xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เชื่อสภาคุมโควิดได้ไม่กระทบถกงบ 65 แนะยื่นศาล รธน.หากติดใจแก้ รธน.เกินหลักการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เชื่อ “สภา” จัดระบบคุมโควิดได้ ไม่กระทบถกงบ 65 คาดจบภายใน 105 วัน พร้อมชี้ หากติดใจตีความ แก้ รธน. เกินหลักการหรือไม่ ก็ให้จบที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีหากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประชุมสภา ทำให้ไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณให้แล้วเสร็จใน 105 วัน หรือภายในวันที่ 29 สิงหาคม จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณอย่างไร ว่า ก็คงเป็นไปตามปฏิทิน โดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ก็ยืนยันแล้วว่า จะจัดประชุมได้ในวันที่ 18-20 สิงหาคม เพื่อพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งจะครบกำหนดช่วงปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ควบคุมดูแลได้ ปัญหามี 2 ข้อ คือ 1. การเดินทางของ ส.ส. ต่างจังหวัด เพราะตอนนี้เครื่องบินหยุดการเดินทาง แต่หากจังหวัดไหนมีเที่ยวบินก็สามารถเดินทางมาได้ หรือหากจังหวัดไหนไม่มีเที่ยวบิน ก็ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ และ 2. การอยู่ในที่ประชุมสภา ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก เพราะเราเคยระมัดระวังความปลอดภัยมาแล้ว เช่น การสวมหน้ากากอนามัยระหว่างอยู่ในห้องประชุม หากใครไม่ได้อภิปรายก็ออกไปอยู่ข้างนอก ไม่อยู่แออัดในห้องประชุม นับองค์ประชุม หรือใครจะอภิปรายเมื่อไหร่ ก็ค่อยเข้ามา

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า แต่ในกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ 2565 อาจจะหนักหน่อย เพราะต้องอยู่ในห้องประชุม เวียนเข้าเวียนออกไม่ได้ นอกจากสลับเวรกัน ก็คงบริหารได้ ตนไม่คิดว่าเป็นความยุ่งยากอะไร เพราะรู้ล่วงหน้านานขนาดนี้ คงมีการเตรียมการกันมา ส่วนรัฐบาลไม่ต้องไปอยู่แล้ว เพราะในการพิจารณา วาระ 2 และวาระ 3 เป็นเรื่องของ กมธ.งบฯ กับสภา

นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่า ไม่สามารถนำบทบัญญัตติที่รัฐสภาตีตกในชั้นรับหลักการ (วาระ 1) กลับมาพิจารณาอีกครั้งในชั้นแปรญัตติ แต่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่….) พ.ศ…. แก้ไขมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งรัฐสภา ระบุว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 อนุญาตให้ทำได้นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา ที่เกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ที่บอกไว้ว่า จะพิจารณาแปรญัตติเกินกว่าหลักการไม่ได้ ยกเว้นมีความจำเป็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งก็อยู่ที่จะตีความกันอย่างไร

เมื่อถามย้ำถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 วรรคท้าย ระบุว่า การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการ แห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น” หากมีการอ้างเหตุผลว่า ญัตติที่แปรเข้ามาใหม่ซึ่งความคล้ายกับญัตติที่ตกไป เช่น ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย (พท.) และร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรค พปชร. มีความเกี่ยวเนื่องกับญัตติที่กำลังพิจารณาอยู่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ทั้งนี้ การตีความข้อบังคับ เป็นอำนาจของสภา หากเขาอ้างว่าเกี่ยวเนื่องกัน ก็สามารถทำได้ หากอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็คัดค้าน และให้โหวตกัน เมื่อผ่านไปแล้ว หากใครสงสัยอะไร ด่านสุดท้ายก็สามารถยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น