(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US-Australia submarine deal rocks NATO alliance
By DANIEL WILLIAMS
18/09/2021
การที่ ไบเดน มุ่งมั่นที่จะเข้าเผชิญหน้ากับจีน ถึงขั้นแอบทำข้อตกลงลับๆ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย แม้ทราบดีว่านั่นคือการหนุนให้แดนจิงโจ้ฉีกข้อตกลงมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ซึ่งทำเอาไว้กับฝรั่งเศส กำลังถูกตีความว่านี่คือการบ่งชี้ให้เห็นถึงการดูหมิ่นดูแคลนพันธมิตรนาโต้ยุโรป
จากการที่สหรัฐฯผลักฝรั่งเศสให้หลุดกระเด็นออกจากข้อตกลงที่ได้ไปทำไว้กับออสเตรเลียในเรื่องการซื้อขายเรือดำน้ำทางทหารมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ กำลังทำให้ความสงสัยข้องใจขึ้นมาอีกครั้งว่า วอชิงตันนั้นมีความมุ่งมั่นปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีกับชาติพันธมิตรองค์การนาโต้มากน้อยแค่ไหน
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นมายังเท่ากับว่า วอชิงตันเพิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงอัตราความรวดเร็ว ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหันเหให้ความสำคัญมาทางเอเชียตะวันออก อย่างน้อยที่สุดก็ในทางการทหาร
เมื่อตอนที่ ไบเดน สืบทอดตำแหน่งต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชอบแสดงความเป็นปรปักษ์อยู่บ่อยครั้งนั้น เหล่าพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯต่างพากันคาดหวังว่า การกลับคืนสู่แวดวงแห่งอำนาจอีกคำรบหนึ่งของเขาจะหมายถึงยุคใหม่แห่งความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แต่แล้วมันกลับตรงกันข้าม องค์การนาโต้กำลังถูกกระหน่ำฟาดแรงๆ ด้วยการที่วอชิงตันแอบตัดสินใจแบบลับๆ ไม่บอกกล่าวครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความดูหมิ่นดูแคลนยุโรปโดยองค์รวม และสำหรับในกรณีนี้ มันคือการหยามเหยียดฝรั่งเศส ที่เป็นพันธมิตระดับท็อปของสหรัฐฯกันอย่างโจ๋งครึ่มทีเดียว
เพียงไม่นานมานี้เอง เพิ่งเกิดกรณีไบเดนถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานแบบโกลาหลอลหม่าน และตามมาด้วยการอพยพหนีตายอย่างชุลมุนวุ่นวายของบรรดาพลเรือน โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างชนิดที่สหรัฐฯมีการติดต่อประสานงานน้อยนิดที่สุดกับบรรดาชาติพันธมิตรนาโต้ เมื่อเดือนเมษายน ตอนที่ ไบเดน ตัดสินใจที่จะถอนตัวนั้น นาโต้ยังคงมีกำลังทหารราว 7,000 คนในอัฟกานิสถาน เปรียบเทียบกับทหารอเมริกันที่ยังเหลืออยู่ 2,500 คน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ตอนที่ไบเดนออกคำสั่งให้อพยพถอนตัวออกจากฐานทัพอากาศบากรัม (Bagram) ซึ่งเคยเป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานนั้น เขาไม่เพียงบกพร่องล้มเหลวไม่ได้แจ้งให้รัฐบาลอัฟกันในคาบูลทราบล่วงหน้าเท่านั้น แต่ยังไม่ได้แจ้งให้นาโต้รู้ตัวเตรียมรับมืออีกด้วย
ไบเดนยังทำให้เหล่าพันธมิตรในยุโรปตะวันออกของเขารู้สึกขุ่นเคืองกันมาก จากการที่เขายินยอมตามคำขอร้องของเยอรมนี ด้วยการไม่ตั้งป้อมคัดค้านรุนแรงต่อโครงการ “นอร์ดสตรีม 2” (Nord Stream 2) สายท่อส่งแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียลอดข้ามทะเลบอลติกไปยังเยอรมนี ซึ่งเป็นการลดความสำคัญของสายท่อส่งเส้นเดิมๆ ที่วางบนบก โดยผ่านเพื่อนบ้านของรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเครน แล้วจึงต่อไปยังชาติยุโรปอื่นๆ ทั้งนี้ยูเครนและหลายชาติยุโรปตะวันออกโวยว่า การมีสายท่อส่งสายใหม่เช่นนี้ อาจทำให้มอสโกมีอิสรเสรีมากขึ้นที่จะใช้แก๊สธรรมชาติเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจมาเล่นงานพวกตน
