ปธ.กมธ.แก้ รธน. ตอก “สมชัย” แค่อดีตผู้สมัคร ส.ส.ไม่รู้งานนิติบัญญัติจริง ย้ำ ข้อบังคับเปิดทางให้พร้อมเดินหน้าต่อ แปรญัตติเพิ่มมาตรา-เติมเนื้อหาให้เกี่ยวเนื่องใช้ข้อความที่ตีตกได้ เชื่อไม่มีประเด็นนำไปสู่การฟ้องศาล รธน.
วันนี้ (5 ส.ค.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่....) พ.ศ.... แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ยืนยันเดินหน้าพิจารณาแก้ไขเนื้อหาตามที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติ โดยไม่กังวลต่อความเห็นของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งระบุว่า การทำหน้าที่ของ กมธ.นั้น ขัดต่อหลักนิติบัญญัติ หากแก้ไขเนื้อหา โดยนำบทบัญญัติที่รัฐสภาตีตกในชั้นรับหลักการกลับมาพิจารณา โดยระบุว่า การทำหน้าที่ของ กมธ.ยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 ว่าด้วยการประชุมร่วมรัฐสภาที่ต้องยึดข้อบังคับการประชุม ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 วรรคท้าย ซึ่งกำหนดให้ กมธ. พิจารณาคำแปรญัตติ ที่สามารถเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น ซึ่งหลักการของเนื้อหา คือ การปรับจำนวน ส.ส.ให้มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ดังนั้นการทำงานของ กมธ. ต้องพิจารณาบนเงื่อนไขดังกล่าว และเขียนรัฐธรรมนูญให้ไม่มีปัญหา
“คุณสมชัยแสดงความเห็นด้วยความไม่รู้จริง ไม่เคยทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นเพียงอดีตผู้สมัคร ส.ส. เท่านั้น จึงไม่เข้าใจในกระบวนการที่ กมธ. ดำเนินการ อีกทั้งกรณีที่แปลความว่า ห้ามนำข้อความที่รัฐสภาตีตกไปแล้ว กลับมาพิจารณาอีก ข้อเท็จจริงไม่มีข้อบังคับใดกำหนดห้ามไว้ ดังนั้น การเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกที่ขอแก้ไขซึ่งอาจนำเนื้อความที่คล้ายหรือใกล้เคียงกันมา ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ตามข้อบังคับข้อที่ 124 ขณะเดียวกัน ที่อ้างว่า ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 41 ห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วกลับมาพิจารณาอีกในสมัยประชุม เทียบเคียงนั้นเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกัน เพราะการเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา นั้น เป็นไปตามข้อบังคับที่ 124” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยยืนยันด้วยว่า กมธ.จะเดินหน้าทำงานตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนด ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งถัดไป จะเข้าสู่การพิจารณาลงรายมาตรา
เมื่อถามว่า นายสมชัย ชี้ช่องให้พรรคการเมืองฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า กมธ. ทำผิดหลักนิติบัญญัติ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดช่องทางที่ให้สมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เฉพาะกรณีที่เข้าข่ายมาตรา 256(8) เท่านั้น แต่เรื่องระบบเลือกตั้งไม่เกี่ยว อย่างไรก็ดี ตนมองว่า สิ่งที่ กมธ. ดำเนินนั้น ยึดตามหลักการนิติบัญญัติ เพราะทำงานภายใต้ข้อบังคับรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าไม่มีประเด็นใดที่นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต.