เปิดร่างแก้ไข รธน.ฉบับ กมธ. แก้-ยุบ 7 มาตราเกี่ยวข้อง ส.ส.เขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน กาบัตรสองใบ แบ่งเขตตามจำนวนประชากร ขีดเส้นประกาศผลหนึ่งเดือน เพิ่มบทเฉพาะกาล ให้รัฐสภา แก้กม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.ใน 120 วัน ไม่ทันให้ กกต.ออกหลักเกณฑ์
วันนี้ (15 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จสิ้น และส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา พิจารณาในวาระสองและวาระสามต่อไป
พบว่า กมธ.ได้แก้ไข 2 มาตรา ตามที่ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง คือ มาตรา 83 ให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละหนึ่งใบ และ มาตรา 91 ว่าด้วยการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ กมธ. ยังได้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 85 กมธ.แก้ไขกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนที่ไม่เลือกใคร (โหวตโน) เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา 86 ว่าด้วยการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้ (1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. 400 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน
(2) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ตาม (1) ให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคนโดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง (3) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(4) เมื่อได้จำนวนสมาชิก ส.ส.ของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้วถ้าจำนวน ส.ส.ยังไม่ครบ 400 คน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุดให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม ส.ส.ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบ 400 คน (5) จังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เกิน 1 คนให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
มาตรา 92 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนโหวตโน ให้จัดเลือกตั้งใหม่ โดยให้กกต.ดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น
มาตรา 94 หากมีการเลือกตั้งซ่อมหลัง 1 ปีนับจากเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีผลกระทบกับการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และยกเลิก วรรคสาม มาตรา 105 การคำนวณสัดส่วนคะแนนของพรรคการเมืองสำหรับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เมื่อมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้เป็นไปตามมาตรา 94
ขณะเดียวกัน ทางคณะ กมธ. ยังเพิ่มบทเฉพาะกาลด้วยว่า ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา 132 เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 120วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้แล้วเสร็จ และต้องมีการเลือกตั้งส.ส. ให้ กกต. มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้งนั้นไปพลางก่อน