xs
xsm
sm
md
lg

‘ออสซี’ เล่นเกมเสี่ยงกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์


สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
ออสเตรเลียได้ตัดสินใจเล่นเกมเสี่ยงเดิมพันสูงด้านความมั่นคงของประเทศเมื่อได้ตัดสินใจลงสัญญา AUKUS ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อยอมรับการพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีนัยสำคัญในแง่ที่ว่าจะเป็นพันธมิตรกับประเทศที่อยู่ไกลบ้านและเสี่ยงกับการเผชิญหน้า และการเป็นปฏิปักษ์กับประเทศจีน

ก่อนหน้านั้น ออสเตรเลียมีข้อตกลงกับฝรั่งเศสในการจะซื้อโครงการพัฒนาเรือดำน้ำมูลค่ารวมการลงทุนถึง 65 พันล้านดอลลาร์ หลังจากการเจรจาตกลงกันหลายปี โครงการจะมีความต้องการแรงงาน 500 คนในฝรั่งเศสและ 600 คนในออสเตรเลีย

การลงนามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ถือเป็นการยกเลิกข้อตกลงระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรเลีย เป็นการตัดสินใจของผู้นำออสเตรเลียโดยไม่ได้แจ้งให้ฝรั่งเศสทราบล่วงหน้า ทำให้ฝรั่งเศสโกรธอย่างแรง ถึงขั้นเรียกทูตกลับจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย

ผู้นำฝรั่งเศสจะเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน แต่คงจะสายเกินไป เพราะฝรั่งเศสได้ประณามทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษว่าได้ “หักหลัง” คงมองหน้ากันไม่ติดอีกนาน

การตัดสินใจครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดยืนสำคัญในการเลือกข้างของออสเตรเลียท่ามกลางสภาวะการเป็นปฏิปักษ์กันในกลุ่มประเทศที่เกี่ยวโยงกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความเสี่ยงด้านการเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจที่มองว่าตัวเองมีผลประโยชน์ในพื้นที่นั้น และมีความจำเป็นต้องปกป้อง

ผลประโยชน์อย่างชัดเจนของออสเตรเลียก็คือภายใต้สัญญา AUKUS ออสเตรเลียจะได้รับการยกระดับในด้านงานป้องกันประเทศอย่างมากโดยเทคโนโลยีจากชาติมหาอำนาจสูงสุดนั่นคือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

แต่ผลประโยชน์นั้นก็มีเงื่อนไขผูกพันตามมาด้วยซึ่งจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และถูกเถียงอย่างกว้างขวางว่าจะคุ้มหรือไม่คุ้มในด้านผลประโยชน์ระยะยาว เพราะข้อตกลงครั้งนี้ออสเตรเลียไม่ได้มีการถกเถียงเป็นวงกว้างในภาคสาธารณะ

การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน เป็นไปได้ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่พอใจประเทศจีนซึ่งดำเนินมาตรการเล่นงานออสเตรเลียด้านการค้าด้วยการไม่ซื้อสินค้าต่างๆ เช่น ไวน์ เนื้อสัตว์ ข้าวสาลี แร่เหล็ก และสินค้าเกษตรอย่างอื่น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของออสเตรเลีย

นอกจากนั้นจีนยังไม่อนุญาตให้นักศึกษากลับเข้าไปเรียนในสถาบันการศึกษาในออสเตรเลียเป็นจำนวนหลายแสนคน ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในออสเตรเลียขาดรายได้ก้อนมหาศาลซึ่งจะทำให้ประสบวิกฤตทางการเงินได้

จีนกำลังมาแรง แข็งแกร่งด้านการทหาร เศรษฐกิจ ถือเป็นชาติมหาอำนาจ สามารถท้าทายสหรัฐฯ ได้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพราะมีกองเรือนาวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังเป็นพลังแข็งแกร่ง แสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ทะเลจีนใต้

ก่อนหน้านี้ออสเตรเลียไม่ทำตัวว่าจะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่จากการระหองระแหงกับปักกิ่ง ทำให้ทัศนคติและมุมมองต่อจีนนั้นมีลักษณะแข็งกร้าวกว่าเดิม หลังจากจีนถูกสงสัยว่าแทรกแซงการเมืองออสเตรเลีย รวมทั้งการโจมตีไซเบอร์อีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเริ่มตึงเครียดในปีที่ผ่านมา เมื่อผู้นำออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนต้นตอของการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในอู่ฮั่น ทำให้จีนโกรธมาก และเริ่มมาตรการเล่นงานออสเตรเลียด้วยการไม่ซื้อสินค้าหลายรายการ

ออสเตรเลียอยู่ในสภาวะแทบต่อรองไม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลจากมิตรประเทศที่อยู่ในข้อตกลง “5 ตา” ซึ่งประกอบด้วยประเทศสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษ มีความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์

ออสเตรเลียมองว่าเมื่อจีนมีท่าทีไม่เป็นมิตร จึงแสวงหาการยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ ดังนั้น ข้อตกลง AUKUS ทำให้ออสเตรเลียเข้าถึงเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการผลิตอาวุธและขีปนาวุธระยะไกล

ถ้าจะเปรียบเทียบกันในปัจจุบัน ออสเตรเลียยังห่างชั้นจากจีนด้านแสนยานุภาพ แต่ภายใต้โครงการร่วมกับสหรัฐฯ และอังกฤษ ทำให้ออสเตรเลียมีศักยภาพด้านการโจมตีด้วยอาวุธระยะไกล ในกรณีที่เกิดบรรยากาศของความเป็นปฏิปักษ์

งานนี้ถือว่ามีแต่ได้กับได้สำหรับสหรัฐฯ นอกจากจะได้เงินก้อนใหญ่จากการขายเทคโนโลยีทันสมัยให้มิตรแล้ว ยังได้มีเพื่อนในยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และเป็นประเทศในกลุ่ม (5 ตา) อีกด้วย แต่ก็จะยิ่งทำให้จีนเร่งกระชับความแข็งแกร่งให้เร็วมากกว่าเดิม

กองเรือของออสเตรเลีย แม้จะมีขนาดเล็ก ทาบจีนไม่ได้ ก็ยังทำให้จีนต้องเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวเช่นกัน เพราะจะเป็นตัวเสริมกองเรือตระเวนของสหรัฐฯ และมองว่าการเสริมแสนยานุภาพถือว่าเป็นการป้องปราม ไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าและสงคราม

การตัดสินใจของออสเตรเลียทำให้ตกเป็นเป้าใหญ่สำหรับจีน ซึ่งรู้แล้วว่าออสเตรเลียต้องการเลือกข้างอย่างไร จากนี้ไป โอกาสที่ออสเตรเลียจะเผชิญมาตรการเอาคืนจากจีนด้านการค้าน่าจะมีมากกว่าเดิม ทั้งยังยากที่จะคืนดีกันด้านการทูต

ซ้ำร้าย สัญญา AUKUS จะผูกมัดออสเตรเลียติดกับสหรัฐฯ และอังกฤษยาวนานหลายชั่วคนจากนี้ไป ซึ่งผลสุดท้ายจะเกิดขึ้นกับประชาชนออสเตรเลียในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น