การตัดสินใจเรื่องเรือดำน้ำครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจุดโฟกัสใหม่ในทางการทหารของอเมริกันนั้นคือทางตะวันออก อาจทำให้เกิดการเสียกระบวนในหมู่พันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯทางตะวันตก นอกจากนั้น ดีลเรือดำน้ำนี้ยังเป็นการบ่งชี้ต่อไปว่า น่าจะมีความเร่งรีบมากกว่าที่คาดหมายกันในการดึงเอาประเทศอย่างญี่ปุ่นและอินเดีย ให้เข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรทางทหารแห่งอินโด-แปซิฟิกที่กำลังเพิ่งแตกหน่องอกออกมานี้ก็เป็นได้
ไบเดนนั้นมีกำหนดนัดหมายอยู่แล้วที่จะพบปะเจรจากับพวกผู้นำจากญี่ปุ่น, อินเดีย, และออสเตรเลีย ในกรุงวอชิงตันวันที่ 23 กันยายนนี้ โดยจะเป็นการหารือกันระดับประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลแบบพบหน้าพบตากันจริงๆ ครั้งแรก ของกลุ่มความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการที่เรียกกันว่า กลุ่มสนทนาความมั่นคง 4 ฝ่าย (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งรู้จักกันมากกว่าเสียอีกในชื่อย่อๆ ว่า กลุ่มคว็อด (Quad) ทั้งนี้กลุ่มนี้มีการประชุมหารือกันมาระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งการประชุมซัมมิตแบบเสมือนจริงเมื่อต้นปีนี้ เพื่อมุ่งร่วมมือประสานงานด้านนโยบายในประเด็นต่างๆ หลายหลาก โดยที่เตะตาเป็นพิเศษคือประเด็นปัญหาแสนยานุภาพทางทหารของจีนในเอเชียตะวันออกที่ขยายตัวใหญ่โตมากขึ้นทุกที
ฝ่ายฝรั่งเศสนั้นโกรธมากในเรื่องออสเตรเลียเปลี่ยนใจชนิดกลับหน้ามือเป็นหลังมือในเรื่องเรือดำน้ำ และการที่สหรัฐฯเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แบบเต็มๆ เมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ถึงขนาดเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำวอชิงตันและประจำแคนเบอร์รากลับประเทศ
ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของอเมริกา ยังบอกยกเลิกการจัดงานเลี้ยงในกรุงวอชิงตัน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 240 ปีของยุทธการทางทะเลระหว่างกองเรือรบฝรั่งเศสกับกองเรือรบสหราชอาณาจักร บริเวณน่านน้ำนอกเมืองยอร์กทาวน์ (Yorktown) รัฐเวอร์จิเนีย ชัยชนะของฝรั่งเศสในครั้งนั้นเองที่เปิดทางให้กองทหารภายใต้การบังคับบัญชาของ จอร์จ วอชิงตัน สามารถสร้างความปราชัยให้แก่กองทหารสหราชอาณาจักร และยุติสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯด้วยชัยชนะของฝ่ายอเมริกัน
ฝรั่งเศสนั้นได้ลงนามกับฝ่ายออสเตรเลียเมื่อปี 2016 ในข้อตกลงมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขายเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 12 ลำให้แก่ออสเตรเลีย แต่แล้วสหรัฐฯกลับดำเนินการในทางลับซึ่งเป็นการทำลายดีลนี้โดยตรง ด้วยการเสนอให้เทคโนโลยีเพื่อสร้างเรือดำน้ำใช้พลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน แถลงแก้เกี้ยวว่า ฝรั่งเศสได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้วเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่นี้ แต่เขาไม่ยอมบอกว่ามีการแจ้งกันเมื่อใด (สื่อต่างๆ ระบุว่าฝ่ายฝรั่งเศสทราบล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนมีการแถลงข่าวนี้ต่อสื่อมวลชน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-europe-58604677 -ผู้แปล)
รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง-อีฟส์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) เรียกเหตุการณ์พลิกผันครั้งนี้ว่า เป็นการจ้วงแทงเพื่อนข้างหลัง “เราได้สถาปนาความสัมพันธ์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันกับออสเตรเลีย และความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้ก็ได้ถูกทรยศหักหลัง” เขากล่าว และบอกด้วยว่าฝรั่งเศสไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการเปลี่ยนแผนกันเช่นนี้
เลอ ดริยอง ยังเปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์อย่างเจ็บแสบอย่างเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อ ไบเดน โดยเปรียบเทียบเขากับทรัมป์ ผู้ที่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกันมากในยุโรป “สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกกังวลใจเช่นกันก็คือความประพฤติของฝ่ายอเมริกัน” เขากล่าว “การตัดสินใจที่ทั้งโหดเหี้ยม, ทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว, และไม่สามารถคาดทำนายได้ล่วงหน้าเช่นนี้ ดูเหมือนกันมากๆ กับสิ่งที่มิสเตอร์ทรัมป์ได้เคยทำอยู่เสมอ พันธมิตรกันนั้นเขาไม่ทำอย่างนี้กับอีกฝ่ายหนึ่งหรอก”
ด้านรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส ฟลอรองซ์ ปาร์ลี (Florence Parly) โวยว่า ฝ่ายอเมริกันตัดสินใจผลักไสพันธมิตรรายหนึ่งออกไปข้างทาง “ในเวลาที่เรากำลังเผชิญความท้าทายอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”
ถึงแม้เกิดสถานการณ์เอะอะตึงตังกันเช่นนี้ แต่เอาเข้าจริงแล้วที่ผ่านมารัฐบาลมาครงก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความกระตือรือร้นอะไรสำหรับการที่ นาโต้ กำลังถูกสหรัฐฯพยายามดึงลากให้เข้าไปเผชิญหน้ากับจีน ระหว่างการประชุมซัมมิตนาโตเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มาครงออกมาแสดงการไม่เอาด้วยระคนกับการดูหมิ่นไอเดียเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน “นาโต้เป็นองค์การที่เกี่ยวข้องกับแอตแลนติกเหนือครับ จีนน่ะแทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับแอตแลนติกเหนือเลยนะครับ” เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวสื่อมวลชนในตอนนั้น
ผู้นำยุโรปที่คิดเช่นนี้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล พูดในเวลานั้นว่า รัสเซียต่างหาก ไม่ใช่จีนหรอก ที่เป็น “ความท้าทายใหญ่” และย้ำว่านาโต้จะต้องไม่ “ปฏิเสธจีนอย่างง่ายๆ”
“เราต้องค้นหาความสมดุลที่ถูกต้องเหมาะสม” เธอพูดสรุป
ที่ผ่านมา นาโต้เก็บสะสมความกังวลห่วงใยสำคัญที่สุดของตนเอาไว้ใช้กับรัสเซียโดยเฉพาะ ในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมซัมมิตเมื่อเดือนมิถุนายน นาโต้ก็ยังคงพูดถึงมอสโกว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของยุโรป-แอตแลนติก” ขณะที่กล่าวถึงจีนเพียงแค่ว่า “สามารถที่จะสร้างความท้าทาย” ต่อนาโต้ได้
ข้อตกลงเรื่องเรือดำน้ำที่ก่อปัญหาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสคราวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารกลุ่มใหม่ ระหว่างออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ชื่อว่า “ออคัส” (AUKUS) ซึ่งเป็นการนำเอาชื่อย่อของประเทศทั้ง 3 มาวางเรียงกันนั่นเอง สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรใหม่เอี่ยมนี้ประกาศว่าจะทำในขณะนี้ ได้แก่การแบ่งปันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยที่เห็นกันได้อย่างชัดเจนว่ามุ่งหมายที่จะรวมกลุ่มกันต่อต้านจีน
