“คำนูณ” ชี้ร่างแก้ รธน.แก้แค่ ม.83-91 ส่อปัญหาบังคับใช้ ทำ กมธ.เสียงแตกสรุปแก้เป็น 5 มาตรา เฉพาะกาล 2 กกต.จัดเลือกตั้งหากไม่เสร็จ รับหนุนแก้แค่ ม.86 ค้านเสียงข้างมากที่ พปชร. ปชต. พท. จับมือกันอีกฝั่ง ภท. ก้าวไกล คาดยืดเยื้อยื่นศาล รธน.
วันนี้ (22 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อเรื่อง 13 ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีเนื้อหาระบุว่าในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 24-25 สิงหาคม 2564 นี้มีระเบียบวาระสำคัญเป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมชั้นวาระ 2 พิจารณารายมาตรา
มีข้อสังเกต 13 ประการมาเล่าสู่กันฟังโดยสังเขปครับ
1. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ที่รัฐสภามีมติรับหลักการในวาระ 1 มาเพียงร่างเดียว ไม่ได้เขียนเรื่องหรือประเด็นไว้ใน ‘หลักการ’ เหมือนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ส่วนใหญ่ โดยเขียนแต่เพียงว่า “แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91” แต่เมื่ออ่าน ‘เหตุผล’ และเนื้อหาในทั้ง 2 มาตราที่ขอแก้ไขรวมทั้งการนำเสนอในรัฐสภาชั้นวาระ 1 ประกอบแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องหรือประเด็นการขอแก้ไขระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA : Mixed member apportionment)-บัตรใบเดียว 350 : 150 ไปเป็นระบบคู่ขนาน (MMM : Mixed member majoritarian)-บัตร 2 ใบ 400 : 100 ที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540
2. ร่างตาม 1 เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพียง 2 มาตราเท่านั้น คือ มาตรา 83 และ 91
3. ทำให้เกิดประเด็นขึ้นตั้งแต่ต้นว่าหากคณะกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมได้เพียง 2 มาตราที่เสนอมาเท่านั้น ไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญมาตราอื่นเลย จะเกิดปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ เพราะมีรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่สมควรแก้ไขให้สอดคล้องกัน อย่างน้อยที่สุดก็มาตรา 86 ที่ยังคงบัญญัติให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรระบบเขต 350 คนอยู่ สมควรแก้ไขให้เป็น 400 คน เพื่อมิให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเกิดปัญหาขัดแย้งกัน คำถามคือคณะกรรมาธิการมีหน้าที่และอำนาจกระทำได้หรือไม่ โดยอาศัยข้อบังคับใด
4. คณะกรรมาธิการมีความเห็นต่างกันเป็นอย่างน้อย 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแก้ไขขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการที่เสนอมาและรัฐสภามีมติรับหลักการวาระ 1 ไม่ได้ เมื่อหลักการเขียนเพียงว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ 91 ก็ต้องพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมได้เพียง 2 มาตราแค่นั้น อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 124 วรรคสามอนุญาตให้ทำได้หากรัฐธรรมนูญมาตราอื่นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นประเด็นที่ ‘เกี่ยวเนื่องกับหลักการ’ ความเห็นฝ่ายหลังเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการ
5. เฉพาะในความเห็นของฝ่ายที่เป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมาธิการตาม 4 ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอีกในประเด็น ‘มาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการ’ ตามข้อบังคับข้อ 124 วรรคสาม คือจะแก้ไขเพิ่มเติมขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการได้แค่ไหน เพียงใด มีกรอบใดเป็นหลักในการพิจารณา การลงมติในแต่ละมาตราที่แก้ไขขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการรวม 7 จุดจึงแตกต่างกัน
6. สรุปแล้ว คณะกรรมาธิการใช้ข้อบังคับข้อ 124 วรรคสาม แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นอกเหนือจากมาตรา 83 และ 91 รวมแล้วอีก 5 มาตรา คือ มาตรา 85, 86, 92, 94, 105 และเพิ่มบทเฉพาะกาลอีก 2 มาตรา
7. บทเฉพาะกาลที่สำคัญอยู่ที่มาตรา 4/5 ที่กำหนดให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับใหม่ ในกรณีที่ยังไม่เสร็จ หากมีความจำเป็นต้องเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปนั้นไปพลางก่อน
8. นั่นหมายความว่า หากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ผ่านวาระ 2 และ 3 และประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด โดยมีบทเฉพาะกาลตาม 7 หากมีความจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็สามารถทำได้แม้การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยังไม่แล้วเสร็จ เพราะให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปนั้นได้
9. ความเห็นส่วนตัวของผมในฐานะกรรมาธิการ เห็นว่าข้อบังคับข้อ 124 วรรคสามเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่หลัก จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและอย่างแคบ “แม้คณะกรรมาธิการจะสามารถแก้ไขขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการได้ แต่จะต้องดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะในประเด็นที่จะขัดหรือแย้งกัน หรือไม่สอดคล้องกัน ซึ่งหากไม่ดำเนินการแก้ไขไปพร้อมกัน จะส่งผลกระทบกับการใช้บังคับรัฐธรรมนูญขึ้นได้ในภายหลัง” ผมจึงลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขขัดแย้งหรือเกินกว่าหลักการเฉพาะในมาตรา 86 แก้ไขตัวเลขจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขต 350 คนเป็น 400 คนเท่านั้น มาตราอื่นยกเว้นบทเฉพาะกาลที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมากมีทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง มาตราใดที่ผมแพ้มติ ก็ได้สงวนความเห็นไว้เกือบทุกมาตราตามสิทธิเพื่อมาอภิปรายชี้แจงเหตุผลในรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาลงมติตัดสินในวาระ 2 ชั้นพิจารณารายมาตรา
10. กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้ขอแก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ให้เป็นระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (MMP : Mixed member proportional)-บัตร 2 ใบ 350 : 150 ที่สารัตถะเคยปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อปี 2558 แต่กรรมาธิการเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย พรรคก้าวไกลจึงสงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติไว้ต่อสู้ในรัฐสภาวาระ 2
11. นอกจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลยังได้ยื่นญัตติด่วนในรัฐสภาพิจารณาตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 124 วรรคสาม และข้อ 114 วรรคสอง เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการไม่อาจแก้ไขขัดแย้งกับหลักการหรือเกินหลักการได้ จนถึงนาทีนี้เชื่อว่าจะมีผู้เสนอเลื่อนระเบียบวาระญัตติด่วนนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนระเบียบวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 2 และเชื่อว่าจะใช้เวลาพิจารณากันนานพอสมควร
12. ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการสังเกตุได้ว่าในส่วนของกรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฏร ไม่ได้แบ่งฟากความคิดเห็นเป็นฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน หากเป็นไปในลักษณะที่ 3 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ในอีกฟากหนึ่งมี 2 พรรคคือพรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นค่อนไปในทิศทางเดียวกัน และมีแนวโน้มในช่วงหลังว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเริ่มเห็นด้วยกับฟากฝั่งหลังนี้ในบางประเด็น
13. ไม่ว่าผลการพิจารณาญัตติด่วนตาม 11 และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมวาระ 2 จะมีผลอย่างไร และสมมติว่าถ้าผ่านวาระ 2 ภายในสัปดาห์หน้าและมีการลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ที่วางตารางเวลาไว้ภายในสมัยประชุมนี้คือก่อนวันที่ 18 กันยายน คาดหมายกันว่าการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแก้ไขระบบเลือกตั้งก็อาจจะยืดเยื้อออกไป เพราะคาดว่าอาจจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256(7) ประกอบมาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 148 (1) ให้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่กล่าวมาตาม 4
ประเด็นหลักๆ โดยสังเขปมีเพียงนี้
ขออภัยที่อาจถ่ายทอดได้ไม่ดีเท่าใจนึก เพราะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคและประเพณีปฏิบัติในการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ
ผมจะขอใช้สิทธิอภิปรายในรัฐสภาตามสมควรทั้งในวาระญัตติด่วนตีความข้อบังคับ และวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่สงวนความเห็นไว้