xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลผวาสูญพันธุ์ ป่วนยื้อ รธน.เผด็จการ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส.ส.พรรคก้าวไกล คัดค้านการแก้ไขรธน. ที่กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
เมืองไทย 360 องศา


“ตามไทม์ไลน์แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 น่าจะเสร็จก่อนวันที่ 18 ก.ย. จากนั้นสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะมีประเด็นไปส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นเรื่องที่เสนอในการประชุมสภา เพื่อตีความในข้อบังคับเท่านั้น เว้นแต่ฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ระบบเลือกตั้ง และเสียผลประโยชน์ ก็จะพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง ถามว่าคิดว่าคนอื่นไม่รู้หรือว่า ตัวเองจะพยายามขัดขวางอย่างไร ยืนยันว่า เรื่องนี้ขัดขวางไม่ได้ เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นใครขอให้ไปดูกันในสภา”

“ผมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่บางคนที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ถามว่าเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ เราไม่ใช่เสียงข้างมากลากไป เพราะพูดกันด้วยเหตุผล และทำตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ทั้งนี้ หากพิจารณาผ่านวาระ 3 แล้วก็จะมีการยื่นแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน จากนั้นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อรับฟังความคิดเห็น และคาดว่า จะบรรจุเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภาได้ในสมัยประชุมต่อไป คือประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม”

นั่นเป็นคำพูดแบบตั้งข้อสังเกตของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ทำนองว่า มีบางพรรคการเมืองที่มีเจตนาขัดขวางการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เนื่องจากตัวเองเสียประโยชน์

แน่นอนว่า หากพิจารณาจากความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่า มีพรรคการเมืองพรรคไหน และพรรคแบบไหนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือที่มีการกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับ คสช.” ซึ่งหากตอบกันแบบไม่อ้อมค้อมก็ต้องบอกว่า “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งปัจจุบันกลายสภาพมาเป็น “พรรคก้าวไกล” นั่นแหละได้รับประโยชน์จากระบบการนับคะแนนจากระบบที่เรียกว่า “การจัดสรรปันส่วนผสม” ในแบบที่ว่า “ทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำ” รวมไปถึงพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ดังที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

จากระบบการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคอนาคตใหม่ได้จำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดอีกด้วย ประกอบกับเกิดความ “ผิดคิว” ของพรรคเพื่อไทยเอง ที่ “เล่นใหญ่” เกินตัว จากการใช้ยุทธวิธี “แตกแบงก์ย่อย” มาเป็นพรรคไทยรักษาชาติ และนำไปสู่การยุบพรรคดังกล่าว ทำให้คะแนนเสียงเทไปที่พรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการแก้ไขแบบรายมาตรา ที่พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขระบบการเลือกตั้ง โดยใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ มีจำนวน ส.ส.แบบเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก100 คน รวมเป็น 500 คน ซึ่งพรรคการเมืองหลายพรรคให้การสนับสนุน เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ โดยเวลานี้มาถึงขั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าประชุมกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา

สำหรับความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาหากย้อนกลับไปจะเห็นภาพการ “เล่นใหญ่” ของพรรคก้าวไกล ในเครือข่ายของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พยายามเสนอแก้ไขให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และต้องตกไปจากกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ทำไม่ได้ หากจะแก้ไขต้องมีการลงประชามติ ถามประชาชนก่อน รวมไปถึงความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขแบบรายมาตรา โดยให้แก้ไขระบบการเลือกตั้งแบบการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ในรูปแบบของประเทศเยอรมนี ซึ่งหลักการก็คล้ายกับรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็น “ผลผลิตของเผด็จการ คสช.” นั่นแหละ

จะว่าไปแล้วหากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งมันก็น่าเห็นใจพรรคก้าวไกลเหมือนกัน เพราะไม่ต่างจากลักษณะ “น้ำท่วมปาก” เนื่องจากตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ และระบบการเลือกตั้งที่ตัวเองประณามว่าเป็นเผด็จการ โดยเฉพาะประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งที่ทำให้ตัวเองมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่ขณะเดียวกัน การจะให้คงรูปแบบในปัจจุบันไว้ต่อไป ตัวเองก็พูดไม่ได้เพราะดันไปขัดกับแนวทางของตัวเองว่าเป็น “นักประชาธิปไตย” เสียอีก

อีกทั้งสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ต่างจาก “ถูกลอยแพ” โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ที่หันไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่น เสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าได้ประโยชน์ และทำให้มีโอกาสชนะการเลือกตั้งเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ คือ ใช้บัตรสองใบดังกล่าว ก็มีการเชื่อกันว่าจะทำให้พรรคก้าวไกล “สูญพันธุ์” หรืออย่างน้อยก็คงไม่ได้ ส.ส.มากเท่ากับในปัจจุบัน เพราะหากพิจารณาตามความเป็นจริง คะแนนเสียงไม่น้อยที่พรรคได้มา ก็มาจากฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา ทางพรรคไทยรักษาชาติ และเมื่อถูกยุบพรรคทำให้เทมาทางนี้ แต่หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เหตุการณ์แบบที่ว่าคงไม่เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เริ่มได้เห็นความเคลื่อนไหวในลักษณะที่เหมือนกับ “ป่วน” การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบชัดเจนขึ้น ซึ่งลึกๆ แล้วหากพิจารณากันแบบเข้าใจก็คงไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง อยากใช้แบบเดิม บังเอิญว่าไปผูกติดกับรัฐธรรมนูญเผด็จการ จึงน้ำท่วมปากนั่นแหละ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น