ทางฝ่ายจีนได้แสดงความโกรธเกรี้ยว โดยที่ เจ้า ลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงว่า สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, และออสเตรเลีย “ควรละทิ้งความคิดจิตใจแบบยุคสงครามเย็นที่มองการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายชนิดใครชนะก็ได้รวบกองกลางไปหมด (zero sum) และมีแนวความคิดทางภูมิรัฐศาสตร์อันคับแคบ รวมทั้งควรต้องเคารพความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ และทำอะไรให้มากขึ้นที่เป็นการโน้มนำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพตลอดจนการพัฒนาขึ้นในภูมิภาค –ไม่เช่นนั้นแล้ว พวกเขาก็มีแต่จะจบลงด้วยการทำอันตรายให้แก่ผลประโยชน์ของพวกเขาเองเท่านั้น”
เจ้า ยังพยายามที่จะเชื่อมโยงข้อตกลงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นี้ กับอันตรายของการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นหัวข้อที่สร้างความกังวลมากเป็นพิเศษให้แก่ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ “จีนจะเฝ้าติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด” เจ้าบอก ถึงแม้ว่าจีนเองก็มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อยู่หลายลำ อีกทั้งยังกำลังเพิ่มขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์แบบยิงจากที่ตั้งบนบก เข้าไปในคลังแสงของตน
ขณะที่ โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อด้านข่าวในเครือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีแนวทางพร้อมทะเลาะวิวาทมากกว่า ประกาศตูมออกมาว่า “กองทหารออสเตรเลียนั่นแหละซึ่งเป็นไปได้ที่สุดที่จะเป็นกองทหารตะวันตกกลุ่มแรกที่สูญเสียชีวิตของพวกเขาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ในทะเลจีนใต้”
ผลกระทบกลับในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นมาได้ของเหตุการณ์ครั้งเดียวครั้งนี้นั้นมีอยู่มากมายทีเดียว ความสำคัญของนาโต้ที่กำลังลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ, ท่าทีของจีนต่อสหราชอาณาจักรหลังยุคเบร็กซิต ที่มีความหิวกระหายการค้าเป็นพิเศษ, ความขุ่นเคืองที่เพิ่มมากขึ้นของความสัมพันธ์ซึ่งเลวร้ายอยู่ก่อนแล้วระหว่างจีนกับออสเตรเลีย อันมีแรงขับดันจากการที่แคนเบอร์ราวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของปักกิ่งต่อประชากรชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มุสลิมของพวกเขา, และข้อสุดท้าย ความสงสัยข้องใจซึ่งเพิ่มมากขึ้นทุกทีที่ว่าจีนจะพยายามบีบคอไต้หวันให้หายใจไม่ออกในเร็ววันนี้หรือไม่ ไบเดนเมื่อไม่นานมานี้แสดงท่าทีว่าสหรัฐฯจะปกป้องคุ้มครองเกาะแห่งนี้ –แต่แล้วก็กลับถูกพวกผู้ช่วยของเขาเองออกมาพูดจาไปในทางตรงกันข้าม
แน่นอนทีเดียวว่า ต่อจากนี้ไป ยังจะมีการออกลูกล่อหลอกและปล่อยหมัดแย็บสั้นๆ เร็วๆ ในสไตล์ของสงครามเย็น ให้เห็นกันอยู่เป็นระยะๆ มากยิ่งขึ้นกว่านี้อีก
แดเนียล วิลเลียมส์ เป็นอดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เคยทำงานให้วอชิงตันโพสต์, ลอสแองเจลิสไทมส์, และ ไมอามีเฮรัลด์ รวมทั้งเคยเป็นนักวิจัยให้แก่องค์การฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขาคือเรื่อง Forsaken: The Persecution of Christians in Today’s Middle East โดยสำนักพิมพ์ O/R Books ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี