xs
xsm
sm
md
lg

มาเลเซียผวาออสซี่จับมือ US-UK สร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ กระพือแข่งสะสมนุกในอินโดแปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาเลเซียเมื่อวันเสาร์ (18 ก.ย.) แสดงความกังวลเกี่ยวกับแผนสร้างกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงใหม่กับสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ ระบุมันอาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันสะสมนิวเคลียร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสโวยอีกรอบ คราวนี้ผ่านเอกอัครราชทูตประจำแคนเบอร์ราและรัฐมนตรีต่างประเทศ ย้ำข้อตกลงสร้างเรือดำน้ำคือความผิดพลาดใหญ่หลวง พร้อมตำหนิออสเตรเลียด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "ตีสองหน้า"

ออสเตรเลียจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 8 ลำภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนความมั่นคงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ใช้ชื่อว่า "ออคุส" ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาท่ามกลางอิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค

"มันจะกระตุ้นมหาอำนาจอื่นๆ ให้ความเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้" สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุในถ้อยแถลง

ถ้อยแถลงไม่ได้พาดพิงจีนโดยตรง แต่ก็น่าจะหมายถึงปักกิ่ง ด้วยที่ปักกิ่งใช้นโยบายต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และบางส่วนในนั้นอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับมาเลเซีย

"ในฐานะประเทศหนึ่งในอาเซียน มาเลเซียยึดมั่นในหลักการธำรงอาเซียนไว้ในฐานะเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง (ZOFPAN)" ถ้อยแถลงระบุ พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการยั่วยุและการแข่งขันทางอาวุธใดๆ ในภูมิภาค

หลังจากบรรลุข้อตกลงจัดตั้ง "พันธมิตรไตรภาคีด้านความมั่นคง" กับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ทางออสเตรเลียแถลงในวันพฤหัสบดี (16 ก.ย.) ว่าจะยกเลิกข้อตกลงปี 2006 ที่ทำไว้กับ Naval Group ผู้รับเหมาด้านการป้องกันประเทศรายใหญ่ของฝรั่งเศส ในการสร้างกองเรือดำน้ำใหม่มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) แล้วหันไปสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำ โดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรแทน

ความเคลื่อนไหวนี้ก่อความโกรธกริ้วในฝรั่งเศส พันธมิตรนาโต้ของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร กระตุ้นให้ปารีสเรียกเอกอัครราชทูตประจำวอชิงตันและแคนเบอร์รากลับประเทศ

ในวันเสาร์ (18 ก.ย.) ฌอง-ปิแอร์ เตโบลต์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำแคนเบอร์ราระบุว่า ออสเตรเลียได้ทำผิดพลาดทางการทูตใหญ่หลวง "มันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เป็นการบริหารจัดการพันธมิตรที่น่าเศร้ามาก เพราะมันไม่ใช่สัญญา แต่มันคือพันธมิตรซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจร่วมกันและความจริงใจต่อกัน"

ต่อมา ฌอง-อีฟส์ เลอ ดริอาน รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ให้คำจำกัดความข้อพิพาทในครั้งนี้ว่า "วิกฤต" ในความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย "มันเป็นการตีสองหน้า ดูหมิ่้นและโกหก คุณไม่ควรเล่นกับพันธมิตรแบบนี้"

เนด ไพซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน้นย้ำว่าฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่ง และอเมริกาจะหาทางคลี่คลายความเห็นต่างในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

พวกนักวิเคราะห์มองแม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หวังสยบวิกฤตอย่างรวดเร็ว แต่มันอาจก่อความเสียหายรื้อรังในความเป็นพันธมิตรระหว่างวอชิงตันกับฝรั่งเศสและยุโรป รวมถึงโยนข้อสงสัยสู่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่กำลังหาทางหล่อหลอมความร่วมมือต้านทานอิทธิพลที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีน

ออสเตรเลียระบุว่า รู้สึกเสียใจที่ฝรั่งเศสเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ และยืนยันว่าพวกเขาเล็งเห็นคุณค่าในความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส และจะเดินหน้าติดต่อคบหากับปารีสในประเด็นอื่นๆ

โฆษกกระทรวงกิจการต่างประเทศของออสเตรเลียระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (18 ก.ย.) ว่า "ออสเตรเลียเข้าใจความผิดหวังรุนแรงของฝรั่งเศสต่อการตัดสินใจของเรา ซึ่งเราสื่อสารอย่างชัดเจนว่ามันเป็นการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ"

เตโบลต์ บอกว่าเขารู้สึกเสียใจมากที่ต้องเดินทางออกจากออสเตรเลีย แต่ระบุ "จำเป็นต้องประเมินบางอย่างเสียใหม่" ในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติ

เวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรเลียดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1995 โดยในคราวนั้น ออสเตรเลียประท้วงการตัดสินใจของฝรั่งเศสที่จะกลับมาทดสอบนิวเคลียร์ในเอเชียแปซิฟิกตอนใต้ และได้เรียกเอกอัครราชทูตเข้าพบ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น