่าจำนวน 84 คน ทำให้มีโอกาสที่จะไม่ผ่าน หรือ “ถูกคว่ำ” ก็เป็นได้ แม้ว่าในวาระที่ 2 อาจจะไม่มีปัญหา เพราะใช้แค่เสียงข้างมากเท่านั้น

ดังนั้น หากมองในมุมนี้ และอาศัยการเลือกตั้งที่ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่เป็นตัวผลักดันให้พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น มันก็มีโอกาสสูงที่พรรคดังกล่าวจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ และหากมองไกลข้ามช็อตไปถึงโอกาสในเรื่องความ “พลิกแพลงออกกฎหมายนิรโทษกรรม” สุดซอยซ้ำรอยขึ้นมาอีก แต่เมื่อ “เกมส่อพลิก” อีกรอบแบบนี้ ทุกอย่างมันก็เสี่ยงกินแห้ว โดยเฉพาะ “พี่โทนี่” ก็น่าจะกลายเป็น “สัมภเวสี” ตลอดกาลก็เป็นไปได้ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น